ข่าว

เมื่อรบพิเศษ..ทำสงครามสื่อเต็มตัว!

เมื่อรบพิเศษ..ทำสงครามสื่อเต็มตัว!

03 ส.ค. 2552

ภาพลักษณ์ของทหารในสามจังหวัดชายแดนใต้ มักดูเคร่งเครียด ขึงขัง ทั้งยังสะพายอาวุธสงครามและระเบิดเต็มอัตราศึกคล้ายพร้อมที่จะเข้าห้ำหั่นกับฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ภารกิจหลักอีกอย่างของทหารในพื้นที่ คือ "งานจิตวิทยามวลชน" ที่ต้องใช้ "รอยยิ้ม" และ "ใจ" เข้าไปก่อน "อาวุธ" ซึ่ง ชุดควบคุมทักษิณสัมพันธ์ หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข ค่ายอิงคยุทธบริหาร (ชค.ทสพ.) จ.ปัตตานี ได้ดำเนินภารกิจนี้มานานแล้ว

 แม้เนื้อแท้แล้วพวกเขาจะเป็น "ทหารรบพิเศษ" ที่มาจาก กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน ปจว.) กรมรบพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี แต่หัวใจของพวกเขากลับเป็นนักจิตวิทยามากกว่าหน่วยล่าสังหาร

 พ.ท.วินัย อยู่ภู่ ผู้บังคับการ ชค.ทสพ. ย้ำถึงหัวใจในการทำงานมวลชนว่า การเสริมสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากตัวบุคคล ซึ่งต้องเน้นการสร้างความเข้าใจเป็นหลัก

 ดังนั้น เจ้าหน้าที่ชุด ชค.ทสพ. ที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 144 นาย จึงต้องผ่านการฝึกเรียนรู้เทคนิคด้านจิตวิทยาจนเชี่ยวชาญ โดยมีแผนปฏิบัติหลักๆ ดังนี้

 1.แผนรณรงค์บทความ/ใบปลิว ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจทันทีหลังเกิดเหตุความรุนแรง โดยแบ่งตามเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ เช่น ทำความเข้าใจเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุหรือรัศมีใกล้เคียง

 2.แผนปฏิบัติการข่าวสารประชาสัมพันธ์ ที่เน้นตามห้วงเวลาปฏิทิน เช่น วันสำคัญของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวันเข้าพรรษา มาฆบูชา สงกรานต์ ฮารีรายอ อดิฎอัฎฮา เป็นต้น
 3.โครงการฝึกเยาวชนใต้สันติสุขขั้นที่ 1-3 โดยจะมีชุดครูฝึกประมาณ 16 นาย ตระเวนไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อฝึกเยาวชนทั้งร่างกาย และกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นเยาวชนที่ดี มีคุณภาพ

 4.โครงการกลุ่มสตรีพัฒนาชายแดนใต้ เพื่อสร้างงานเสริมรายได้แก่ครอบครัว

 แม้การทำงานลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องจะทำให้เจ้าหน้าที่ชุด ชค.ทสพ. ได้รับการยอมรับมากขึ้นทุกวัน

 กระนั้น "ความสูญเสีย" ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในความสูญเสียครั้งสำคัญของหน่วย คือ เหตุลอบวางระเบิดบนถนนสายดุซงญอ-เจาะไอร้อง บ้านบองอ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ก่อนจะจ่อยิงซ้ำทำให้ทหารเสียชีวิต 7 นาย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 แต่ความสูญเสียครั้งนั้นกลับไม่ได้ทำให้พวกเขาเสียขวัญ แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้ทำงานให้สำเร็จเพื่ออุทิศแด่เพื่อนผู้ล่วงลับ

 สัญลักษณ์ที่คุ้นตาของชุด ชค.ทสพ. คือ รถกระบะสภาพไม่ใหม่ เต็มไปด้วยแผ่นพับ ใบปลิว ตลอดจนอุปกรณ์ฝึกสอนเยาวชนพร้อมเจ้าหน้าที่ 6 นายประจำรถวิ่งเข้าออกชุมชนไม่เว้นวัน รวมทั้งภารกิจ "เคลียร์ม็อบ" ด้วยการใช้หลักจิตวิทยาคลี่คลายสถานการณ์

 ล่าสุด ชค.ทสพ.ยังได้จัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจเพื่อประชาสัมพันธ์งานของหน่วย และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ www.rakchawtai.com (รักชาวใต้ดอทคอม)

 ส่วนมาตรการในการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ จะต้องพยายามทำทุกวิถีทาง ทั้งการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านทำความเข้าใจด้วยตัวเอง ตลอดจนการออกสื่อประชาสัมพันธ์อย่างรอบด้านและชัดเจน

 พ.ท.วินัยย้ำอีกว่า การสื่อสารกับประชาชนจะต้องวางแผนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะถ้อยคำที่สื่อออกไปจะต้องมุ่งสร้างความเข้าใจ และต้องเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งทุกรูปแบบ ที่สำคัญ ข้อมูลต้องเข้าถึงประชาชนอย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

 สำหรับ "ช่องทาง" ในการชี้แจงข้อเท็จจริง คือ สถานีวิทยุท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายอย่างน้อย 32 สถานีที่พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทันทีที่เกิดเหตุการณ์
 ขณะเดียวกันก็มีการแจกจ่ายแผ่นพับใบปลิว หลังเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่จำเป็นต้องชี้แจงในวงกว้าง โดยแผ่นพับประมาณ 60,000-100,000 ใบ จะถูกแจกจ่ายออกไปทันที โดยการลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และโปรยลงมาให้ทั่วพื้นที่

 รวมทั้งการเดินสายลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายใบปลิวไปตามชุมชนหรือนำไปวางไว้ตามจุดตรวจต่างๆ เพื่อให้ถึงมือประชาชนมากที่สุด

 นอกจากนี้ ชค.ทสพ.ยังมีกลยุทธ์ดึงดูดใจให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจอ่านข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากแผ่นพับ-ใบปลิวมากขึ้น ด้วยการ "แจกรางวัลแลกใบปลิว" ซึ่งสามารถนำมาแลกด้วยตัวเอง หรือส่งไปรษณีย์มาที่ ตู้ ปณ.14 หนองจิก โดยรางวัลไดแก่ กระเป๋า เสื้อ หมวก สมุด และของใช้ในครัวเรือน โดยของรางวัลทุกชิ้นจะมีข้อความที่เรียกร้องให้ร่วมกันสร้างสันติสุขที่ทุกคนถวิลหาอยู่แล้ว

 เมื่อทหารหันมาเน้นงานมวลชนและรุก "สงครามสื่อ" เต็มตัวเช่นนี้...ช่องทางในการปั่นหัวชาวบ้านของฝ่ายตรงข้ามย่อมตีบตันไปด้วย

สุพิชฌาย์ จันต๊ะปา