
บทเฉพาะกาลร่างรธน.
บทเฉพาะกาลร่างรธน. : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวเนชั่น
การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นที่รู้กันว่า ต้องยึดถือ “รัฐธรรมนูญ” เป็น “คัมภีร์” สำคัญ ในการปกครองประเทศ
ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” จึงต้องมีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในส่วนที่เป็น “บทถาวร” และ “บทเฉพาะกาล”
อย่างกรณี “บทเฉพาะกาล” ก็ต้องมาดูกันว่า บทบัญญัติที่เขียนใน “บทเฉพาะกาล” จะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นเสมอไปว่า “บทเฉพาะกาล” จะต้อง “ขัดขวาง” ประชาธิปไตย
มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจใน “บทเฉพาะกาล” ก็คือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งใน มาตรา 269 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก (ซึ่งก็คือหลังเลือกตั้ง) ให้วุฒิสภามีสมาชิกจำนวน 250 คน โดยในการสรรหาและแต่งตั้ง คสช. มีส่วนร่วมในการคัดเลือกทั้งสิ้น
แล้ว ส.ว.สำคัญไฉน ?
ก็ต้องดูที่ “บทเฉพาะกาล” อีกเช่นกัน โดยในมาตรา 272 บัญญัติว่า “ในวาระเริ่มแรกเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรี” จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้ “รัฐสภา” มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภา จัดให้มีการประชุมร่วมกันของ “รัฐสภา” โดยพลัน และในกรณีที่ “รัฐสภา” มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้หรือไม่ก็ได้”
สรุปว่า มาตรา 272 ได้ให้อำนาจกับ “รัฐสภา” ซึ่งก็คือให้อำนาจกับ ส.ว. ในการประชุมร่วมกันกับ ส.ส. มีมติยกเว้นหลักที่ว่า “นายกรัฐมนตรี” จะต้องมาจากคนที่มีีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถเลือกบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้
อีกทั้งใน “คำถามพ่วง” ตามประกาศของ กกต. ที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนด ไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
ซึ่งตาม “คำถามพ่วง” แปลความได้ว่า ให้ “รัฐสภา” ซึ่งมี ส.ว.ร่วมอยู่ด้วย ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้
จะเห็นได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอำนาจมาก
ประเด็นอำนาจของ ส.ว. ที่มีค่อนข้างมากนี้ ที่ผ่านมา “ฝ่ายไม่เห็นด้วย” เห็นว่า ขัดต่อหลักการของประชาธิปไตย เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
แต่ “ฝ่ายที่เห็นด้วย” เห็นว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตย จะใช้กลไกปกติไม่ได้ จำเป็นต้องมีกลไกพิเศษมาประคับประคอง เพื่อให้การส่งต่อไม้ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเดินต่อไปได้ และการไม่มีกลไกไว้เป็นทางออกในยามฉุกเฉิน อาจเกิดปัญหาวิกฤติซ้ำรอยเหมือนช่วงที่ผ่านมาได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมี “กลไกพิเศษ” คอยช่วยแก้ปัญหา ถ้าไม่ใช้ “กลไกพิเศษ” มาช่วยเปลี่ยนผ่าน อาจจะ “เสียของ” ได้
ส่วนเหตุผลของฝ่ายไหนจะดีกว่ากัน ประชาชนจะเป็นคนตัดสินในการลงประชามติ 7 สิงหาคม นี้