ข่าว

National e-Payment พลิกโฉมระบบการชำระเงินของไทย

National e-Payment พลิกโฉมระบบการชำระเงินของไทย

09 พ.ค. 2559

“ว่องไว มั่นใจ ใช่เลย”

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจเริ่มคุ้นหูกับคำว่า National e-Payment แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนนักว่าคืออะไร มีที่มาจากไหน มีประโยชน์อย่างไร และประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร
 
ดร. สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้สรุปที่มาที่ไป สาระสำคัญ และความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวว่า National e-Payment เป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดัน เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ดังที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับแนวคิดเกี่ยวกับ Digital Economy ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีความก้าวหน้า มีระบบรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่ขยายวงกว้างขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวม รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงได้ริเริ่มผลักดันแนวคิด National e-Payment ขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา
 
โครงการ National e-Payment เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฯ นี้ ซึ่งกำหนดให้มีการดำเนินการ 4 โครงการสำคัญคู่ขนานกันไปในห้วงเวลาเดียวกัน ได้แก่
 
โครงการที่ 1 การรับชำระเงินแบบ Any ID เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการโอนเงินหรือชำระเงิน จากการโอนเงินหรือชำระเงินปกติในปัจจุบันจะต้องใช้หมายเลขบัญชีธนาคาร ซึ่งมีตัวเลขหลายหลัก ทำให้ยากต่อการจดจำและการสื่อสาร เป็นการชำระเงินหรือโอนเงินในระบบ Any ID ซึ่งจะสามารถทำได้โดยใช้หมายเลขอื่นที่ผู้รับโอนได้ลงทะเบียนไว้กับสถาบันการเงิน โดยในระยะแรกจะเริ่มต้นจากหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะทำให้การจ่ายเงินระหว่างภาครัฐและประชาชนตรงกับเป้าหมายง่ายขึ้น ในขณะที่การโอนเงินระหว่างประชาชนด้วยกันหรือระหว่างประชาชนกับภาคธุรกิจสะดวกปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการนี้คาดว่า จะสามารถให้ประชาชนมาลงทะเบียนด้วยระบบหมายเลขได้ในเดือนกรกฎาคม และระบบโอนเงินด้วยหมายเลขบัตรประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนและตุลาคมปีนี้ ตามลำดับ
 
โครงการที่ 2 การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นวงกว้างขึ้น โดยทำให้ต้นทุนการชำระเงินด้วยบัตรลดลง ด้วยการมีค่าธรรมเนียมต่ำลง ในขณะที่ต้องเพิ่มการกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แพร่หลายมากขึ้นด้วย ควบคู่กันไปตามความเหมาะสมของผู้รับชำระเงินที่เป็นร้านค้าในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินให้ประชาชนไปพร้อมๆ กัน  โดยการขยายการใช้บัตรในลักษณะเช่นนี้ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกปลอดภัยมากขึ้นให้กับประชาชน ทั้งนี้ โครงการนี้คาดว่า จะออกประกาศให้นิติบุคคลติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินได้ในเดือนพฤษภาคม 2559 จะออกหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานราชการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินในเดือนกรกฎาคม 2559 และจะเริ่มกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินในเดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นไป
 
โครงการที่ 3 ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการพัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการจัดทำ รวมทั้งการนำส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินและการนำส่งภาษีเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุน ระยะเวลา และขั้นตอนของภาคเอกชน ในการจัดทำเอกสารและการชำระภาษี สำหรับโครงการนี้คาดว่า จะเริ่มให้สามารถจัดส่งใบกำกับภาษีผ่านภาพทาง e-Mail ได้ในเดือนตุลาคม 2559 และระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt จะพร้อมใช้ในเดือนมกราคม 2560
 
โครงการที่ 4 e-Payment ภาครัฐ เป็นการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม และพัฒนาระบบการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่งเสริมการรับจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้มีฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับสวัสดิการของภาครัฐ ควบคู่กับการจ่ายเงินให้แก่ประชาชนโดยตรงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และ ลดความผิดพลาด ความซ้ำซ้อน และโอกาสการทุจริตจากการจ่ายด้วยเงินสดหรือเช็ค ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลงทะเบียนประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการผ่านสถาบันการเงิน สำหรับโครงการนี้คาดว่า จะสามารถให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับจ่ายเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2559 และเริ่มโอนเงินสวัสดิการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารได้ในเดือนกันยายน 2559
 
ดังนั้น โครงการ National e-Payment จึงเป็นงานหลักที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่าง เพราะเป็นการช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทย และเป็นการอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อทุกภาคส่วนด้วย
 
สำหรับประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม โครงการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนของประเทศ โดยเฉพาะต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยชักจูงให้เศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ และช่วยให้มีการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลการรับจ่ายเงินและสวัสดิการประชาชน ซึ่งจะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อการกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม สะดวก ปลอดภัย และง่าย โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีสิทธิรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐ จะมีช่องทางการรับเงินช่วยเหลือที่สะดวกขึ้น รวมทั้งการรับจ่ายเงินกับหน่วยงานภาครัฐจะมีช่องทางที่รวดเร็วมากขึ้น ในขณะที่ ภาครัฐสามารถจ่ายเงินสวัสดิการ เช่น สวัสดิการนมแม่ เป็นต้น ถึงมือประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญคือจะมีฐานข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการประเมินผลนโยบายปัจจุบันเพื่อนำไปพัฒนานโยบายสวัสดิการสังคมในอนาคตได้ รวมทั้ง ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินของภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยในการบริหารจัดการเงินงบประมาณให้รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย และโปร่งใสมากขึ้น
 
ในขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคธุรกิจ ผ่านช่องทางการรับชำระเงินที่หลากหลายและมีมาตรฐานสากลมากขึ้น เป็นการลดต้นทุนโดยเฉพาะการบริหารจัดการเงินสด และลดภาระการจัดการเอกสารและนำส่งภาษีที่เกี่ยวข้อง
 
จะเห็นได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ระบบการชำระเงินของไทยกำลังจะถูกพลิกโฉมให้เป็นธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ มีความว่องไวมากขึ้น และผู้ใช้งานสามารถมีความมั่นใจได้ ตามแนวคิด “ว่องไว มั่นใจ ใช่เลย” ของโครงการ National e-Payment
 
สำหรับความคืบหน้าของโครงการ National e-Payment สามารถติดตามได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป