ข่าว

รู้จักสิทธิ เพื่อชีวิตการเงินดี

รู้จักสิทธิ เพื่อชีวิตการเงินดี

02 พ.ค. 2559

เพื่อนแท้การเงิน : รู้จักสิทธิ เพื่อชีวิตการเงินดี : โดย...ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. www.1213.or.th โทร 1213

 
                    หลายครั้งที่ผมออกไปบรรยายให้ความรู้และพูดคุยกับประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพ สิ่งหนึ่งที่พบก็คือมีคนไม่มากนักที่กล้าซักถามข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของสถาบันการเงินที่ตนเองสนใจจะใช้บริการจากเจ้าหน้าที่ เพื่อให้แน่ใจว่ามีข้อมูลเพียงพอก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ตรงกับความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด เพราะหลายคนเกรงใจ หรือจำใจเลือกใช้บริการบางอย่างแทนสิ่งที่ต้องการจริงๆ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีหรือหมด
 
                    เราจะสามารถใช้บริการทางการเงินต่างๆ อย่างราบรื่นและได้ประโยชน์สูงสุดถ้ารู้และเข้าใจ “สิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงิน” ครับ ตัวอย่างเรื่องที่หลายคนอาจเคยพบเจอด้วยตัวเองก็คือการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารก็มักจะถามเราว่าจะทำบัตรเอทีเอ็มหรือไม่ เราก็ควรใช้ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยถามเจ้าหน้าที่ว่ามีบัตรกี่แบบ มีประกันพ่วงด้วยหรือไม่ แต่ละแบบมีสิทธิประโยชน์ต่างกันอย่างไร ที่สำคัญคือมีค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง เท่าไหร่ หรือถ้าบัตรหายแล้วจะทำบัตรใหม่ต้องจ่ายค่าทำบัตรกี่บาท เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อดีและข้อจำกัดมาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ และหากฟังดูแล้วตัดสินใจว่าเราไม่ต้องการทำบัตรใดๆ ก็สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของ สิทธิที่จะเลือกใช้บริการได้อย่างอิสระ
 
                    เมื่อใช้บริการไปแล้วพบว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้อง ล่าช้า ก็สามารถใช้ สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม เช่น หากเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่ทำบัตรจะเปิดบัญชีไม่ได้ กรณีแบบนี้สามารถร้องเรียนได้ครับ โดยเริ่มต้นจากร้องเรียนกับสำนักงานใหญ่ หรือ call center ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งในปัจจุบัน แบงก์ชาติโดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ให้บริการลูกค้าบุคคลธรรมดารายย่อย รวม 18 ธนาคาร ได้กำหนดมาตรฐานการให้บริการของแต่ละธนาคาร (SLA) โดยจัดทำเป็นตารางแสดงระยะเวลาการให้บริการของธนาคารแต่ละแห่งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ศคง. www.1213.or.th ครับ และหากสถาบันการเงินดำเนินการล่าช้ากว่าที่กำหนดหรือไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ก็สามารถขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนที่ ศคง. โทร. 1213 ได้ครับ
 
                    ถ้าเราใช้บริการแล้วเกิดปัญหาที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความบกพร่องของสถาบันการเงิน เราก็สามารถใช้ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย แต่หากเป็นความผิดพลาดของเราเอง สถาบันการเงินก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้ความเสียหายให้ เช่น การโอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มไปเข้าผิดบัญชีหรือใส่จำนวนเงินผิดเอง เป็นต้น
 
                    นอกจากสิทธิที่ผู้ใช้บริการทางการเงินพึงรักษาและใช้อย่างเหมาะสมทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว ก็ยังมีหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงินเราที่ควรทำด้วยความรับผิดชอบด้วย วันหลังผมจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ
 
 
 
------------------
 
(เพื่อนแท้การเงิน : รู้จักสิทธิ เพื่อชีวิตการเงินดี : โดย...ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. www.1213.or.th โทร 1213)