ข่าว

สองปีคดี‘นรต.’ไม่คืบครอบครัวถามหาความยุติธรรม

สองปีคดี‘นรต.’ไม่คืบครอบครัวถามหาความยุติธรรม

01 พ.ค. 2559

สองปีคดี‘นรต.’ไม่คืบ ครอบครัวถามหาความยุติธรรม : เรื่องเล่าข่าวดัง โดยพรรณทิพา จิตราวุฒิพร

            แม้เวลาจะผ่านมานาน 2 ปี แต่นายจตุรงค์ ติรสุวรรณสุข ยังคงคิดถึงนายณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข หรือฟิวส์ บุตรชายคนเล็ก ที่เสียชีวิตจากกรณีการฝึกกระโดดร่มที่ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557

             นายณัฐวุฒิ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 69 (นรต.69) ที่เสียชีวิตจากการกระโดดร่ม เนื่องจากไปฝึกโดดร่มที่สนามโดดร่มตุงคะเตชะ ในค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นหลักสูตรกระโดดร่มประจำปีของ นรต.ชั้นปี 2 แต่เกิดสิ่งไม่คาดคิด ทำให้เด็กหนุ่มอนาคตไกลรายนี้ต้องจากครอบครัวอันเป็นที่รักไปก่อนวัยอันควร เมื่อสายสลิงบนเครื่องบินลำเลียงที่ใช้เป็นตัวกระตุกร่มเกิดขาด ทำให้ร่างนักเรียนนายร้อยตำรวจ 6 นาย หลุดออกจากเครื่อง ในจำนวนนั้นมี 4 นาย ที่สามารถกระตุกร่มให้กางได้ แต่อีก 2 นาย คือ นายณัฐวุฒิ และนายชยากร พุทธชัยยงค์ หรือโยโย่ ร่มไม่กางทำให้ร่างทั้งสองกระแทกพื้นเสียชีวิต

สองปีคดี‘นรต.’ไม่คืบครอบครัวถามหาความยุติธรรม

             มุมห้องตรงระเบียงใกล้บันไดบ้านพักถูกจัดให้เป็นพื้นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ของบุตรชายอันเป็นที่รัก ทั้งเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬา ถ้วยรางวัล เสื้อผ้า และอัลบั้มภาพถ่าย ยังคงได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2 ปี และทุกครั้งที่นายจตุรงค์คิดถึงลูกมุมห้องแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ลำดับแรกๆ จะไปยืนมองข้าวของที่บุตรชายเคยใช้

             นายจตุรงค์บอกว่า ทุกวันนี้อยู่ได้เพราะคิดถึงเรื่องราวดีๆ ที่บุตรชายทำไว้ตอนมีชีวิตอยู่ เพราะสร้างแต่ความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัว แม้ในวันไม่มีลมหายใจแล้วก็ยังทิ้งไว้ซึ่งเกียรติยศและชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล แต่สิ่งที่ทำให้เขากังวลใจคือ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 2 ปีแล้ว คดีการเสียชีวิตของบุตรชายกลับไม่มีความคืบหน้า ได้แต่รอความหวังจะได้รับความเป็นธรรมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

             “2 ปีกับอีก 1 เดือนแล้วนะที่ลูกผมเสียชีวิต แต่คดีกลับไม่มีความคืบหน้า ยังไม่ยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดใดๆ เลย ขั้นตอนอยู่ที่อัยการตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2557 หลังจากที่ผมไปสอบถามพนักงานสอบสวนที่ สภ.ชะอำมา จริงๆ แล้วคดีไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะการกระทำความผิดบ่งบอกชัดเจนว่าสายสลิงไม่ได้มาตรฐาน เพราะนำของที่หมดอายุการใช้งานมาใช้ แต่สลิงของใหม่กลับอยู่ในสต็อกเก็บของ ซึ่งไม่นำมาเปลี่ยน บ่งบอกถึงความทุจริต หาผลประโยชน์กันในหน่วยงานที่รับผิดชอบ” นายจตุรงค์ กล่าว

             นายจตุรงค์บอกด้วยว่า ครอบครัวของนักเรียนนายร้อยตำรวจที่เสียชีวิตทั้งสองรายยังไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการปรับยศ ขึ้นขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ เพราะเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ในทางกฎหมายก็ไม่เคยได้รับคำชี้แนะหรือให้คำปรึกษาใดๆ ที่จะเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดทั้งหมด

             “บางครั้งผมนึกแล้วก็รู้สึกท้อใจ ทั้งๆ ที่ลูกชายและเพื่อนที่เสียชีวิตไปในคราวเดียวกันถือว่าเป็นบุคลากรของตำรวจยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเวลาผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้เลย บางครั้งผมก็ไม่รู้ว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน” นายจตุรงค์ กล่าว

             พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี อดีตที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเข้าไปติดตามการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้เมื่อหลังเกิดเหตุใหม่ๆ เปิดเผยว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากความประมาทของบุคคล ซึ่งตอนแรกมีการโต้แย้งว่าเป็นอุบัติเหตุหรือไม่ แต่จากการรวบรวมพยานหลักฐานของกองพิสูจน์หลักฐานและพนักงานสอบสวนที่ตั้งเป็นคณะทำงาน โดยตอนนั้นตนกำกับดูแล ชี้ให้เห็นว่า คดีนี้เป็นความประมาทของบุคคล เนื่องจากมีการทำสลิงกระโดดร่มขึ้นมาเอง โดยไปซื้อมาจากร้านค้า และมาประกอบเอง ราคาสลิงตอนนั้นที่ตรวจสอบมา 2 เส้น 9,000 บาท แต่สลิงใหม่ที่มีสเปกมาจากต่างประเทศกลับอยู่ในสต็อกของกองบินตำรวจ ไม่นำออกมาใช้ เส้นหนึ่งเกือบ 1 แสนบาท มีทั้งหมด 2 เส้น ราคาก็เกือบ 2 แสนบาท ซึ่งสงสัยว่าทำไมไม่เอาสลิงที่มีอยู่มาติดตั้งใหม่หรือเปลี่ยนใช้อันใหม่ สิ่งที่ปรากฏชี้ให้เห็นว่า นอกจากความประมาทแล้ว ยังมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในสำนวนการสอบสวนที่ได้ส่งไปอัยการที่จ.เพชรบุรี เรื่องนี้พนักงานอัยการเพชรบุรีตั้งเป็นคณะทำงาน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากเรื่องประมาทแล้ว ยังมีเจ้าพนักงานของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คือมีการนำสลิงที่

             ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ บ่งบอกถึงผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงส่งสำนวนกลับมาให้ตำรวจนำไปส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.

             “ป.ป.ช.ใหญ่ส่งให้  ป.ป.ช.พื้นที่ คือ ป.ป.ช.เพชรบุรี ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาก็ชี้ว่า เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 เมื่อเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็เป็นข้อหาใหม่เพิ่มเติม นอกเหนือจากข้อหาประมาท ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจะต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหาบางคนที่พนักงานอัยการชี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาแจ้งข้อหาเพิ่ม จึงทำให้กระบวนการล่าช้าลง เพราะแทนที่จะฟ้องในเรื่องประมาท เลยต้องกลับมาแล้วเข้าสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม มาตรา 157 ผมได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีประเด็นพื้นที่เกิดเหตุจากเดิมคือการโดดร่มเสียชีวิต อยู่ในพื้นที่ชะอำ แต่การปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เขตเกิดที่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นประเด็นจะเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน อำนาจของศาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้ความรอบคอบในการทำประเด็นนี้ขึ้นมา จึงทำให้ใช้เวลามากขึ้น” พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว

             ด้าน พล.ต.ต.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผบช.ประจำ ตร. ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานในคดีนี้ ระบุว่า คดีนี้อัยการส่งสำนวนคดีกลับมา หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายที่ส่งให้ สตช.พิจารณา ปรับแก้คำสั่งพนักงานสอบสวน ขณะนี้รอให้ สตช.ลงนามในคำสั่งการสอบสวน เพื่อให้อำนาจการสอบสวนสมบูรณ์ไม่มีข้อโต้แย้ง เนื่องจากมีข้อหาเพิ่มเติมขึ้นมา จึงทำให้อำนาจการสอบสวนเปลี่ยนแปลงไป เพราะพนักงานสอบสวนบางคนถูกโยกย้าย จึงต้องหาคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน

             “การกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหา ผิดกรรมเดียวกัน แต่ผิดกฎหมายหลายบท จะแยกสำนวนการสอบสวนไม่ได้ การแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจะเป็นเรื่องการทุจริต ที่นอกเหนือจากข้อหาประมาท ซึ่งจะแจ้งข้อหาตามที่มีการชี้แจง แต่ตอนนี้ต้องรอการปรับแก้คำสั่งของ สตช. ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ผมก็รออยู่เหมือนกัน ยังไม่สามารถตอบอะไรได้” ผบช.ประจำ ตร. ระบุ

             อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างหนาหูในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า คดีนี้ค่อนข้างล่าช้า โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ที่เกี่ยวข้องบางรายเป็นที่เกรงอกเกรงใจของผู้ทำคดีหรือไม่