
แม้แต่สไลม์ก็มีปัญญา
30 เม.ย. 2559
เวิลด์วาไรตี้ : แม้แต่สไลม์ก็มีปัญญา : โต๊ะต่างประเทศ
ปัญญา น. ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด เช่น คนมีปัญญาหมดปัญญา. (ป.).
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการสูงพอจนสร้างเครือข่ายเส้นประสาทในร่างกาย ไล่จนถึงสิ่งมีชีวิตที่มีการสร้างอวัยวะที่เรียกว่า “สมอง” เท่านั้นที่จะมี “ปัญญา” หรือความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามไว้ข้างต้น
แต่ด้วยคำว่าวิทยาศาสตร์นั้นเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ เป็นศาสตร์แห่งปัญญา การใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ จึงเป็นที่ยอมรับและเป็นหลักปฏิบัติของนักวิทยาศาสตร์ จึงเกิดการทดลองเพื่อศึกษาว่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ไม่มีสมองนั้น สามารถเรียนรู้จนเกิดปัญญาได้หรือไม่
ดังเช่นผลงานที่นักวิจัยชาวเบลเยียมและฝรั่งเศสทำการศึกษา และสรุปผลออกมาเป็นบทความทางวิทยาศาสตร์ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอจนได้รับการคัดเลือกเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อ โพรซีดดิ้ง ออฟ เดอะ รอยัล โซไซตี้ บี เมื่อเร็วๆ นี้
สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่นักวิจัยนำมาใช้ทดลองในครั้งนี้มีลักษณะเป็นตัวยืดหยุ่น มีเซลล์เดียว ไร้สมอง และเส้นประสาทที่ก่อตัวเป็นโครงสร้าง มีหน้าตาเหมือนของเล่นเหนียวๆ ยืดๆ ที่เรียกว่า สไลม์ (Slime)
แต่น่าแปลกใจที่นักวิจัยในทีมนี้พบว่าเจ้าสไลม์นั้น สามารถเรียนรู้ถึงวิธีหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนในระดับที่เรียกได้ว่าเป็น “ปัญญา” และสร้าง “พฤติกรรมการเรียนรู้” ขึ้นมาได้
พฤติกรรมการเรียนรู้หมายถึงพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ เช่น การที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะไม่กลัวเข็มหรือวัตถุแหลมคมขนาดเล็กชนิดต่างๆ หลังจากได้สัมผัสกับเข็มหรือของแหลมเหล่านั้นระยะหนึ่งๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการกำจัดความกลัวในจิตใจ
นักวิจัยจึงนำสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ไฟซารุม โพลีเซฟาลัม” หรือ “สไลม์หลายหัว” มาเป็นตัวทดลอง โดยย้อมสีตัวอย่างให้เป็นสีเหลืองสะท้อนแสงเพื่อสำรวจตรวจติดตามพฤติกรรมของมัน โดยธรรมชาติแล้วสไลม์หลายหัวจะพบอยู่ในใบไม้ที่กำลังย่อยสลาย ต้นไม้ผุๆ ในพื้นที่ชื้นและเย็น
แล้วนำเจ้าสไลม์หลายหัวมาวางไว้บนจานเพาะเชื้อใบหนึ่งก่อนที่จะนำข้าวโอ๊ตและสารอาหารสกัดจากสาหรายมาวางไว้บนจานทดลองอีกอันหนึ่ง และนำสารอาหารสกัดจากสาหร่ายมาวางไว้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างจานเพาะเชื้อทั้งสอง
เวลาผ่านไปราว 2 ชั่วโมงนักวิจัยจึงประจักษ์ว่าเจ้าสไลม์หลายหัวในจานเพาะเชื้อว่างเปล่านั้น คืบคลานมายังจานอาหารเรียบร้อยแล้ว
และเมื่อทดลองใช้สะพานที่มีสารประเภทควินนิน หรือกาเฟอีน ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเจ้าสไลม์มาปนในสะพานข้ามจานเพาะเชื้อ เจ้าสไลม์หลายหัวก็แสดงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่จะหลบหลีกสารที่มันไม่ชอบเหล่านั้น แต่ก็ไม่หยุดยั้งที่จะเดินข้ามจานเพาะเชื้อไปยังอาหารโปรดในอีกจานหนึ่งได้
เป็นเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง จนทำให้นักวิจัยสรุปได้ว่าเจ้า สไลม์หลายหัวที่นำมาทดลองนั้นมีพฤติกรรมการเรียนรู้จนก่อให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้จริงๆ ทั้งที่ในตัวของสัตว์เซลล์เดียวชนิดนี้ไม่มีแม้แต่เนื้อเยื่อที่จะเทียบได้กับสมองหรือเครือข่ายประสาทของสัตว์ชั้นสูง
เรียกง่ายๆ ว่าเป็นสัตว์ “สมองกลวง” แต่กลับมี “ปัญญา” ก็ว่าได้
ผลการวิจัยนี้อาจจะทำให้เกิดการทบทวนความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ครั้งใหม่ก็เป็นได้