ข่าว

'อนิรุทธิ์ จั่นเพ็ชร'ชาวนาอินทรีย์ปรับความคิดชีวิตเปลี่ยน

'อนิรุทธิ์ จั่นเพ็ชร'ชาวนาอินทรีย์ปรับความคิดชีวิตเปลี่ยน

29 เม.ย. 2559

'อนิรุทธิ์ จั่นเพ็ชร'ชาวนาอินทรีย์แค่'ปรับความคิด'ชีวิตก็'เปลี่ยน' : คมคิดจิตอาสา โดยสันทนา รัตนอำนวยศิริ

               อนิรุทธิ์ จั่นเพ็ชร ชาวนา ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ที่ก่อนหน้าก็ทำนาเหมือนชาวนารุ่นดั่งเดิมทั่วไป ที่ทำนาด้วยสารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาสารเคมีเป็นปัจจัยหลักในการทำนา เพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด แต่ผลลัพธ์ที่อนิรุทธิ์ได้มา คือ สุขภาพที่แย่ลง มีต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมี และสารเคมีมาใช้ทำนา เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว บางปีรายได้จากการขายข้าว ไม่เพียงพอที่จะไปจ่ายค่าปุ๋ยเคมีที่ติดค้างพ่อค้าไว้ มีหนี้สินมากมาย ทำให้อนิรุทธิ์ท้อแท้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มาพบกับ "โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน" ของ กลุ่มบริษัทกระทิงแดง จึงตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ สมัครร่วมเป็น 1 ใน 33 ครอบครัว ที่หันมา “ทำนาอินทรีย์”
 
               “ตอนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นชาวนา 33 ครอบครัวแรกที่เป็นชาวนาที่ทำนาเคมี ไม่มีความรู้เรื่องนาอินทรีย์เลย ต้องมาเริ่มต้นใหม่พร้อมๆ กันทุกครอบครัว พอบอกเพื่อนๆ ว่า จะทำนาอินทรีย์ ไม่ใช่สารเคมีเลย เพื่อนๆ บอกว่า ผมบ้า จะเป็นไปได้ยังไง อินทรีย์หรือจะสู้สารเคมีได้ ผมก็บอกว่า ผมจะทำให้ดู”

               อนิรุทธิ์ และเกษตรกรอีก 32 ครอบครัว ซึ่งมีที่นาอยู่ในพื้นที่ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ที่อยู่รอบๆ โรงงานกระทิงแดง ทางกลุ่มบริษัทกระทิงแดง จึงเข้ารับการอบรม หลักสูตรการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว และ หลักสูตรกระบวนการจัดตั้้งกลุ่ม เพื่อนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการทำนา ทุกขั้นตอนจะมีเครือข่ายจาก มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และ ภาคีเกษตรอินทรีย์บ้านกุดชุม จ.ยโสธร เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำตลอด

               หลังจากผ่านการอบรมทั้ง 2 หลักสูตร 2 จังหวัด อนิรุทธิ์ก็ได้นำองค์ความรู้จากทั้ง 2 หลักสูตร มาปรับใช้กับนาของตัวเอง พบว่า นาอินทรีย์ดีกว่านาเคมีจริง เพราะทำให้เขาและครอบครัวมีสุขภาพที่ดีขึ้น จากที่เคยเป็นโรคภูมิแพ้เพราะใช้สารเคมีพ้นฆ่าแมลงในที่นา พอมาทำนาอินทรีย์ โรคภูมิแพ้ก็หายไปโดยไม่รู้ตัว ทุกคนในครอบครัวหันมากินข้าวไรซ์เบอร์รี่จากนาอินทรีย์ที่ลงมือปลูกเอง ทำให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง สภาพแวดล้อมในบ้านและในที่นาก็ดีขึ้น ไม่มีกลิ่นสารเคมีให้ระคายเคืองระบบหายใจอีกต่อไป ครอบครัวเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

               “เมื่อก่อนผมเป็นภูมิแพ้ พอไปพ่นยาฆ่าแมลงในนา ผมจะน้ำหูน้ำตาไหล แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว ร่างกายแข็งแรง ทางกลุ่มกระทิงแดงก็พาหมอมาตรวจสุขภาพ มาตรวจเลือดหาสารเคมี หาสารตกค้าง แต่ก็ไม่เจอสารอะไร ผมว่า ผมแข็งแรงกว่าเมื่อตอนทำนาเคมีอีกนะ”

               เพื่อนๆ ที่เคยปรามาสไว้ว่า เป็นไปไม่ได้ เริ่มหันมายอมรับการทำนาอินทรีย์ของอนิรุทธิ์มากขึ้น หลายคนหันมาให้ความสนใจการทำนาอินทรีย์ของอนิรุทธิ์ เขาจึงถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับมาจากหลักสูตรที่กลุ่มกระทิงแดงพาไปอบรมมา และย้อนกลับไปนำความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านดั่งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษกลับมาพัฒนาใช้ใหม่ ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เลิกใช้สารเคมี และนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในชีวิตประจำวัน ดูแลคนในครอบครัวให้สุขภาพแข็งแรงและมีความสุข และต่อยอดไปสู่ผู้บริโภคให้ได้รับสิ่งที่ดีเหมือนที่ครอบครัวของเราได้รับด้วย
 
               "ผมภูมิใจมาก ที่วันนี้ผมมีสินค้าที่เป็นข้าวจากนาอินทรีย์ที่ผมลงมือทำเองทุกขั้นตอน และเป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ข้าวอินทรีย์ที่ผมปลูกมีอยู่ 3 ไร่ มีทั้งข้าวพันธุ์หอมนิล พันธุ์หอมปทุม และไรซ์เบอร์รี่ ในพื้นที่ 3 ไร่ ของผมเป็นการปลูกข้าวแบบนาปรัง เพราะพื้นที่ ต.บางแตน เวลาหน้าน้ำ น้ำท่วมลึกมาก เราต้องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาช่วย พอน้ำลงเราต้องรีบทำนาทันที รีบไถ รีบหว่าน หว่านให้บาง ใช้น้ำคุมต้นข้าวไว้ ใช้น้ำหมักที่ได้ความรู้จากการไปอบรมมามาฉีดป้องกันแมลง ใช้เวลาปลูกประมาณ 120 วัน จึงสามารถเกี่ยวข้าวได้ ผลผลิตที่ได้ ผมยอมรับว่า ได้น้อยกว่านาเคมี แต่ผมทำใจรับสภาพไว้แล้ว เพราะอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนระหว่างนาเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ แต่ข้าวที่ได้ขายได้ราคาดีกว่า เรามีรายได้ต่อเนื่อง เพราะผลิตเอง ขายเอง ขายได้เรื่อยๆ ทำเองทุกขั้นตอน ไม่ต้องรอเวลาเหมือนตอนทำนาเคมี ที่พอขายข้าวแล้วได้เงินครั้งเดียว เวลาที่เหลือก็ต้องรอทำนารอบต่อไป ซึ่งมองย้อนไปแล้ว รู้สึกเสียดายเวลาที่เสียไปอย่างยิ่ง"

               อนิรุทธิ์ ยอมรับว่า ทุกวันนี้สภาพครอบครัวดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน มีรายได้อย่างต่อเนื่องจากการขายข้าวที่เป็นสินค้าของตนเอง มีแบรนด์เป็นของตนเอง และมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น สมาชิกในครอบครัวช่วยกันใช้พื้นที่ในบริเวณบ้านปลูกผักสวนครัวปลอดสารเคมีไว้กินเอง เขามีลูก 2 คน ลูกสาวคนโตกำลังเรียนระดับ ปวส. เลิกเรียนก็จะมาช่วยทำบัญชีครัวเรือน และบัญชีรายได้จากการขายข้าวของพ่อ ลูกชายคนเล็กเรียนระดับประถมศึกษา เมื่อกลับมาจากโรงเรียนก็จะมาช่วยรดน้ำผักที่ช่วยกันปลูกไว้ ส่วนภรรยาก็เป็นแม่บ้านที่ค่อยช่วยงานทุกอย่างในบ้าน และมีความชำนาญในเรื่องนวดแผนโบราณ เมื่อว่างจากงานในนาและในบ้าน ก็จะออกไปนวดให้คนชราในหมู่บ้าน “ครอบครัวจั่นเพ็ชร” มีกิจกรรมทำร่วมกันมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น

               เทคนิคการสอนลูกของอนิรุทธิ์ คือ “ทำให้ดู” พาลูกลงนา พ่อปลูกผัก ลูกรดน้ำ ถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาให้ดูและฟัง ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ลูกได้ซึมซับสิ่งดีๆ ที่พอทำให้เห็น จนพวกเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แบบไม่รู้ตัว เป็นเด็กดีของพ่อแม่ และคนดีของสังคม ถือเป็นอีกความภูมิใจที่อนิรุทธิ์ได้รับจากการยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อเข้าร่วม "โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน" ของ กลุ่มบริษัทกระทิงแดง
 
               อนิรุทธิ์ บอกด้วยว่า ต้นทุนในการทำนาอินทรีย์ กับนาเคมี แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะนาเคมีมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลผลิตที่ได้กลับน้อยลงทุกปี แต่พอมาทำนาอินทรีย์ ปีแรกๆ ก็ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากสักหน่อย เพราะดินมีสารเคมีสะสมอยู่มาก ต้องปรับสภาพดินให้ชินกันปุ๋ยอินทรีย์ก่อน เลิกเผาซังข้าว ผลผลิตข้าวปีแรกได้ไม่มากนัก แต่ปีต่อมาก็เพิ่มผลผลิตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้ผลผลิตประมาณ 60-65 ถังต่อไร่ ในขณะที่ทำนาเคมีได้ผลผลิตประมาณ 80-85 ถังต่อไร่ แต่พอถึงเวลาขายข้าว ราคาที่ได้รับแตกต่างกันชัดมาก ข้าวจากนาอินทรีย์ขายได้มากกว่าข้าวจากนาเคมีประมาณ 25%
 
               “ข้าวอินทรีย์ที่ปลูกด้วยความมานะอดทนของผม และเกษตรกรบ้านบางแตน ถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นกำลังใจให้ผมและทุกครอบครัว มีแรงกายแรงใจที่จะเดินหน้าพัฒนาผลผลิตไปสู่เป้าหมายที่พวกเราตั้งใจไว้” อนิรุทธิ์ กล่าวอย่างมีความหวัง

               อนิรุทธิ์ ย้ำว่า ในฐานะที่ได้รับโอกาสจากกลุ่มกระทิงแดง เข้าร่วม โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน รุ่นบุกเบิก ก็จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้เกษตรกรรุ่นต่อไปได้เข้ามาทดลองทำนาอินทรีย์ และเป็นความโชคดีของคน ต.บางแตน ที่กลุ่มกระทิงแดง เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนรอบโรงงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลืมตาอ้าปากได้ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและชุมชนเลย อีกทั้งผู้บริหารกลุ่มกระทิงแดงทุกคนก็ลงพื้นที่ให้ความสนใจและช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง

               ขั้นตอนต่อไปของข้าวอินทรีย์ของ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน บ้านบางแตน ก็จะเริ่มเปิดตัวออกสู่ตลาด เริ่มจากตลาดในชุมชนก่อน และต่อยอดไปสู่ตลาดอื่นให้กว้างขวางขึ้น โดยกลุ่มกระทิงแดงได้ส่งทีมงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำด้านการบรรจุข้าว รูปแบบบรรจุภัณฑ์ ชื่อแบรนด์ โลโก้ การวางแผนการตลาด รวมถึงการขออนุญาตมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่มาตรฐานการส่งออกไปสู่ตลาดสากลในอนาคต
 
               “ผมอยากจะบอกเกษตรกรหลายๆ ท่าน ที่กำลังสับสน หรือกำลังตัดสินใจว่า จะเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำนา จากนาเคมี มาสู่นาอินทรีย์ ดีหรือไม่ว่า ขอให้กล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตดู ถ้าเราไม่กล้าก้าวข้ามสิ่งนี้ไปให้ได้ ไม่ทดลองสิ่งใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ เราก็จะจมปลักอยู่ที่เดิม ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านของเราให้ทัดเทียมกับคนอื่นได้ เราต้องมั่นใจในตัวเอง เชื่อมั่นในภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายของเรา ถ้ากล้าเปลี่ยน ชีวิตของคุณจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าไม่เชื่อ ต้องทดลองดูนะครับ ผมและครอบครัวพิสูจน์มาแล้ว” อนิรุทธิ์ กล่าวปิดท้าย

               สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง ผู้สนับสนุน โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน เล่าถึงแนวคิดของโครงการ ว่า กลุ่มกระทิงแดงทำโครงการเกี่ยวกับข้าวมานานหลายปีแล้ว โดยทำร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน เมื่อประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เราจึงหันกลับมาดูพื้นที่รอบโรงงานที่เป็นที่นาแทบทั้งสิ้น เราอยากให้เกษตรกรและคนในชุมชนบางแตน ที่อยู่รอบโรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดความยั่งยืนในชุมชน เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง
 
               “โครงการนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ต่อเนื่องจากโครงการกระทิงแดงสปิริต ทีมงานกระทิงแดงลงพื้นที่ ต.บางแตน พบว่า มีชาวนาอยู่ประมาณ 100 กว่าครอบครัว เรานำผู้เชี่ยวชาญจาก จ.สุพรรณบุรี และ จ.ยโสธร ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มาแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ให้ชาวนาฟัง พาไปอบรมทั้งภาคทฤษฎี และลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ซักถามแลกเปลี่ยนทุกข้อสงสัยอย่างเต็มที่ จนได้ครอบครัวที่สมัครใจพร้อมที่จะเปลี่ยนมาทำข้าวอินทรีย์ร่วมกับกระทิงแดง จำนวน 33 ครอบครัว”

               สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า บทบาทของกระทิงแดงที่พร้อมจะช่วยเหลือเกษตรกร คือ การดึงเครือข่ายที่มีความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ มาเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรทั้ง 33 ครอบครัวได้รับรู้อย่างถ่่องแท้ โดยมีทีมงานของกระทิงแดงลงไปร่วมกิจกรรม ติดตาม และร่วมประชุมประเมินผลด้วยทุกเดือน เราเริ่มต้นตั้งแต่ไม่รู้อะไรเลย จนกระทั่งได้ผลผลิตที่มีคุณภาพออกมา และได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปีแรกของการเริ่มโครงการได้ผลผลิตจำนวน 77.48 ตัน เฉลี่ย 380 กิโลกรัม/ไร่
 
               “ข้าวที่ได้จากนาอินทรีย์ อาจจะน้อยกว่านาเคมี แต่ต้นทุนการปลูกข้าวน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่ง และส่งผลให้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมดีกว่าด้วย กระทิงแดงได้นำเกษตรกรทั้งหมดเข้ารับการอบรม 2 หลักสูตร ที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และภาคีเกษตรอินทรีย์บ้านกุดชุม จ.ยโสธร เน้นความสำคัญ 3 เรื่อง คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง ผลิตข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และต่อยอดไปสู่วิถียั่งยืนต่อไปในอนาคต” สราวุฒิ กล่าว

               สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ข้าวที่เกษตรกร 33 ครอบครัวปลูก มีหลากหลายสายพันธุ์ อยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ ระหว่างการปลูกข้าวทุกครอบครัวปฏิบัติตามเงื่อนไขของการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยมีคณะกรรมการของกลุ่มลงแปลงเพื่อตรวจสอบร่วมกับทีมงานของกระทิงแดง ภายใต้มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) จำนวน 23 ข้อ อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กลุ่มกระทิงแดงยังอุดหนุนผลผลิตของเกษตรกรจำนวน 1 บาทต่อข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม และอีก 50 สตางค์ต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม ให้เกษตรกรสามารถมีทุนในการบริหารจัดการภายในกลุ่ม เป็นระยะเวลา 5 ปี (2558-2562) ได้อย่างไม่ติดขัด
   
               “เป้าหมายต่อไปของกระทิงแดง คือ ผลักดันให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน บ้านบางแตน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแบบเต็มรูปแบบ ยกระดับมาตรฐานข้าวอินทรีย์บางแตนเข้าสู่มาตรฐานการรับรอง เข้าสู่ตลาด และช่วยกันขยายองค์ความรู้ที่ได้รับจากกระทิงแดงและเครือข่ายภาคีไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยมีเกษตรกรบ้านบางแตน เป็นต้นแบบ จากนั้นจะเพิ่มจำนวนสมาชิก ขยายพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ให้มากขึ้น”

               สราวุฒิ กล่าวปิดท้ายว่า แนวทางการทำงานเพื่อสังคมของกลุ่มกระทิงแดง คือ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากสิ่งที่ให้การช่วยเหลือไป เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่อ “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดง ต่อมาเมื่อกิจการกระทิงแดงเป็นรูปบริษัท ก็อยากดึงกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมกับกระทิงแดงเพื่อให้เกิดพลังมากขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการกระทิงแดงสปิริต ภายใต้การดูแลของพี่สาว “สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา” ณ วันนี้ ก็อยากให้ภาพใหญ่ขึ้น จึงมีการต่อยอดโครงการออกมาเป็น โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน และจะขยายโครงการช่วยเหลือสังคมออกไปตามกำลังความสามารถที่เรามี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในสังคมต่อไป