ข่าว

เก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูงก่อนสุขภาพย่ำแย่

เก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูงก่อนสุขภาพย่ำแย่

29 เม.ย. 2559

เก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูงก่อนสุขภาพย่ำแย่ : บทความพิเศษ โดยวนาลี จันทร์อร่าม

               น้ำตาลเป็นส่วนประกอบของอาหารที่หากบริโภคมากไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น องค์การอนามัยโลกจึงได้มีคำแนะนำว่าบุคคลไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัม/วัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากน้ำตาล เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด หรือควรบริโภคในปริมาณไม่เกิน 25 กรัมต่อวัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง

               จากข้อมูลใน พ.ศ.2554 พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาล 100 กรัมต่อคนต่อวัน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล (Sugar sweetened beverages: SSBs) ถูกจัดว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว ให้พลังงานแก่ร่างกายจำนวนมากแต่ไม่ให้สารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ หรือให้น้อยมาก

               ในแง่ของการก่อโรคนั้นมีหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ชัดว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนอื่นๆ เช่น เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น การห้ามการจำหน่ายในโรงเรียน การควบคุมการโฆษณาที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก และการจัดเก็บภาษี

               แต่คนไทยกลับนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลพบว่าภายในเวลา 5 ปี จาก พ.ศ.2546-2552 มีการบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 31.6% ซึ่งประมาณว่าใน พ.ศ.2552 ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลของคนไทยจัดอยู่ในอันดับ 9 จาก 52 ประเทศที่ทำการสำรวจ รองจากสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ตุรกี จีน เยอรมัน บราซิล อิตาลี และสเปน

               ความนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัญหาทางด้านสุขภาพที่สำคัญอันดับต้นๆ

               จากข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานบริการสุขภาพของรัฐ พบว่าใน พ.ศ.2548-2556 อัตราผู้มารับบริการต่อประชากรแสนคนของโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นจาก 165.7 เป็น 435.1 โรคหลอดเลือดสมอง 151.5 เป็น 366.8 และโรคหัวใจขาดเลือด 380 เป็น 1,081.2 จึงอาจเป็นไปได้ว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมีส่วนในการเพิ่มการเกิดโรคดังกล่าวในคนไทย

               ในประเทศไทย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังก่อให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะเป็นอันดับต้นๆ และยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล มาตรการราคาและภาษีเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าได้ผลดีในการจัดการปัญหายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความคุ้นทุนประสิทธิผล มีต้นทุนต่ำ และสามารถขยายผลได้

               ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจึงมีแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีอาหารเพื่อจัดการกับปัญหาโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งผลจากการรวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกพบว่าการจัดเก็บภาษีอาหารส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งคาดว่าจะส่งผลลดการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ วิธีการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการจัดเก็บภาษีอาหาร คือการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เนื่องจากมีเหตุผลทางโภชนาการที่เพียงพอสำหรับจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีและง่ายต่อการจัดเก็บ

               ในขณะนี้มีหลายประเทศที่จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ประเทศฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฟิจิ เม็กซิโก เฟรนช์โพลีนีเซีย กัวเตมาลา ฮังการี นอร์เวย์และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา โดยการเก็บภาษีมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ พ่วงด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ซึ่งมีบางส่วนใช้ปริมาณน้ำตาลเป็นเกณฑ์การจัดเก็บ

               ดังนั้นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจึงอาจเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ควรมีการดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะมีศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพแล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม