
ไม่มีประชามติร่างรธน.?
ไม่มีประชามติร่างรธน.? : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวเนชั่น
สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้เริ่มส่อสถานการณ์วุ่นวาย หลังจากที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับ
เกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมาย เริ่มตั้งแต่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรณี กกต.ได้พบการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยกลุ่มกองทุนกลุ่มหนึ่งใน จ.ดขอนแก่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง ปลุกระดม เจตนาส่งเสริมให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายผิด มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ มีโทษจำคุกถึง 10 ปี
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวประชาชนจำนวน 10 คน โดย 8 คนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอีก 2 คนใน จ.ขอนแก่น อ้างว่าในเบื้องต้น พฤติกรรมการใช้สื่อเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2520 และผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ทำการยุยง ปลุกปั่นส่วนจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 หรือไม่นั้น กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
หลังจากนั้นได้มีกลุ่มคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ทหารบุกจับดังกล่าว นำโดยนายอานนท์ นำภา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และเพื่อน ที่ร่วมทำกิจกรรมกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนัดหมายประชาชนมายืนเฉยๆ และถูกตำรวจจับกุมไปที่ สน.พญาไท รวม 16 คน แต่ปล่อยตัวในเวลาต่อมา
ขณะที่ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ เพราะในจำนวน 10 คนที่ถูกทหารควบคุมตัว มี 2 คนที่เป็นผู้ทำงานดูแลเฟซบุ๊กของนาย “จตุพร” และบอกว่า เมื่อมาเล่นงานคนของตน เท่ากับต้องการเล่นงานตน หากทหารอยากหาเรื่อง ให้มาหาเรื่องกับตน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีตำรวจ ทหาร เข้าตรวจค้นบ้านพักของ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และบ้านพักของนายวีระกร คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทย ที่ จ.นครสวรรค์ อีกด้วย
ด้าน “พรรคเพื่อไทย” ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล และ คสช. ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ในมาตรา 7 และมาตรา 61 ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์ อภิปรายแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตน ไม่ว่าจะในทางเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่
สดๆ ร้อนๆ ยังมี “กลุ่มหน้ากากขาว” เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่ง “กลุ่มหน้ากากขาว” ก่อนหน้านี้ได้เคยออกมาต่อต้าน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และ “ระบอบทักษิณ”
เหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมดอาจจะมีการ "วางแผน” ให้เกิดขึ้น ซึ่ง "คนวางแผน" ก็เป็นไปได้หลายฝ่าย และอาจมีเป้าหมายที่ต่างกันไป
แต่เมื่อมันวุ่นวายก็อาจเข้าล็อก คสช. ที่หลังสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกมาพูดค่อนข้างชัดเจนว่า “ถ้ามีความวุ่นวายมาก การทำประชามติอาจต้องยุติ ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ เหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่ตีกันจนเลือกตั้งไม่ได้”
แม้ว่า ณ เวลานี้ จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แต่ใครจะกล้ายืนยันได้ว่า “ประชามติ” จะมีขึ้นแน่