ข่าว

‘ศรีวราห์’ตรวจสำนวน8มือโพสต์วิจารณ์ประชามติ

‘ศรีวราห์’ตรวจสำนวน8มือโพสต์วิจารณ์ประชามติ

28 เม.ย. 2559

‘ศรีวราห์’ตรวจสำนวนคดี 8 ผู้ต้องหาโพสต์ วิจารณ์ประชามติ ตาม พ.ร.บ.คอมฯ ‘สมชัย’ยันไม่ผิดดำเนินคดีเพจป่วนประชามติ สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการ‘ร่างพ.ร.บ.คอมฯ

             28เม.ย.2559 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางมาตรวจสำนวนคดี ที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาแจ้งความดำเนินคดีกลุ่มแอดมินเพจเฟซบุ๊ก 8 คน ที่โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 หลังจากจับกุมทั้ง 8 คน มาสอบสวน ที่ มทบ.11 เมื่อวานที่ผ่านมา (27เม.ย.) ซึ่งขณะนี้มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย เดินทางมายังกองปราบปราม เพื่อร่วมสอบสวน พร้อมกันนี้ พนักงานสอบสวน ได้ประสานแพทย์ให้มารอตรวจร่างกายผู้ต้องหาขณะที่ญาติของทั้ง 8 คน พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมารอเยี่ยม และร่วมฟังการสอบสวน

 

ทหารนำตัว8ผู้ต้องหาส่งตำรวจ

              ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายคสช. พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2รอ.ในฐานะฝ่ายกฎหมายคสช. นำตัว นางสาวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือนัท, นายนพเก้า คงสุวรรณ, นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน, นายโยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย, นายธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี, นายศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี, นายหฤษฏ์ มหาทน อายุ 27 ปี และ นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร เลขที่ 24-32 /2559 ในข้อหา มาตรา116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มายังบก.ป. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมตรวจร่างกายโดยแพทย์รพ.ตำรวจ ซึ่งมีพล.ต.อ.ศรีวราห์ พร้อม พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.ผอ.สยศ.ตร. พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.สยาม บุญสม รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผกก.(สอบสวน)บก.ป. ขณะที่นายชัยธัช รัตนจันทร์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเดียวกันนั้น เบื้องต้นทราบข้อมูลว่าอยู่ต่างประเทศ

              อย่างไรก็ตามขณะนี้ตำรวจอยู่ระหว่างสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ก่อนจะนำไปควบคุมตัวที่สน.พหลโยธิน จากนั้นจะนำตัวไปฝากขังศาลทหารในวันที่ 29 เมษายนนี้


29เม.ย.ศาลอาญานัดฟังคำสั่งญาติร้องขอปล่อยตัว

              ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และบิดา-มารดา กับญาติของนายนพเก้า คงสุวรรณ กับพวกรวม 4 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวไว้ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทหารปล่อยตัว นายนพเก้า กับพวกรวม 4 คน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญามาตรา 90 เกี่ยวกับการคุมขังโดยมิชอบ ภายหลังถูกคุมตัวไปที่ เรือนจำชั่วคราวมทบ.11

              ต่อมา เวลา 15.00 น.ศาลไดไต่สวนพยานผู้ร้อง โดยทนายความผู้ร้อง แถลงศาลว่า ขณะนี้ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวได้เดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามเนื่องจากทราบว่า จะมีการนำตัวผู้ถูกควบคุมไปแถลงยังกองปราบ จึงขอให้ศาลไต่สวนทนายความผู้ร้องแทน ศาลพิจารณาแล้วจึงได้ไต่สวนทนายผู้ร้องทั้ง 2 ปากโดยนัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

   
'สมชัย'ยันดำเนินคดีเพจป่วนประชามติไม่ผิดก.ม.

             นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงว่า ตนได้คุยโทรศัพท์กับนายอุดม รัฐอมฤติ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หลังมีข่าวว่าออกมาระบุว่าตนทำผิดกฎหมายในกรณีที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประชามติ โดยได้รับการยืนยันจากนายอุดมว่าไม่ได้พูดตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้การแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นสามารถแยกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มแรกการคัดค้านการออกเสียงประชามติเนื่องจากมีการทุจริต กรรมการไม่เป็นกลาง มีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้จัดการออกเสียงใหม่ในบางพื้นที่ ซึ่งจะต้องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ส่วนเรื่องทำผิดอาญาไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ดังนั้นการที่ตนไปแจ้งความจึงไม่ผิดกฎหมายตามที่มีการกล่าวหา และประชาชนก็สามารถใช้สิทธิดำเนินคดีได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน

             นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีข่าวว่าตนถูก กกต.คนอื่นตำหนิว่าออฟไซด์ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการพูดเรื่องนี้ โดยยืนยันว่ากกต.ทุกคนเข้าใจตรงกัน อย่างไรก็ตามหลังการประชุม กตต.พรุ่งนี้ (29 เม.ย.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้งด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย จะได้ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำความผิดผ่าน กกต.ว่าสามารถทำในช่องทางใดได้บ้าง นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาร่างประกาศกกต.เกี่ยวกับแนวทางที่สามารถทำได้หรือไม่ได้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อสังคม

             “เพจที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ใช้ถ้อยคำหยาบคายจนไม่สามารถเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนได้ ซึ่งหากกระทำโดยตัวบุคคลก็ไม่เท่าไหร่ แต่นี่กระทำเป็นกลุ่ม องค์กรที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมจึงควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะต้องเป็นแบบอย่างไม่ควรมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” นายสมชัย กล่าว

             นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้กระทำผิดได้เมื่อวานนี้(27เม.ย.) จึงถือว่าจบแล้วเพราะรับสารภาพว่าโพสต์ข้อความด้วยตัวเองเนื่องจากไม่พอใจกับบรรยากาศทางการเมือง และไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่กระบวนการสอบสวนต้องดำเนินการต่อเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งถือเป็นคดีตัวอย่างว่าการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับหากใช้เหตุผลสามารถทำได้ แต่ถ้าใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง เชื่อมโยงไปยังเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็เข้าองค์ประกอบความผิด จึงเป็นอุทธาหรณ์แก่ประชาชนทั่วไป โดยหวังว่าการใช้ถ้อยคำรุนแรงจะหมดไป เพราะบรรยากาศขณะนี้ไม่ดีมีการใช้คำรุนแรงโดยไม่รับผิดชอบจึงอยากให้เปลี่ยนเป็นสังคมที่ใช้เหตุผล และยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ

             นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าทหารจังหวัดนครสวรรค์แจกใบปลิวรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องตรวจสอบก่อนโดยจะรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่พบความผิดเองแต่เป็นการนำเสนอโดยสื่อมวลชน ทั้งนี้กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วย แม้จะออกความเห็นในนามส่วนตัวก็ต้องระมัดระวังเรื่องตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องระมัดระวังด้วยโดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

             ทั้งนี้ นายสมชัย ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้องค์กรต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การลงประชามตินั้น เป็นการชี้นำหรือกดดัน กกต.หรือไม่ โดยนายสมชัย กล่าวยืนยันว่า กกต.จะพิจารณาตามกฎหมายซึ่งจะต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อตัดสินใจร่วมกัน อย่างไรก็ตามหากต่างชาติเข้ามาดูก็ถือว่าเป็นเรื่องโปร่งใส เรียนรู้ระบบงาน ไม่ถือเป็นการแทรกแซง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน


สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการ‘ร่างพ.ร.บ..คอมพิวเตอร์’

             ที่รัฐสภามีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามที่ครม.เสนอ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้ทันต่อรูปแบบการกระทำผิดที่ซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มี 19 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มเติมฐานความผิดและกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้หนักขึ้น อาทิ กรณีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเลคทรอนิคส์แก่ผู้อื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์ เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษไม่เกิน 2 แสนบาท หรือกรณีการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตลอดจนข้อมูลลักษณะลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนกรณีการตัดต่อภาพผู้อื่น อันทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท รวมถึงเพิ่มเติมโทษแก่ผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์ที่ร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของตน นอกจากนี้ กรณีความผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับจำนวน 3 คน ที่รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อได้ชำระค่าปรับแล้วให้ถือว่าคดีนั้น สิ้นสุดลง โดยไม่ต้องนำคดีไปศาล

             นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า มาตรา 15 ที่ให้รัฐมนตรีออกประกาศขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่า ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรี ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้น เห็นว่าควรเป็นกระบวนการพิจารณาทางศาลเท่านั้น เพื่อความรอบคอบ และเป็นสากล เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องมีความน่าเชื่อถือ

             ขณะที่ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า การเพิ่มโทษกรณีผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเลคทรอนิคส์แก่บุคคลอื่น อันเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาทนั้น ต้องมีลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไร การเสนอโทษปรับไว้สูงมีหลักการแนวคิดอย่างไร เพราะมีข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการกระทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น ไม่น่าจะเสียหายมาก และกังวลว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพมากไปหรือไม่ บางครั้งจะตีความอย่างไรในการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เพราะระดับความรำคาญของคนไม่เท่ากัน และอาจถูกตีความไปในทางละเมิดสิทธิมนุษยนชนได้

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สมาชิกสนช.อภิปรายเสร็จแล้ว ที่ประชุมรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 160 ต่อ 0เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ15 คนเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป