ข่าว

สอบทุจริตโครงการอุดกลบบ่อบาดาล

สอบทุจริตโครงการอุดกลบบ่อบาดาล

28 เม.ย. 2559

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตั้งกรรมการสอบทุจริตโครงการอุดกลบบ่อบาดาล

              28เม.ย.2559 นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดผยว่า ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการอุดกลบบ่อน้ำบาดาล ปีงบประมาณ 2557 ทั้งโครงการจำนวน 4,886 บ่อทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งเเต่ระดับปฎิบัติที่เกี่ยวกับการดำเนินการอุดกลบบ่อ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกงบ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ หากพบมีความผิดก็จะถูกลงโทษทางวินัยที่มีระเบียบขั้นตอน ควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ท. ในการตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องเอกสารที่ครอบคลุมทั้ง 4,886 บ่อทั่วประเทศ ซึ่งทางกรมฯ ได้สั่งการไปยังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขตพื้นต่างๆ ทั่วประเทศ อำนวยความสะดวกเเละให้ความร่วมมือในการมอบเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ที่เข้าตรวจสอบ อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้ดำเนินการรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ให้มีการเปลี่ยนเเปลง หรือ ทำลายไปเพราะเป็นเอกสารสำคัญ นอกจากนั้น กรมฯ จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกรณีที่ต้องมีการเปิดเเท่นซีเมนต์ปากบ่อที่มีการอุดกลบที่ได้ตรวจสอบความต่อเนื่องของซีเมนต์ในเส้นท่อ เพื่อยืนยันวิธีการอุดกลบที่ผ่านมา เเละการเจาะเก็บตัวอย่างซีเมนต์ในเส้นท่อ

              อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยืนยันว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ได้วางมาตรการต่างๆ ในการกำกับ ควบคุมทั้งในเรื่องขั้นตอนการอุดกลบบ่อน้ำบาลที่ต้องได้มาตรฐาน หรือ TOR โดยการดำเนินงานเริ่มตั้งเเต่การสำรวจว่า เเต่ละพื้นที่มีบ่อน้ำบาดาลอยู่จุดไหน บ่อมีความลึกเท่าไหร่ รวมทั้งการทำหนังสือยินยอม เพราะบางพื้นที่ที่เป็นที่ที่มีเจ้าของ ในหนังสือรายงานผลก็ต้องมีชื่อผู้ปฎิบัติการ เเละ ผู้อำนวยการเขตลงนาม เเละมีพยานถึง 4 คน ทั้ง เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องร่วมกันลงนามในรายงานการปฎิบัติงาน นอกจากนั้นก็ยังมีการรายงานที่ประกอบไปภาพถ่ายตั้งเเต่ ก่อนดำเนินงาน ระหว่างดำเนินงาน เเละหลังดำเนินงาน ทุกอย่างได้เตรียมการไว้เป็นอย่างดี

              รายงานข่าวเเจ้งว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ท.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสุ่มตัวอย่างด้วยการสำรวจบ่อที่ทำการอุดกลบเเล้วในพื้นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม ชลบุรี และนครปฐม เชียงใหม่ ระยอง พบพยานบุคคลเเละหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ถึงพฤติกรรมที่อาจจะทุจริตของเจ้าหน้าที่เเละผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของการอุดกลบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือ TOR โดยการใช้วัสดุซีเมนต์ผสมกับวัสดุอื่นเทกรอกลงไปจากปากบ่อเพียงตื้นๆ หรือ ทำเพียงเเท่นปูนปิดปากบ่อ โดยไม่อุดกลบลงไปในเส้นท่อ การตรวจสอบดังกล่าว ป.ป.ท.ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญโดยใช้เครื่องมือ seismic test ตรวจสอบความต่อเนื่องของซีเมนต์ในเส้นท่อ ซึ่งมีผลบ่งชี้จากเครื่องมือที่ปรากฎเป็นกราฟ ซึ่งในหลายพื้นที่พบข้อพิรุธ โดย ป.ป.ท.เชื่อว่า ในเขตพื้นที่อื่นน่าจะพบการทุจริตอีกหลายพื้นที่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน

              พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี คณะกรรม ป.ป.ท.เปิดเผยว่า ในจังหวัดขอนเเก่น ที่มีประชาชนร้องเรียนเข้ามายัง ป.ป.ท. ว่ามีการทุจริตจากโครงการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเปิดเผยขั้นตอนวิธีการกระทำผิด เริ่มตั้งเเต่ สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 จังหวัดขอนเเก่นได้ทำการสำรวจบ่อที่จะอุดกลบ จำนวนทั้งหมด 10 บ่อ พร้อมระบุพิกัด เเละทำการตั้งงบเบิกเงินในลักษณะเป็นก้อนในคราวเดียวกัน ขณะที่ขั้นตอนของการอุดกลบ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท ทำการตรวจสอบ พบการอุดกลบไม่ได้มาตรฐานตาม TOR โดยมีการลดขั้นตอนในการปฎิบัติเเละใช้เวลาน้อยลง จากปกติการดำเนินการอุดกลบต้องทำถึง2 วัน เเต่ผู้ปฎิบัติเข้าไปทำเพียง1-2 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการใช้หินเป็นส่วนผสม เเละใช้เเผ่นเหล็กปิดทับก่อนเทปูน

              พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท ตรวจพบการปลอมเอกสารประกอบฎีกา เบิกงบประมาณ โดยเฉพาะใบเสร็จจากการซื้อวัสดุ เช่นปูน จากร้านท่าสองคอนค้าวัสดุ ที่มีลักษณะของการปลอมเเปลงใบเสร็จที่มีรูปเเบบที่เเตกต่างจากใบเสร็จของร้าน รวมทั้งไม่มีการระบุยี่ห้อ เเละราคาปูน รวมทั้งมีการจัดทำใบเสร็จขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เช่น ใบเสร็จการเติมน้ำมันจากสถานีบริการน้ำมัน ชื่อบริษัทสารคามวิศวกิจ จำกัด จากการตรวจสอบพบ รูปแบบจากใบเสร็จที่ใช้เบิกจากฎีกาเเตกต่าง เเต่ลำดับเลขในใบเสร็จตรงกัน เเละใบเสร็จจากการซื้อน้ำมันจาก บริษัท พิริยะกิจ(1994) จำกัด ซึ่งมีรูปเเบบจากใบเสร็จที่ใช้เบิกจากฎีกา เเตกต่างจากใบเสร็จปั้มที่ออกให้กับลูกค้า ราคาน้ำมันที่ใช้เบิกในใบเสร็จที่ใชเบิก เเตกต่างจากราคาน้ำมันรายวัน ซึ่งหลักฐานเหล่านี้เจ้าหน้าที่ได้มีการบันทึกปากคำพยานเจ้าของกิจการยืนยันเเล้วว่า ไม่ใช้บิลที่ออกจากร้านค้า พล.ต.อ.จรัมพร ยังกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ป.ป.ท อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานจาก ป.ป.ท เขตพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ในการเปิดเเท่นซีเมนต์ปากบ่อที่มีการอุดกลบที่ได้จากการตรวจสอบความต่อเนื่องของซีเมนต์ในเส้นท่อ เพื่อยืนยันวิธีการอุดกลบที่ผ่านมา รวมทั้งทำการเจาะเก็บตัวอย่างซีเมนต์ในเส้นท่อ (Coring) ส่งตรวจพิสูจน์หลักฐานในห้องปฎิบัติการ เพื่อยืนยันส่วนผสมของซีเมนต์กับวัสดุ หรือไม่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ดำเนินคดีกับผู้ทุจริต

 

กรมชลฯเสนอสร้างเขื่อนแม่วงก์แก้แล้ง

 
              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกัง เปรียบเทียบระหว่างบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ ใน อ.แม่เปิน และ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ บริเวณรับน้ำจากห้วยแม่วงก์ ที่มีความต้องการสร้างเขื่อน โดยดร.สมเกียรติ บอกว่า อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ ขนาดกักเก็บน้ำ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเหลืออยู่ 50 ล้านลูกบาศก์เมตรเพียงพอให้เกษตรกรบริเวณไกล้เคียงมีน้ำทำการเกษตร และผลิตน้ำประปา แต่อีกพื้นที่ใน อ.ลาดยาว ซึ่งรับน้ำจากห้วยแม่วงก์ที่เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำสะแกกังพบว่าฝายชะลอน้ำขนาดเล็กแห้งขอด ชาวบ้านบริเวณนั้นไม่มีน้ำทำการเกษตร และได้รับรายงานจาก อบต.แม่วงก์ว่า น้ำดิบผลิตน้ำประปาเหลือน้อย หากสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่ได้ จะขออาศัยน้ำจากอ่างเก็บคลองโพธิ์ เป็นสถานีประปาส่วนภูมิภาคในระยะยาว

              รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกอีกว่า พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกัง เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากโดยใน 10 ปี จะแล้ง 3 ปีหรือมากกว่านั้น จากปัจจัยทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า ฝนตกน้อย และความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนช่วงน้ำหลากน้ำก็ท่วมบ้าน สวน ไร่นา ประชาชนจึงมีความต้องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อแก้ไขปัญหา แต่กลับถูกเอ็นจีโอคัดค้าน

              ดร.สมเกียรติ บอกด้วยว่า ส่วนการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น แม้ว่าเขื่อนแม่วงก์ เป็น 1 ใน 8 เขื่อนตามบัญชีแนบท้าย คำสั่ง ม.44 ให้สร้างโดยหาผู้รับเหมาไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แต่ก็ติดปัญหาว่าพื้นที่โครงการ เป็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงหาผู้รับเหมาไม่ได้ ขณะที่การทำรายงานอีไอเอปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติ่มเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้และสัตว์ป่า แต่คชก. ไม่ต้องการข้อมูลที่กรมชลประทานศึกษา แต่ต้องการได้ข้อมูลจากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งกรมชลประทานได้ทำเรื่องไปขอข้อมูลแล้ว และได้รับคำตอบจากทั้งสองกรมว่า ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์.


กรมประมงขอคืนพื้นที่บึงบอระเพ็ด 6.5หมื่นไร่

              นายบุญยืน พฤกษโชค   ประมงจังหวัดนครสวรรค์    บอกว่า  บึงบอระเพ็ดกำลังเผชิญกับปัญหาตะกอนทับถม  ทำให้พื้นที่รับน้ำตื้นเขิน และการบุกรุกของประชาชน ทำให้พื้นที่รับน้ำมีน้อยลง   โดยบึงบอระเพ็ดที่เคยมีเนื้อที่  132,651 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอใน จ.นครสวรรค์  คือ อ.เมือง อ.ท่าตะโก และ อ.ชุมแสง แต่การสำรวจครั้งล่าสุด ถูกครอบครอง  5,653 แปลง กินเนื้อที่ประมาณ 65,410 ไร่ ขณะนี้ได้ประสานกับกรมที่ดินเพื่อพิสูจน์สิทธิ โดยที่ดินของบึงบอระเพ็ดเป็นที่ราชพัสดุ  จะครอบครองไม่ได้ นอกจากนี้ หลังจากที่มติครม. อนุมัติงบ  100 ล้านบาท เพื่อขุดลอกบึงบอระเพ็ด บริเวณสะดือบึง   400 ไร่ จะนำดินส่วนนี้มาทำคันดินให้สูงขึ้น ตามเขตบึงเดิมเพื่อ แก้ไขปัญหาการบุกรุก

              นายบุญยืน บอกอีกว่า การบุกรุกได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2500 โดยพื้นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากการทำนาชั่วคราว แต่ต่อมาได้จับจองพื้นที่อยู่อาศัย ขยายครอบครัวจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ อยู่ในเขต อ.ชุมแสง ยากต่อการขอคืนพื้นที่ เพราะชาวบ้านอยู่มานาน และปัญหายิ่งซับซ้อนมากขึ้น  เมื่อมีนายทุน ผู้มีอิทธิพล ใช้คนจนบังหน้าบุกรุกที่ดิน แต่ความจริงต้องการสร้างรีรอส์ท   ส่วนผลกระทบด้านพันธุ์ปลาน้ำจืดในบึงที่เคยพบถึง 200 สายพันธุ์ ปัจจับันพบ 100 สายพันธุ์ โดยเฉพาะปลาเสือตอที่เคยมี ได้สูญพันธุ์ไปจากบึงบอระเพ็ดแล้ว

               ด้านดร.สมเกียรติ   ประจำวงษ์    รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า  ได้รับมอบหมายจาก ครม. ให้ดูขอบเขตและพื้นที่ของบึงบอระเพ็ดที่เหมาะสม ซึ่งหากบึงบอระเพ็ดมีพื้นที่ 94,538 ไร่ จะสามารถรับน้ำได้ 318 ล้านลูกบาศก์เมตร  ในขณะที่ปัจจุบัน บึงบอระเพ็ดมีพื้นที่ 39,050 ไร่ สามารถเก็บน้ำ ได้เพียง 78.76 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น หากขยายพื้นที่บึงบอระเพ็ด และแก้ไขปัญหาบึงตื้นเขิน รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ได้จ.นครสวรรค์  จะไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง