ข่าว

อย่า..ปิดกั้นประชามติร่างรธน.

อย่า..ปิดกั้นประชามติร่างรธน.

27 เม.ย. 2559

อย่า..ปิดกั้นประชามติร่าง รธน. : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวเนชั่น

              วันศุกร์ที่ 29 เมษายนนี้ “ศุภชัย สมเจริญ” ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้แถลงถึงแนวทางปฏิบัติว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมไปกับมีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย

              แต่สิ่งที่ผู้คนห่วงใยในการทำประชามติในครั้งนี้ ก็คือ การปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้ประชาชนลงประชามติว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ”

              เมื่อวันก่อนก็มี “เครือข่ายประชาสังคม” ร่วมกันลงชื่อนับร้อยรายชื่อ เคลื่อนไหวออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้กระบวนการทำประชามติต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมในทุกขั้นตอน และต้องเปิดให้มีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นและไม่เห็นด้วย ได้ถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้านประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริตและอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วยเหตุผลและมาตรการทางความมั่นคง รวมถึงการนำผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปปรับทัศนคติ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยังเป็นการลดความชอบธรรมของกระบวนการทำประชามติอีกด้วย

              เช่นเดียวกับ 4 สมาคมสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต.แสดงความห่วงใยต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ว่ามีบทบัญญัติที่อาจจะกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน ในการเผยแพร่และนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ข่าวสารความคิดเห็น และความเคลื่อนไหวการทำประชามติ

              ทั้ั้งนี้ การที่ “เครือข่ายประชาสังคม” และ “สมาคมสื่อ” ออกมาแสดงความกังวล ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะความคลุมเครือไม่ชัดเจนของมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการตัดคำว่า “รณรงค์” ออกจากร่างกฎหมาย ทำให้มีปัญหาตามมาทันทีว่า อะไรถือว่าเป็น “การแสดงความคิดเห็น” ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ และอะไรถือว่าเข้าข่าย “รณรงค์” ที่หมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย

              อีกทั้งในมาตรา 61 วรรคสอง ที่ระบุว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรงก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมีโทษหนัก จำคุกไม่เกิน 10 ปี...ปัญหาที่ตามมาก็คือ การกระทำในลักษณะใด ที่เข้าข่าย รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ที่เป็นความผิดตามกฎหมาย

              ทั้งหมดเหล่านี้ กกต.ต้องสร้างความชัดเจน อย่าปล่อยให้มีช่องโหว่ เพราะหากกฎกติกาเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่โปร่งใส ผลลัพธ์ที่ออกมาเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับไปด้วย

              อย่างที่เห็น ตอนนี้ก็มี “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล และ กกต. เปิดให้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรนานาชาติ มาสังเกตการณ์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

              แต่ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ ไม่ว่าจะเป็น คสช. รัฐบาล หรือ กกต. ทำให้การทำประชามติในครั้งนี้ เป็นไปอย่างเปิดกว้าง โปร่งใส เป็นธรรม การเข้ามาสังเกตการณ์ขององค์กรต่างชาติในการทำประชามติิร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด