ข่าว

เชิดชู4ศิลปิน‘รางวัลคึกฤทธิ์’

เชิดชู4ศิลปิน‘รางวัลคึกฤทธิ์’

27 เม.ย. 2559

ไลฟ์สไตล์ : เชิดชู 4 ศิลปิน ‘รางวัลคึกฤทธิ์’

 
       มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือฤกษ์ 20 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ศ.พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จัดงานประกาศผลรางวัล “วันคึกฤทธิ์” เพื่อระลึกถึงและสืบทอดเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้เคียงอยู่เป็นมรดกชาติต่อไป ทั้งนี้ได้มีการคัดเลือกศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างคุณูประโยชน์แก่ชาติ เข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติความดีในทุกๆ ปี ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 ในรูปแบบของโครงการอนุเคราะห์ศิลปิน และปรับเปลี่ยนมาเป็น รางวัลศิลปินคึกฤทธิ์ในปี 2553 กระทั่งปัจจุบันปี 2559 ได้มีมีมติพิจารณาเปลี่ยนชื่อ “รางวัลศิลปินคึกฤทธิ์” เป็น “รางวัลคึกฤทธิ์”
 
       ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80ฯ กล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ว่า ทางสถาบันเล็งเห็นว่าคนทำงานเบื้องหลังนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะทำให้งานต่างๆ ประสบผลสำเร็จ ทั้งยังเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลงานน่าชื่นชมและเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะไทย จึงมีการพิจารณาเปลี่ยนชื่อเป็น “รางวัลคึกฤทธิ์” ซึ่งไม่เฉพาะศิลปินเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเหล่าคนทำงานเบื้องหลัง ผู้มีผลงานโดดเด่น สอดคล้องกับแนวคิดหรือแนวทางการส่งเสริมที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ดำเนินการไว้ให้มีโอกาสถูกพิจารณาเสนอชื่อเข้ารับรางวัลคึกฤทธิ์ได้เช่นกัน โดยศิลปินที่ได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี2559 ได้แก่ สงบศึก ธรรมวิหาร สาขาดุริยางค์ไทย, วรางคณา วรรณประเก สาขานาฏศิลป์ และ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา สาขาศิลปะการแสดง และในโอกาสนี้ได้มีการเพิ่มรางวัล “สาขาวรรณศิลป์” ขึ้นเป็นปีแรก โดยพิจารณาเลือก ดารกา วงศ์ศิริ ให้ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้
 
       หลังจากรับรางวัลแล้ว อ.สงบศึก ธรรมวิหาร กล่าวว่า รู้สึกว่าภาคภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพราะผมนิยมนับถือหม่อมคึกฤทธิ์มานานแล้ว ตอนแรกก็อ่านหนังสือท่านและก็มาร่วมกันทำโขนธรรมศาสตร์เลยสนิทสนมกัน สำหรับเด็กรุ่นใหม่วันนี้ผมดูเขามีความรักทางด้านศิลปะดนตรีไทยมาก ถ้าปลูกฝังอะไรให้เขารักแล้วไม่มีพลาด แต่อีกอย่างก็ขึ้นอยู่ที่ดวงของชาติด้วยนะ เพราะสิ่งเร้ามันเยอะเดี๋ยวเกาหลีมา อะไรมา ก็อาจทำให้เขามองข้ามไป
 
       ด้าน อ.วรางคณา วรรณประเก เผยว่า รู้สึกดีใจเป็นปลื้ม เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลมาก ปัจจุบันเด็กก็ให้ความสนใจในการเรียนการแสดงและดนตรีไทยเยอะ ทำให้มรดกภูมิปัญญาเหล่านี้ได้รับการสืบทอดต่อไป อีกอย่างก็ไม่อยากให้เด็กสนใจโซเซียลมากนัก พอวันอาทิตย์เขามาเรียนการแสดงและคนตรีไทยกับทางสถาบันคึกฤทธิ์ก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะที่นี่ก็เรียนฟรี เด็กๆ สนุกสนานกับการฝึกซ้อม และก็ได้แสดงออก ก็นับว่าเป็นการตอบรับจากเด็กๆ ที่จะเป็นผู้สืบต่อลมหายใจของศิลปะไทยได้อย่างดีเยี่ยม
 
       ทั้งนี้นอกจากบรรยากาศในงานที่เต็มไปด้วยความปิติยินดีของศิลปินและบุคคลที่ได้รับการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแล้ว ทางมูลนิธิคึกฤทธิ์ยังมีการแสดงจากศิลปินคึกฤทธิ์ คณะครู และศิษย์จากสถาบันคึกฤทธิ์ ให้แขกผู้มาเยือนได้ชื่นชมการแสดงอันงดงาม เช่น รำถวายมือบูชาครู, บรรเลงดนตรี เพลงแขกสาหร่าย (ประพันธ์เนื้อร้องโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) รำคล้องหงส์ โดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนราธรรมนิตย์)