ข่าว

‘ส่องปัญหาโสเภณีเด็ก’บ้านแตกทำเด็กชนบทถลำลึกเข้าสู่วงจร

‘ส่องปัญหาโสเภณีเด็ก’บ้านแตกทำเด็กชนบทถลำลึกเข้าสู่วงจร

26 เม.ย. 2559

‘ส่องปัญหาโสเภณีเด็ก’บ้านแตกทำเด็กชนบทถลำลึกเข้าสู่วงจร : กวินทรา ใจซื่อ

             การค้าประเวณีเด็กในอดีต เป็นลักษณะของพ่อแม่ส่งลูกไปขายตัวเพื่อชดใช้หนี้สิน ที่เรียกว่ารูปแบบของการ “ตกเขียว” แต่เมื่อผ่านยุคสมัยที่คนมีการศึกษามากขึ้น มีโอกาสในการทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต การตกเขียวเด็กสาวเริ่มหายไป แต่การค้าประเวณีไม่ได้หมดไป เพียงแต่พัฒนารูปแบบไปตามสมัย เบื้องต้นพบว่าเด็กมาจากครอบครัวที่มีปัญหา เด็กพ่อแม่แยกทางกัน ติดยาเสพติดหรือการพนัน หรือเด็กใจแตกมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนชายกันมาแล้ว เด็กสาวกลุ่มนี้กลับก้าวเดินเข้ามาในวงจรการขายตัวมากขึ้น และนับวันโลกของการสื่อสารที่เปิดเผย เข้าถึงง่าย ยิ่งเป็นสิ่งผลักเร้าให้เกิดโสเภณีเด็กอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเด็กๆ ในชนบท

             “โสเภณีเด็ก” สะท้อนความอ่อนแอของสังคมชนบท ที่ซับซ้อนและแก้ไขได้ยากขึ้น การแก้ไขปัญหาต้องขอความร่วมมือแกนนำในชุมชน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ครู และที่สำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กต้องช่วยกันดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ด้วยการปรับความคิดของเด็กให้อยู่ในกรอบสังคมที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้มีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้

             จากประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี “พ.ต.ท.ชูศักดิ์ อภัยภักดี” รองผู้กำกับการสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ระบุว่า สถานการณ์โสเภณีเด็กพบมากทางภาคอีสาน จังหวัดตามแนวชายแดน และจังหวัดท่องเที่ยว การค้าประเวณีมาในรูปแบบการชักชวนเด็กโดยการแอบแฝงกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเปิดร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ และร้านนวด เป็นต้น โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบัน กลุ่มเด็กในภาคอีสานและจากประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ซื้อ เมื่อการซื้อขายมาจากความยินยอมทั้งสองฝ่าย ทำให้การปราบปรามการค้าประเวณีเด็กทำได้ยากขึ้น

             “สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เยาวชนในภาคอีสานค้าประเวณีมากกว่าภาคอื่น เพราะภาคอีสานยากจนกว่าทุกภาค ประกอบกับเด็กอยู่ในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ มีแนวคิดเรื่องการบริโภคนิยม แห่ตามแฟชั่น ต้องมีเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า โทรศัพท์เหมือนเพื่อน ทำให้เด็กต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะก้าวเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์”

             คณะทำงานปราบปรามการค้าประเวณีเด็กไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ซื้อบริการเป็นกลุ่มอาชีพใด เนื่องจากเด็กไม่ให้ข้อมูลรายละเอียด โดยให้เหตุผลแค่ว่าตัวเองยินยอมขายบริการเอง บางคนเห็นว่า เป็นเรื่องบุญคุณ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะถือเป็นการหักหลังลูกค้า ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้การทำงานปราบปรามทำได้ยาก กลุ่มผู้ซื้อบริการจึงเป็นกลุ่มที่อยู่ปลายเหตุการณ์ หลบหลีกได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อประเทศเปิดประตูเข้าสู่เออีซีพบว่าปัญหามีความซับซ้อน และพัฒนารูปแบบการกระทำผิดให้เข้าถึงยากขึ้น

             “ก่อนเปิดประเทศ 2 ปี ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเดือนละครั้ง เพื่อหยิกยกปัญหาประเด็นการค้ามนุษย์มาพูดคุย วางแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน จากการพูดคุยพบว่า การเปิดประเทศแบบไร้พรมแดนทำให้ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่าย มีการค้าประเวณีข้ามชาติ การพัฒนาวิธีการกระทำความผิดโดยเฉพาะมีกระแสข่าวว่า ปัจจุบันผู้จัดหามีกลุ่มไลน์ค้ากาม หากใครสนใจสมัครเข้าไปเป็นสมาชิก ระหว่างผู้จัดหากับผู้ค้าจะติดต่อผ่านทางไลน์ โดยไม่ต้องรู้จักกัน ยิ่งทำให้การติดตามจับกุมหรือสาวไปให้ถึงผู้บงการทำได้ยาก หรือหากไปถึงต้นตอแล้ว หากหลักฐานการกระทำผิดมีไม่เพียงพอศาลก็ปล่อยเอาผิดไม่ได้ ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่ทุกฝ่ายหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน”

             ปัจจุบันมีคลิปวัยรุ่นหญิงตบตี ทำร้ายกัน เผยแพร่อยู่ดาษดื่นในโลกโซเชียล ล่าสุดคลิปที่ จ.บุรีรัมย์ เด็กหญิงถูกหญิงวัยรุ่นตบ โดยมีเด็กวัยไล่เลี่ยกันส่งเสียงเชียร์ ทำให้คนในครอบครัวเข้าแจ้งความ และในที่สุดบุคคลในคลิปถูกจับกุม แต่ที่น่าตกใจคือ เหตุของการทำร้ายร่างกายเกิดจากการบังคับค้าประเวณีเด็ก

             เรื่องนี้ทำให้ “พ.ต.อ.สมชัย โสภณปัญญาภรณ์” ผกก.สภ.เฉลิมพระเกียรติ พร้อมทีมสหวิชาชีพ ได้พูดคุยกับเด็กที่อยู่ในคลิปฉาวอายุทั้งหมดราว 14-18 ปี พบข้อมูลว่า เด็กสาวในชนบทปัจจุบันเดินเข้าสู่ถนนสายโลกีย์และธุรกิจค้ากามกันอย่างง่ายดาย สาเหตุจากครอบครัวแตกแยกอยู่กับปู่ย่าตายายที่อายุมากแล้ว เด็กไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อคบเพื่อนติดเพื่อน ก็พากันเที่ยวเตร่ ไม่เรียนหนังสือ ปู่ย่าก็ว่ากล่าวไม่ได้ ขณะที่ในปัจจุบันการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ทุกพื้นที่ เยาวชนจึงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางโลกออนไลน์ได้ง่ายและเร็วขึ้น ภาพการตบตี ภาพไม่เหมาะสมกับวัย แฟชั่น เด็กสามารถโหลดดูได้ทันที กลายเป็นแฟชั่นที่นำเอาไปเป็นแบบอย่าง

             “เมื่อไม่ต้องไปเรียนหนังสือในโรงเรียน เด็กจะใช้ชีวิตจนควบคุมไม่ได้ มีชีวิตประจำวันที่นอนดึกตื่นสาย นอนค้างบ้านเพื่อน เที่ยวกลางคืน แต่งตัวตามแฟชั่น โดยเฉพาะการมีแฟน คู่รัก มีค่านิยมเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การเปลี่ยนแฟน เปลี่ยนคู่นอน เป็นแฟชั่นที่เด็กพูดคุยอวดกัน เมื่อเสียตัวให้แฟนแล้ว การหาเงินใช้ด้วยการหลับนอนกับคนอื่นจึงเป็นเรื่องปกติ ทำให้เด็กเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ไม่ยากนัก สำหรับแม่เล้าที่เป็นธุระจัดหาลูกค้า บางคนเป็นคนที่สนิทคุ้นเคยกันอยู่ในชุมชนเดียวกัน ญาติจึงไว้วางใจว่าลูกหลานไปอยู่กับเพื่อนบ้าน ขณะที่เด็กรู้ว่าคนที่เป็นแม่เล้าอยู่ในชุมชน หากต้องการเงินใช้ต้องไปหาใคร”

             การเข้าสู่เส้นทางการค้าประเวณี เริ่มจากการรู้จักสนิทสนมระหว่างกลุ่มเยาวชนกับแม่เล้าก็จะชักชวนให้ค้าประเวณี เมื่อมีลูกค้าติดต่อมาแม่เล้าจะโทรศัพท์บอกเด็กที่สนใจหรือต้องการใช้เงิน เมื่อใครสนใจจะตกลงเรื่องเงิน สถานที่ บอกสถานที่นัดหมายเพื่อให้เด็กไปพบกับลูกค้า ระหว่างนี้หากเด็กไปพบลูกค้าแล้วเกิดเปลี่ยนใจ สามารถปฏิเสธลูกค้าได้ แม่เล้าก็จะติดต่อเด็กคนใหม่ให้ลูกค้า โดยไม่บังคับ การขายตัวจึงเกิดจากการสมยอมของทุกฝ่าย

             สำหรับโสเภณีเด็กอยู่ในความต้องการของตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ มีในทุกกลุ่มอาชีพ ลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักแม่เล้าเป็นอย่างดี มีการใช้บริการต่อเนื่องจึงมีความไว้ใจกัน ลูกค้าจะแนะนำแบบปากต่อปาก การติดต่อซื้อขายมาจากการยินยอมของทุกฝ่าย ไม่มีการบังคับ

             “เมื่อต้องการซื้อบริการจะติดต่อผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ หรือกล่องข้อความทางเฟซบุ๊กเมื่อตกลงกันได้จะนัดแนะสถานที่ ส่วนใหญ่นัดพบกันที่ศาลาที่พักผู้โดยสาร หรือตามห้างสรรพสินค้า หากเด็กไม่พอใจลูกค้าสามารถปฏิเสธได้ แม่เล้าก็จะเปลี่ยนตัวเด็กจนกว่าจะพอใจกันทุกฝ่าย จะไม่บังคับกัน เมื่อตกลงกันได้ลูกค้าต้องจ่ายสดให้แม่เล้าหรือเด็ก แล้วจึงแบ่งเงินกัน เอาไปกินเที่ยว ซื้อของมาอวดกัน”

             “สำราญ ยิ้มชื่น” หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่า การค้าประเวณีเข้ามาสู่สังคมชนบท เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่กลับเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมได้เร็วและง่ายขึ้น เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อาศัยอยู่กับญาติ ปู่ย่าตายายที่อายุมาก ไม่สามารถติดตามดูแลเด็กได้ตลอด

             “การแก้ไขปัญหาที่จะต้องดำเนินการในทันทีคือ การให้ข้อมูลแก่ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ผู้นำชุมชน ให้ช่วยกันดูแลลูกหลาน ปรับทัศนคติของเด็กเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เหมาะสม ไม่ให้ไหลไปตามกระแสวัตถุนิยม พร้อมกับให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการเรียน การศึกษา ในภาคบังคับ ให้เรียนจนจบ เพื่อให้เด็กอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ได้รับการอบรมสั่งสอนที่เหมาะสมตามวัย”