
สิ้นบารมีบรรหารอนาคตชาติไทยพัฒนาระส่ำ
สิ้นบารมีบรรหารอนาคตชาติไทยพัฒนาระส่ำ : ขนิษฐา เทพจรายงาน
หลัง “บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหอบหืด เมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 23 เมษายน 2559 ที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ทำให้ ภาพวาดแห่งอนาคตทางการเมืองของ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มี “ฯพณฯบรรหาร” เป็นผู้บรรจงเขียนเส้น เล่นแสง และลงเงา ต้องหยุดชะงักไปแบบฉับพลัน... และยังไม่ใครรู้ว่าจะเติมเส้น ลงแสง และแรเงาอย่างไรต่อ
เพราะข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ทิศทางทางการเมืองของพรรคชาติไทยพัฒนา ในรอบกว่า 2 ทศวรรษ นับแต่ที่ “บรรหาร” ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย พ.ศ.2537 จนถึงวันที่ถูกมรสุมการเมืองซัดให้ พรรคชาติไทยแพแตก เพราะด้วยกรรมการบริหารพรรคชาติไทยทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พ่วงโทษตามที่รัฐธรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 237 กำหนดให้ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี และมาถึงวันนี้ที่การเมืองไทยยังไม่เข้าที่ “บรรหาร คือ ผู้นำคนสำคัญ” ที่ลูกพรรคเชื่อใจ เชื่อฟัง และพร้อมทำตาม
ทำให้ภาพของ “พรรคชาติไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา” มีภาพ “บรรหาร” เป็นคีย์แมนเพียงคนเดียว!
ดังนั้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องจับตา และวิเคราะห์ว่า ใครจะขึ้นมา “คุมทีม” แทนและคนคนนั้น ต้องแบกภาระที่ยิ่งใหญ่ คือ ต้องเป็นเชือกรั้ง ให้ “ชาติไทยพัฒนา” ไม่มีสภาพแพแตกซ้ำอีก
ขณะที่ ธีระ วงศ์สมุทร อดีตข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้ทางกฎหมายจะได้ชื่อว่า เป็น “หัวหน้าพรรค” แต่ในทางปฏิบัติจริง เขาถูกวางบทบาทให้เป็นเพียง “ร่างทรง” เท่านั้น
เมื่อตรวจสอบประเด็นนี้จาก “ทายาทการเมืองโดยสายเลือด" กัญจนา ศิลปอาชา บุตรสาวคนโต และผู้ที่ใกล้ชิดอย่างที่สุดของ “บรรหาร” ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะมีสถานะอย่างไรหลังจากนี้ ย้ำแต่เพียงว่า “พรรคชาติไทยพัฒนา” จะต้องอยู่!
เมื่อตรวจสอบอีกครั้งจาก “ทายาททางการเมือง" สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พบความในใจว่ามีความกังวลอย่างยิ่ง ต่อแรงจูงใจที่จะเหนี่ยวรั้งคนของพรรคชาติไทยพัฒนาไว้ เพราะเมื่อสิ้น “บรรหาร” แล้ว ทำให้ทุกคนในพรรคมีความสั่นคลอน
“ผมกังวล เพราะที่ผ่านมาท่านบรรหารยืนโดดเด่น ในฐานะหัวหน้าพรรค ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งยากจะหาใครเทียบท่านได้ ผมคิดว่าจะหาคนมาแทนท่านนั้นยากมาก แต่เราเชื่อว่า ตลอดการทำงานที่ร่วมกันมายาวนาน มีความผูกพันแบบพี่แบบน้อง เชื่อว่าทุกคนได้ซึมซับสไตล์การทำงานของท่านบรรหาร ดังนั้น ผมเชื่อว่าสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ที่จะอยู่กับเราจะร่วมมือและเดินต่อไปได้ แต่จะเหลือกันอยู่กี่คน ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับใครได้ การเมืองไม่ใช่เรื่องการบังคับ เพราะอยู่ที่ความสมัครใจของแต่ละคน แต่ผมยืนยันว่าพรรคชาติไทยพัฒนาต้องมีต่อไป แม้จะไม่มีหัวหน้าบรรหารอีกแล้ว ซึ่งพวกเราต้องร่วมสร้างอนาคตให้พรรคเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยองค์กร ด้วยวัฒนธรรมของพรรค แต่จะเป็นอย่างไรนั้น ผมยังไม่รู้”
ขณะเดียวกันภายใต้หลังม่านบังตา “แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาชุดปัจจุบัน” เตรียมหารือถึงทิศทาง ซึ่งประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลัง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ให้ไฟเขียวพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ การจัดทัพของผู้นำในพรรคชาติไทยพัฒนา จะเกิดขึ้นทันที แน่นอนว่า บุคคลที่อยู่ขอบข่าย คงหนีไม่พ้น “ทายาทในตระกูลศิลปอาชา” ส่วนหนึ่งเพื่อให้เป็นตัวแทนแห่งศรัทธา ที่ยึด “ลูกพรรค” ไม่ให้จากไปไหน
แต่ด้วยปรากฏการณ์ความจริงทางการเมือง... เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้งครั้งใด “ผู้ประสงค์สมัคร ส.ส.” ที่ไร้แรงศรัทธาในพรรคสังกัดเดิม กระแสการเมืองระดับพื้นที่เปลี่ยนแปลง และยุทธศาสตร์เปลี่ยนสังกัดเพื่อ “ชิง” พื้นที่ย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งสำหรับพรรคการเมืองที่ไร้คนค้ำชูและอุปถัมภ์ด้วยแล้ว แรงที่ส่งให้ตัดสินใจปรับเปลี่ยน ย่อมเกิดขึ้นง่ายกว่า ปัจจัยข้างต้น
ทั้งนี้ กระแสการย้าย-เปลี่ยนพรรค “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล-นิกร จำนง” เป็นผู้ที่รู้ซึ้งดีที่สุด เพราะเคยร่วมนั่งนับหัวผู้ภักดี...ว่าใครจะอยู่หรือจะไปจากพรรคชาติไทย โดยข้อเท็จจริงนี้ ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ “บริหารงานสไตล์บรรหาร” เขียนโดย “นิกร จำนง” ในบทที่ 3 ปฏิรูปพรรคชาติไทยสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ที่เล่าถึงนาทีตัดสินใจของ “บรรหาร” ครั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และช่วงก่อนการเลือกตั้ง ปี 2539
ในหนังสือบันทึกไว้ในสาระสำคัญว่า “คุณบรรหารตั้งใจปฏิรูปพรรค เพราะคิดดูแล้ว แนวคิดการรวมกลุ่มการเมืองเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีจำนวนมาก แต่ขาดคุณภาพ ไร้เอกภาพทางความคิดและการกระทำเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นต้องปฏิรูปกันใหม่ ต้องเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเน้นความสามัคคีภายในพรรค” จากนั้น “บรรหาร” ได้สั่งให้นับทำเนียบรายชื่อ ส.ส.พรรคชาติไทย ที่มี 92 คน ว่าจะเหลือคนที่ไว้วางใจร่วมสร้างพรรคชาติไทยต่อไป ผลปรากฏคือ 30 กว่าชื่อเท่านั้น
ส่วนความจริงหลังบทบันทึก พบว่าระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2539 คนของพรรคชาติไทย ทั้งที่เป็นเพียงสมาชิก และ ส.ส. พาเหรดย้ายพรรคจำนวนมาก และทำให้หลังการเลือกตั้ง ปี 2539 พรรคชาติไทย ได้ ส.ส.นั่งในสภาเพียง 39 คน ซึ่งลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านั้นถึง 58 คน
สำหรับการเลือกตั้งรอบล่าสุด ปี 2554 ที่ “อดีตหัวหน้าพรรค-บรรหาร” นั่งอยู่หลังฉากการเมือง ยังพบการย้ายพรรคของ “ส.ส.ในพรรค” อย่างน้อย 2 คน คือ ย้ายสังกัดไปพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยอย่างละคน
ดังนั้น อนาคตของพรรคชาติไทยพัฒนา และทิศทางของสมาชิกในพรรค หลังจากสิ้นร่มเงา “หลงจู๊บรรหาร” มีนักวิเคราะห์การเมือง มองไว้ว่า "ระส่ำ” แน่นอน แต่จะถึงขั้นที่ “คนของพรรค” แตกฉานซ่านเซ็นหรือไม่ ต้องดูยุทธศาสตร์การเมืองของผู้ที่กุมอำนาจไว้ขณะนี้
เพราะหากมีใคร “เทคโอเวอร์” แล้วเส้นแสงแห่งเงาของภาพทางการเมือง ที่จิตรกรอย่าง “บรรหาร” แต่งแต้มไว้ อาจฟื้นสีสันได้
แต่จะคงตามเจตนารมณ์ที่ “บรรหาร ศิลปอาชา” คิดไว้หรือไม่?.. ไม่มีใครรับประกันได้
เส้นทางพรรคชาติไทย-ชาติไทยพัฒนา
2517-2529 พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร (ปี 2523 บรรหารขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค)
2529-2534 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (บรรหารเป็นเลขาธิการพรรค)
2534-2535 พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ (บรรหารเป็นเลขาธิการพรรค)
2535-2537 พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร (บรรหารเป็นเลขาธิการพรรค)
2537-2551 บรรหาร ศิลปอาชา
2 ธันวาคม 2551 ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
รวมเวลาที่บรรหารเป็นเลขาธิการพรรค 2523-2537
พรรคชาติไทยพัฒนา
2552-2556 ชุมพล ศิลปอาชา
2556-ปัจจุบัน ธีระ วงศ์สมุทร