
ประชามติ'ทำอะไรได้-ไม่ได้'
ประชามติ'ทำอะไรได้-ไม่ได้' : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ โดย สำนักข่าวเนชั่น
พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ถ้าถามว่า ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องรอดูประกาศจาก กกต.ก่อน
เบื้องต้น กกต.ได้แบ่งลักษณะการกระทำเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ลักษณะที่ควรกระทำ ได้แก่
ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้เข้าใจอย่างครบถ้วน แสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ไปใช้สิทธิออกเสียง และเชิญชวนคนไปใช้สิทธิออกเสียงโดยไม่มีการจูงใจว่าจะใช้สิทธิอย่างใด หากเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงใดเป็นไปโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรม ผู้มาใช้สิทธิจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน สามารถยื่นคำร้องคัดค้านได้ที่สำนักงานกกต.จังหวัด
กลุ่มที่ 2 ลักษณะที่ห้ามกระทำ รวม 23 ข้อ ได้แก่
เจ้าหน้าที่รัฐวางตัวไม่เป็นกลางปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิ ทำลายบัตรออกเสียง ลงคะแนนโดยรู้ว่าไม่มีสิทธิ นำบัตรปลอมมาใช้หรือเวียนเทียนบัตร นำบัตรออกเสียงออกไปจากที่ออกเสียง นำบัตรออกเสียงที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น ทำเครื่องหมายให้เป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรของตน บันทึกภาพบัตรออกเสียงที่ได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว ขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วยออกเสียงที่สั่งให้ออกจากหน่วยออกเสียง กระทำการใดๆ ให้จำนวนบัตรออกเสียงหรือบัญชีรายชื่อผิดไปจากความจริง ขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเข้าหรือออกที่ออกเสียง ก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อสิ่งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ เพื่อให้ผู้มีสิทธิไปหรือไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซื้อสิทธิ ขายเสียง ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน ผลประโยชน์ หรือจัด
เลี้ยงเพื่อจูงใจ หลอกลวง บังคับขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคามผู้มีสิทธิออกเสียง ขัดขวางการส่งหีบบัตร หรือบัตรออกเสียง เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันการออกเสียง จำหน่ายจ่ายแจก จัดเลี้ยงสุราในเวลาต้องห้าม จัดยานพาหนะขนคนไปหรือกลับจากที่ออกเสียง เผยแพร่ผลโพลล์ระหว่าง 7 วันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง กรรมการประจำหน่วยออกเสียงนับบัตรออกเสียงผิดไปจากความจริง
กลุ่มที่ 3 ลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อความผิด พึงหลีกเลี่ยง ได้แก่
การแสดงความคิดเห็นในลักษณะจูงใจและเผยแพร่เป็นการทั่วไปอันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการปลุกระดม เช่น แจกใบปลิว สติกเกอร์ เข็มกลัด กระดุม เป็นต้น และอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองขัดต่อประกาศ คสช. การแสดงความเห็นในเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนอันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายกำกวม อาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่ามีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย
รอประกาศทางการอีกครั้งว่าจะออกมาตามนี้หรือไม่