
นักเรียนหญิงชีบ็อก...เมื่อไหร่จะได้กลับมา
24 เม.ย. 2559
เปิดโลกวันอาทิตย์ : นักเรียนหญิงชีบ็อก...เมื่อไหร่จะได้กลับมา
เดือนเมษายนของทุกปีนับจากปี 2557 เป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงเหตุเศร้าสลดสองเรื่องในสองทวีปที่เกิดไล่เลี่ยกัน
เหตุการณ์หนึ่งเป็นการจากตาย โศกนาฏกรรมเรือโดยสารล่มในเกาหลีใต้เมื่อ วันที่ 16 เมษายน คร่าชีวิตเด็กมัธยมปลายจำนวนมากอย่างที่พ่อแม่สุดจะทำใจได้ต่อให้เวลาผ่านไปกี่ปีก็ตาม
ส่วนอีกเหตุการณ์เป็นการจากเป็น การลักพาตัวนักเรียนหญิงจากโรงเรียนประจำในเมืองชีบ็อก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่พ่อแม่อย่างที่สุดเช่นกัน
เหตุเรือเซโวลล่ม ที่ยังค้างคาใจอยู่คงเป็นครอบครัวของเหยื่ออีก 9 รายที่ยังหาศพไม่พบ ซึ่งเกาหลีใต้จะเริ่มภารกิจยกเรือยักษ์ขึ้นจากก้นทะเลในเร็วๆ นี้ ขณะ พ่อแม่ของนักเรียนหญิงชีบ็อก มีชีวิตในช่วงกว่า 700 วันมานี้ โดยไม่รู้เลยว่าลูกสาวยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มีชีวิตอยู่อย่างไร นับจากนักเรียน 279 คน ถูกกวาดต้อนขึ้นรถกระบะและรถจักรยานยนต์หายเข้าไปในป่าทึบ ก่อนหนีมาได้จำนวนหนึ่ง และเชื่อว่าที่ยังหายไปมีจำนวน 219 คน
เอ็ม.เค.อิบราฮิม ผู้อำนวยการแอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล ไนจีเรีย กล่าวว่า สองปีผ่านไป นักเรียนหญิงชีบ็อกกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวบ้านทุกคนที่ชีวิตพังทลายเพราะโบโก ฮาราม
โบโก ฮาราม ซึ่งต้องการสถาปนารัฐอิสลาม ก่อกบฏอย่างนองเลือดทางภาคเหนือของไนจีเรีย มาตั้งแต่ปี 2552 เข่นฆ่าประชาชนร่วม 2 หมื่นคน ทำให้คนไร้ที่อยู่กว่า 2 ล้านคน และโจมตีโรงเรียนกว่า 1,200 แห่ง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับแต่นั้น เพราะมีอุดมการณ์ต่อต้านการศึกษาแบบตะวันตก
แต่เดิม ผู้หญิงและเด็กไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มนี้ และได้รับการละเว้นด้วยซ้ำ มีแต่ผู้ชายและเด็กผู้ชายที่ถูกเกณฑ์ไปรบ กระทั่งราวปี 2555 เริ่มมีรายงานว่าโบโก ฮาราม บังคับเด็กผู้หญิงในไมดูกูรี เมืองหลวงของรัฐบอร์โน ทางเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของโบโก ฮาราม มาแต่งงานด้วย
ปรากฏการณ์รันทดเพิ่งได้รับความสนใจระดับโลก จากเหตุลักพาตัวนักเรียนหญิงชีบ็อกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2557 ที่จุดกระแสรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก ประชาชนทั่วไป นักการเมืองและคนดัง ช่วยกันทวิตติดแฮชแท็ก #BringBackOurGirls หรือพาลูกสาวของพวกเรากลับมา แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แวว
หลังเกิดเรื่องแล้วถึงสองสัปดาห์ หรือเมื่อกลายเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลกแล้ว รัฐบาลไนจีเรียถึงยอมรับว่ามีการลักพาตัวครั้งใหญ่
สามสัปดาห์ผ่านไป นายกู๊ดลัก โจนาธาน ประธานาธิบดีในขณะนั้น เพิ่งแสดงความเห็นครั้งแรกว่า สัญญาจะนำเด็กหญิงกลับบ้าน
สหรัฐและประเทศตะวันตกให้คำมั่นจะช่วยสนับสนุนไนจีเรียทุกวิถีทางเพื่อหาตัวนักเรียนหญิง แต่ไม่เคยขยายความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ที่สุดรัฐบาลและกองทัพไนจีเรียต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก
ราวหนึ่งเดือนหลังการลักพาตัว เสนาธิการทหารไนจีเรีย อเล็กซ์ บาเดห์ กล่าวให้ความหวังวูบหนึ่งก่อนเลือนหายรวดเร็วว่า กองทัพรู้พิกัดนักเรียนหญิง แต่หากช่วยเหลือ จะเป็นอันตรายต่อเหยื่อ และในช่วงเวลาเดียวกัน บีบีซีนิวส์ รายงานว่า สองฝ่ายเกือบบรรลุข้อตกลงปล่อยตัวประกันบางส่วนแลกกับนักโทษโบโก ฮาราม แต่รัฐบาลล้มเจรจากะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อเดือนที่ผ่านมา อดีตผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำไนจีเรีย นายแอนดรูว์ โพค็อค บอกต่อซันเดย์ ไทมส์ สื่ออังกฤษ ว่า ครั้งหนึ่งสหรัฐและอังกฤษเคยรู้พิกัดของนักเรียนชีบ็อกอย่างน้อย 80 คน แต่ภารกิจปลดปล่อยเสี่ยงเกินไป
ช่วงใกล้ครบรอบ 2 ปีของการลักพาตัว สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเผยคลิปวิดีโอที่แสดงภาพนักเรียนหญิงที่สูญหายไป 15 คน จาก 219 คน สวมชุดคลุมทั้งตัวและคลุมศีรษะ จากภาพที่ปรากฏ ไม่พบสัญญาณว่าพวกเธอได้รับการปฏิบัติไม่ดี แต่จากชุดที่สวมใส่ เชื่อว่าถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาจากคริสต์เป็นอิสลาม
คลิปนี้เชื่อกันว่าโบโก ฮารามบันทึกไว้เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อยืนยันว่าเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างกำลังเจรจากับรัฐบาลไนจีเรีย
ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นนักเรียนหญิงชีบ็อกทางวิดีโอนับจากพฤษภาคม 2557 หรือราวหนึ่งเดือนหลังถูกลักพาตัวไปจากหอพัก
ประเทศเพื่อนบ้านแอฟริกาตะวันตกของไนจีเรีย ไม่ว่าจะเป็นไนเจอร์ ชาดและแคเมอรูน รวมตัวเป็นแนวร่วมต่อสู้กับโบโก ฮารามเมื่อพฤษภาคม 2557 และเริ่มปฏิบัติการรุกกวาดล้างอย่างหนักเมื่อปลายมกราคม 2558 นับจากนั้น กองกำลังเฉพาะกิจนำโดยไนจีเรียเพิ่มเป็น 8,700 นาย แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภารกิจคือขจัดโบโก ฮาราม
ประธานาธิบดีมูฮามาดู บูฮารี แห่งไนจีเรีย ประกาศหลังชนะเลือกตั้งเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้วว่า การช่วยปลดปล่อยนักเรียนหญิงชีบ็อกเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก สั่งเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการ ย้ายศูนย์บัญชาการจากกรุงอาบูจา เมืองหลวงที่อยู่ห่างไกล มายังถิ่นของโบโก ฮารามคือที่ไมดูกูรี ต่อมากองทัพไนจีเรียประกาศความสำเร็จสามารถเข้ายึดพื้นที่ ชนะการสู้รบหลายจุด และปล่อยตัวประกันได้จำนวนมาก แต่น่าประหลาดใจอย่างมากว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบนักเรียนหญิงชีบ็อก จนเพิ่มความสงสัยว่าพวกเธอเหล่านั้นจะยังอยู่ด้วยกันและปลอดภัยดีหรือไม่
อิสรภาพยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด
ประเมินว่า โบโก ฮาราม ลักพาตัวเด็กหญิงและผู้หญิง 500-2,000 คน นับจากปี 2555 บางคงยังถูกกักตัวไว้ บางคนถูกใช้เป็นมือระเบิดฆ่าตัวตาย หรือจับแต่งงานเป็นเจ้าสาวเด็ก
แต่ต่อให้รอดชีวิตกลับบ้านได้ ความเจ็บปวดก็จะยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากชุมชนไม่ได้ตอบรับอย่างที่ควรจะเป็น
ผลศึกษาของอินเตอร์เนชั่นแนล อเลิร์ท องค์กรที่มุ่งสร้างสันติภาพ มีสำนักงานในกรุงลอนดอน และองค์การยูนิเซฟของสหประชาชาติ พบว่า ผู้หญิงที่กลายเป็นแม่ เมื่อกลับมาพร้อมกับลูกที่เกิดจากพ่อซึ่งเป็นนักรบโบโก ฮาราม มักถูกชิงชัง ตั้งแง่ และตีตรา ยังไม่ต้องพูดถึงฝันร้ายจากการถูกกระทำทางเพศในช่วงที่ถูกกักขัง
ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สององค์กรนี้จับมือกับองค์กรในท้องถิ่น ช่วยเหลือเยียวยาผู้รอดชีวิตจากโบโก ฮาราม ด้วยการจัดกลุ่มพูดคุยเพื่อบำบัดอย่างต่อเนื่อง
ไอชา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเหยื่อที่รอดกลับมา เธอเกิดและเติบโตที่เมืองท่าการัว ทางเหนือของแคเมอรูน เคยอยู่อย่างมีความสุขกับพ่อและพี่น้อง ก่อนย้ายข้ามชายแดนมายังตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย มาอยู่กับมารดาในช่วงฤดูร้อนของปี 2557 สองเดือนจากนั้น โบโก ฮารามมาจับตัวเธอไปจากหมู่บ้าน และตั้งครรภ์
กองทัพไนจีเรียเข้ายึดหมู่บ้านนี้จากโบโก ฮารามได้ในปี 2558 คืนอิสรภาพให้แก่ไอชาได้
แต่เมื่อพามาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในไมดูกูรี ค่ายพักพิงชั่วคราวของผู้ไร้ที่อยู่ภายในประเทศ กว่า 1.5 หมื่นคน ถึงได้รู้ว่าอิสรภาพไม่ได้หมายถึงเคราะห์กรรมหมดสิ้นแล้ว
“ชีวิตในค่ายสำหรับฉันมันแย่มาก พวกผู้หญิงเรียกฉันว่า “เมียโบโก ฮาราม” และไม่ยอมให้ฉันใช้ข้าวของร่วมกับพวกเธอ กระทั่งทุบตีฉันด้วย” ไอชาวัย 17 ปี บอกต่ออินเตอร์เนชั่นแนล อเลิร์ต และยูนิเซฟ แต่หลังจากหญิงสาวได้เข้าร่วมอบรมในโครงการที่สององค์กรระหว่างประทศ จับมือกับ FOMWAN แนวร่วมองค์กรสตรีท้องถิ่น ช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากโบโก ฮาราม โดยให้โอกาสพวกเธอได้ปลดปล่อยความรู้สึก เรียนรู้ถึงการให้อภัย และเข้าใจผ่านหลักคำสอนศาสนาอิสลาม เวลาผ่านไป ไอชารู้ว่าเธอไม่ได้โดดเดี่ยว
แต่ด้วยจำนวนเหยื่อที่กลับออกมามากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรที่ช่วยเหยื่อพยายามเรียกร้องว่า จำเป็นต้องเร่งความพยายามให้อดีตเหยื่อได้หลอมรวม และลดการตีตรา เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อตัวเองและครอบครัวได้
--------------------
ทำไมคนถึงเข้าร่วมโบโก ฮาราม
โบโก ฮาราม เปลี่ยนโฉมไปเกือบจนไม่เหลือเค้าเดิม นับจากปรากฏตัวเมื่อปี 2545 โดยก่อนสูญเสียผู้ก่อตั้ง มูฮัมเหม็ด ยูซูฟ ในปี 2552 นั้น โบโก ฮาราม คือกลุ่มสุดโต่งก็จริง แต่ไม่ฝักใฝ่ความรุนแรง มุ่งหวังใช้หลักปกครองแบบอิสลามที่เคร่งครัดเป็นทางออกของปัญหาทุจริตที่ระบาดหนักในภูมิภาค แต่เมื่อสิ้นผู้ก่อตั้ง โบโก ฮารามกลายเป็นกลุ่มใต้ดินและก่อกบฏด้วยวิธีการโหดเหี้ยม ภายใต้ผู้นำคนใหม่นามว่า อาบูบาคาร์ เชเคา
ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เข่นฆ่าเหยื่อมากที่สุดในโลก มากกว่าไอเอส ที่สื่อให้ความสนใจมากกว่า
เฉพาะ 2557 ปีเดียว มีผู้เสียชีวิต 6,644 คน ด้วยน้ำมือของคนกลุ่มนี้ อ้างอิงจากดัชนีก่อการร้ายโลก ตีพิมพ์โดยสถาบันเพื่อเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ มีสำนักงานในซิดนีย์ แต่เหตุใดจึงยังเกณฑ์สมาชิกได้จำนวนไม่น้อย แม้ขึ้นทำเนียบความโหด ลักพาตัวเด็ก บังคับจับอาวุธสู้รบ หรือกระทั่งส่งเด็กหญิงไประเบิดฆ่าตัวตายโจมตีตลาด
รายงานใหม่ล่าสุดขององค์กรบรรเทาทุกข์ เมอร์ซี คอร์ปส์ ซึ่งมีที่ตั้งในสหรัฐ พยายามหาคำตอบนี้ โดยสัมภาษณ์อดีตสมาชิก 47 คน ถึงเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมกับโบโก ฮาราม ซึ่งในภาพรวมก็ไม่ได้ต่างจากกลุ่มสุดโต่งอื่นๆ ทั่วโลกที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งล่อใจ คุกคาม บังคับ รวมถึงใช้ประโยชน์จากความคับแค้นทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่
โบโก ฮาราม มีสมาชิกหลายพันคน รวมถึงนักรบและฝ่ายสนับสนุน เช่น ด้านกำลังบำรุง ส่วนมากเป็นชายหนุ่ม แต่ก็มีสมาชิกที่เป็นสตรีรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ผลการศึกษาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ภาพสลับซับซ้อนของกลยุทธ์ในเกณฑ์สมาชิก
อดีตสมาชิกส่วนใหญ่ที่ เมอร์ซี คอร์ปส์ สัมภาษณ์ อยู่ในโซนสีเทา ระหว่างถูกบังคับขู่เข็ญ กับเลือกเอง บ้างเจอแรงกดดันจากเพื่อนฝูง ครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน
ขณะที่บางคนมองว่า โบโก ฮาราม เป็นทางเลือกเลวร้ายน้อยที่สุดในการมีชีวิตอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิภาคด้อยโอกาสและยากจนข้นแค้น อย่างชายคนหนึ่งกล่าวว่า ตัดสินใจเข้าไปร่วมเองเมื่อฝ่ายนั้นเริ่มเข่นฆ่าอย่างไม่เลือกหน้า เพราะต้องการการคุ้มครองเพื่อให้ทำมาหากินต่อไปได้
แนวทางที่สอง ดึงดูดสมาชิกด้วยการผสมผสานอุดมการณ์ทางศาสนา แรงกดดันทางสังคมและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ กระนั้น ปัจจัยทางการเงิน ไม่ใช่แค่เรื่องของการหลบหนีความยากจนและการว่างงาน ซึ่งมีอัตราสูงมากทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย แต่ผลการศึกษาพบว่า โบโก ฮาราม เกณฑ์ได้ทั้งคนยากจนและคนพอมีฐานะ มีงานทำและไม่มีงานทำ
โบโก ฮาราม เล่นกับความใฝ่ฝันของชายหนุ่มในสภาวะปากกัดตีนถีบหาทางก้าวหน้าในพื้นที่ที่ขาดแคลนบริการ ความเหลื่อมล้ำ และการทุจริต
อดีตสมาชิกหลายคนให้ภาพโบโก ฮารามว่า เป็นองค์กรมาเฟีย ปล่อยเงินกู้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจเล็กๆ เช่น ร้านค้า ร้านทำผม และตัดเสื้อ พอไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ก็บังคับให้ลูกหนี้เข้าร่วมกลุ่ม ชายอีกคนหนึ่งบอกเมอร์ซี คอร์ปส์ ว่า ฝ่ายหาสมาชิกของโบโก ฮาราม เริ่มเข้าหาด้วยการเปิดเทปเทศนาโน้มน้าว จากนั้นเริ่มเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ตัวเขาและพ่อแม่ ก่อนค่อยบอกในภายหลังว่าเมื่อได้ของขวัญแล้ว ก็จะต้องเข้าร่วมกลุ่ม ตนจึงต้องหนีเอาตัวรอด
เกือบครึ่งของอดีตสมาชิกโบโก ฮารามที่เมอร์ซี คอร์ปส์สัมภาษณ์เป็นผู้หญิง บางคนถูกลักพาตัว หรือถูกสามีบังคับให้เข้าร่วม แต่ก็มีจำนวนหนึ่งถูกเพื่อนหรือครอบครัวดึงเข้าโดยสมัครใจ ผู้หญิงหลายคนกล่าวว่า เข้าร่วมเพราะเป็นโอกาสได้ศึกษาพระคัมภีร์และศาสนา
--------------------