ข่าว

ยังคงมีคำถามถึงม.44กับ4จี900

ยังคงมีคำถามถึงม.44กับ4จี900

22 เม.ย. 2559

ยังคงมีคำถามถึงม.44กับ4จี900 : บทความพิเศษ โดยน้ำเชี่ยว บูรพา

            ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับประกาศหัวหน้า คสช.ที่ 16/2559 ที่สั่งการให้กสทช.จัดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ช่วงคลื่นความถี่ 895-905 และ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ ใหม่อีกครั้งในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ หลังจากบริษัทแจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด ทิ้งใบอนุญาตไป

            พร้อมให้ กสทช.ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการมือถือ 2 จี 900 จากที่ต้องสิ้นสุดตามคำสั่งศาลปกครองในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้ขยายมาตรการคุ้มครองไปถึงวันที่ 30 มิถุนายนหรือจนกว่า กสทช.จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แก่ผู้ชนะประมูลรายใหม่แล้ว

            แม้จะเป็นหนทางผ่าทางตันปัญหาจากการประมูลที่แจสทิ้งเอาไว้ และทุกฝ่ายก็น่าจะ “วิน-วิน” และน่าจะเป็นหนทางออกที่เหมาะสมดีกว่าจะให้ กสทช.อนุมัติให้จัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่เอไอเอสไปโดยตรงโดยไม่มีการประมูล หรือเสี่ยงให้กสทช.ดำเนินการประมูลไปตามเงื่อนเวลาเดิมที่อาจจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการ 2 จีเดิมต้องถูกลอยแพ อีกทั้งรัฐเองก็ไม่เสียประโยชน์เพราะจะได้เงินจากการประมูลครั้งใหม่ (เสียที)

            แต่หากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลที่ กสทช.วางไว้ก่อนหน้าจะเห็นได้ว่าตามหลักเกณฑ์ประมูลเดิมของ กสทช.นั้น ได้ตัดสิทธิ์บริษัททรูไปแล้ว เพราะได้ใบอนุญาตความถี่ 900 ไปแล้ว หากให้เข้าประมูลอีกอาจขัดประกาศเงื่อนไขประมูล 4 จีที่กำหนดให้ผู้ประกอบการแต่ละรายได้ใบอนุญาตเพียงใบเดียวเท่านั้น

            แต่ก็กลับเป็นที่น่าสังเกตว่าประกาศ คสช.ฉบับดังกล่าวได้เปิดกว้างให้ผู้มีสิทธิ์ได้เข้าร่วมประมูลทุกรายรวมทั้งบริษัททรู ทั้งยังตั้งราคาประมูลตั้งต้นไว้สูงถึง 75,654 ล้านบาทเท่ากับราคาที่ แจส โมบาย เคาะไว้ โดยประธานคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายที่มอบหมาย รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม อ้างว่าเพื่อความเป็นธรรมในการประมูลและไม่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์

            แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น ก็คือ คำถามที่ว่า ถ้าตั้งราคาเริ่มประมูลเริ่มต้นมากมายมหาศาลขนาดนั้น แล้วเอกชนที่ทิ้งใบอนุญาตไปก่อนหน้านั้นล่ะ เพราะถ้าได้ราคานั้นแล้ว ก็เท่ากับว่า รัฐไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย เอกชนที่ทิ้งใบอนุญาต อาจจ่ายแค่ “ค่าเสียเวลา” หรือ “ค่าเสียโอกาส” ที่ทำให้รัฐได้เงินช้า เท่านั้นใช่ไหม?

            ผลที่กำลังจะเกิดขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อเอกชนที่ว่าดูได้จากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น JAS หรือหุ้นจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทแม่ของ แจส โมบาย นักวิเคราะห์ได้ตั้งราคาเป้าหมายเมื่อวันพุธไว้ที่ 5.60 บาทจากเดิมที่เคยให้ราคาไว้แค่ 0.18 สตางค์เมื่อครั้งชนะประมูล 4 จี อันเป็นผลมาจากธุรกิจ Fixed Broadband ที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม ขณะที่ธุรกิจ Mobile Broadband ที่เคยเป็นแรงกดดันลดลงไปแล้ว แถมความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องจากการทิ้งประมูล 4 จี ก็มีไม่มาก

            พูดง่ายๆ เขามองกันว่า ประกาศ คสช.ฉบับนี้ ที่ให้ กสทช.จัดประมูลใหม่ในวันที่ 27 พฤษภาคม โดยกำหนดราคาตั้งต้นเท่าราคาที่แจสเคยเสนอไว้ ทำให้ แจส โมบาย ไม่ต้องถูกไล่เบี้ยค่าเสียหายเพิ่มมาก จนส่งผลกระทบต่อบริษัทแม่ !

            ทีนี้มาดูกรณีถ้าทรู โดดเข้าร่วมประมูลอีกหน โดยที่ไม่ต้องไปสนว่า ขาดคุณสมบัติการประมูลตามเงื่อนไขของ กสทช. ก็ต้องคิดเผื่อไว้ว่า หาก ทรู เอาอย่าง แจส โมบาย ส่งลูกน้องไปเคาะแบบไม่ต้องไปสนใจโลก ลากราคาไปสูงลิบ สร้างสถิติโกยรายได้เข้ารัฐมหาศาล แล้วใครจะประกันได้ว่า เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะทางออกมีอยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิที่จะเข้าประมูลตั้งแต่แรก

            ยิ่งเมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ที่ได้เข้าชี้แจงมาตรการรองรับการประมูลและคุ้มครองผู้ใช้บริการระหว่างประมูลต่อรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลปัญหานี้ โดยเลขาฯ กสทช. ระบุว่า รองนายกฯ ได้ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลงนามในความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับการประมูลรอบใหม่ รวมถึงการลดความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการขอขยายมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ 2 จีเดิม พร้อมขอให้ 2 บริษัทสื่อสารยุติการแข่งขันด้านราคาภายหลังการประมูล ก่อนจะเสนอ หัวน้า คสช.ใช้ ม.44

            คำถามมันก็เลยวนกลับไปที่เดิมว่า ทำไมรองนายกฯ ต้องออกหน้าลงมาหย่าศึกในครั้งนี้ ทั้งที่การแข่งขันหรือจัดโปรโมชั่นของค่ายมือถือนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน !