
'บิ๊กป้อม'ปัดกดดัน'วัฒนา'อดข้าว
21 เม.ย. 2559
'ประวิตร' ปัดกดดัน 'วัฒนา' อดข้าว เหน็บ อาจจะชอบกินมะพร้าว ย้ำ ดำเนินคดีตาม ก.ม. ยัน ไม่เกี่ยว ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีสลาย พธม.
21 เม.ย. 59 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมเสนอให้ถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ช่วงปี 2551 ว่า ตนไม่ทราบ และตนไม่ลำบากใจที่มีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมายไป และยังไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวข้องตน
ดำเนินคดี 'วัฒนา' ตามกฎหมาย
เมื่อเวลา 10.30 น. พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีกับนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ทำผิดประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 39/2557 ว่า การเคลื่อนไหวของนายวัฒนาผิดประกาศของ คสช.ฉบับดังกล่าว ซึ่งนายวัฒนาได้มีการลงนาม รวมทั้งตกลงกันไว้แล้ว ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้ต้องการให้เป็นตัวอย่าง หรือการเชือดไก่ให้ลิงดู และดำเนินการเฉพาะตัวบุคคล ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าหลักสูตรผู้นำสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์ของ คสช. เพราะเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และทหารจะไม่เกี่ยวข้องแล้ว หากมีการยื่นฟ้องนายวัฒนาวันนี้ และศาลรับฟ้องก็ถือเป็นเรื่องของศาลที่จะปล่อยตัวหรือไม่ปล่อย ถ้ามีการเคลื่อนไหวใหม่จนต้องถอนประกันนายวัฒนาต้องเข้าคุก
"เราไม่กดดันที่นายวัฒนาไม่ยอมทานข้าว จะให้เราทำอย่างไรได้ เขาอาจจะชอบกินมะพร้าวก็ได้ ไม่เป็นอะไร ผมยังไม่ได้รับรายงานถึงคนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังนางสาววีรดา เมืองสุข บุตรีของนายวัฒนา ในการเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนานาชาติ"
ส่วนการดำเนินการของ คสช. เข้าทางของกลุ่มที่เคลื่อนไหวหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะเราดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่ผิดก็ไม่ดำเนินการ ซึ่ง คสช.ได้เน้นย้ำมาโดยตลอด พร้อมทั้งขอร้องว่าช่วงนี้อย่าเพิ่งเคลื่อนไหว ถ้าพวกท่านทำตามกฎหมาย เราก็ทำตามกฎหมาย ต่างคนก็ต่างอยู่ ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายวัฒนานั้น ตนคิดว่าไม่เป็นอะไร เจ้าหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการจับตัวแล้วปล่อยนั้นถือเป็นอำนาจของศาล ศาลว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น เพราะต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่องค์กรแอมแนสตี้เรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวนายวัฒนา โดยไม่มีเงื่อนไขนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องภายในของใครของมัน ซึ่งตนมีหน้าที่ทำให้ประเทศเกิดความสงบ ถ้าปล่อยให้คนแบบนี้มาเคลื่อนไหว ประเทศเดินต่อไปไม่ได้ แล้วความเสียหายก็จะตกไปที่ส่วนรวม ไม่ได้ตกอยู่กับ คสช. ส่วนที่นานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงในภาพรวมของประเทศว่า เรามีความจำเป็นอย่างไร รวมถึงแนวทางการปฏิบัติ ถ้าหากไม่มีคำสั่ง คสช.ออกมาก่อนคงจะไม่เป็นไร แต่มีคำสั่ง คสช.ออกมาแล้ว ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง
"อย่ามามองที่ปลายเหตุ เพราะจะไม่จบ ผมอยากให้มองที่ต้นเหตุว่าเขาต้องการอะไร ต้องการให้คนเกิดความขัดแย้งหรือไม่ ขณะนี้โรดแม็พก็มีหมดแล้ว พร้อมทั้งจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 และตอนนี้ก็รอการทำประชามติ อีกแค่ 3 เดือน เมื่อผลออกมาอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น อยากถามว่าทำไมต้องออกมาเคลื่อนไหว ผมบอกแล้วว่าให้ประชาชนมีความคิดเป็นของตนเองว่าจะรับหรือไม่รับ แล้วจะมาโฆษณาเพื่ออะไร ซึ่งขณะนี้ก็มีกฎหมายการทำประชามติอยู่แล้วที่ไม่ให้มีการโฆษณา หากปล่อยให้ทำแบบนี้ทุกจังหวัดก็คงทำกันหมดแล้วจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบถ้าเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น และตีกันอีกจะทำอย่างไร หรือช่างมัน ตัวใครตัวมันหรือ"
พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า สำหรับการห้ามโฆษณาในช่วงทำประชามติ เราจะยึดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่ง คสช.ไม่ได้ออกกฎอะไรทั้งนั้น ส่วนอีก 3 เดือน จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้กลุ่มการเมืองออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นนั้น ตนคิดว่า มีคนที่เข้าใจอยู่จำนวนมาก แต่มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ไม่เข้าใจ
ไม่พบ 'อุยกูร์' เข้าไทย
พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวผู้ก่อความไม่สงบชาวอุยกูร์เดินทางเข้าประเทศไทย ว่า เราติดตามความเคลื่อนไหวทั้งหมด ทั้งของกลุ่มไอซิส กลุ่มอุยกูร์ ผ่านตำรวจสันติบาล สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ที่อยู่ในความดูแลของตน และตนรับทราบความคืบหน้าตลอด
"เรื่องอุยกูร์มีผ่านเข้ามาคนหนึ่งที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย และทาง ตม.ก็ดูแล ผมทราบว่ายังไม่ใช่ แต่ตอนนี้เขาเดินทางออกไปแล้ว ทั้งยังเกิดมานานแล้ว และเราพยายามดูทั้งหมดทุกชาติที่เดินทางเข้ามา ซึ่งผมขอให้มั่นใจว่าทหาร และตำรวจเข้มงวดในเรื่องการก่อการร้าย"
ยังไม่ได้รับรายงานไทยโดนใบแดง 'ไอยูยู'
พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่า นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัคราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก ได้รายงานว่า ประเทศไทยอาจได้รับใบแดงในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยู ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายงาน แต่ยอมรับว่าเราถูกตำหนิในบางเรื่องที่ทำไม่ตรงเป้าที่เขาต้องการ แต่คิดว่าไม่เป็นไร เราต้องแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ เราได้ชี้แจงให้อียูรับทราบทุกเรื่องที่สงสัย เรื่องการออกกฎหมายที่มีความล่าช้า เราต้องไปดูว่าล่าช้าตรงไหน ส่วนการปรับย้ายอธิบดีกรมประมง เพราะว่าเขาทำงานล่าช้า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เตรียมหาคนใหม่มาแทน
ทำบุญ-บวงสรวงศาลหลักเมืองครบรอบ 234 ปี
เมื่อเวลา 09.19 น. ที่ศาลหลักเมือง กทม. พล.อ.ประวิตร ในฐานะนายกสภาทหารผ่านศึก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาพุทธ และพิธีบวงสรวงสังเวยตามประเพณีพราหมณ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาองค์พระหลักเมืองครบรอบ 234 ปี โดยมี พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ผอ.อผศ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของ อผศ. และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงกลาโหมร่วมในพิธี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นนิมิตหมายแสดงที่ตั้ง กทม. เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2325 มีลักษณะเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทร์ประกับนอก สูง 187 นิ้ว ลงรักปิดทองยอดเสาเป็นรูปบัวตูมภายในกลวงเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตากรุงเทพมหานคร ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงวินิจฉัยว่าควรมีการผูกดวงเมืองใหม่ เพื่อให้ประชาชนประสบความเจริญรุ่งเรืองประกอบกับเสาหลักเมืองเดิมที่สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงทรงสร้างพระหลักเมืองต้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2395 ลักษณะเป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกบด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ โดยมีทรงเสาอวบและเตี้ยกว่าเสาหลักเมืองต้นเดิม บรรจุแผ่นทองคำจารึกดวงชะตากรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนชาวไทยสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ในแต่ละวันจะมีผู้คนมากราบไหว้บูชาองค์พระหลักเมืองและเทพารักษ์ทั้ง 5 องค์ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง ที่สถิตอยู่ในศาลหลักเมือง นอกจากนี้ยังมีหอพระที่ประดิษฐานพุทธรูปประจำวันเกิดให้ประชาชนทำบุญและให้บริการเครื่องบวงสรวงสังเวยสำหรับการสักการบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในศาลหลักเมือง รวมทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองอยู่ในความดูแลของ อผศ. โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานกิจการพิเศษหน่วยหนึ่งของ อผศ. มีหน้าที่ดูแลศาลหลักเมือง รวมทั้งอาคาร และบริเวณอันเป็นสถานที่สำคัญของชาติ การบูรณปฏิสังขรณ์ดำเนินกิจการ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่มาสักการบูชา สำหรับเงินที่ได้รับจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคถวายศาลหลักเมืองนั้น อผศ.ได้ใช้เป็นทุนปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมือง และนำไปสมทบงบประมาณของ อผศ. เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ตลอดจนร่วมการสาธารณกุศลอื่นๆ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะองค์พระหลักเมืองทุกวัน