
บรรจุข้าราชการกับผลประโยชน์ทับซ้อน
บรรจุข้าราชการกับผลประโยชน์ทับซ้อน : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยสำนักข่าวเนชั่น
กรณีการบรรจุ “นายปฏิพัทธิ์ จันทร์โอชา” เข้ารับราชการตำแหน่งรักษาราชการนายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 3 ทำให้เป็นที่ถกเถียงของสังคมถึงเรื่องความไม่เหมาะสม เพราะนายปฏิพัทธิ์ เป็นบุตรชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม
เราลองมาดูกันว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้ การกระทำเช่นนี้จะสามารถทำได้หรือไม่
การทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งในที่นี้คือปลัดกระทรวงกลาโหม ตามร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ที่ต้องดูคือ ขณะนี้ “พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” มิได้มีเพียงตำแหน่งเดียว หากแต่เขายังมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งในสภาวะปกติตำแหน่งนี้จะถือว่าเป็นตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา ซึ่งก็คือตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. นั่นเอง
ในมาตรา 185 ระบุว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในเรื่องดังต่อไปนี้
(3) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน หรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น"
แปลความง่ายๆ ว่า จะใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส. ส.ว. เข้าไปบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการไม่ได้ ซึ่งในกรณี้ ยังเป็นปัญหาว่าจะตีความว่า “พล.อ.ปรีชา” จะถือว่าใช้สถานะใดในการกระทำดังกล่าว หรือเป็นสถานะที่ไม่อาจแยกกันได้ เพราะเมื่อควบตำแหน่งก็ต้องทำในสถานะทั้งคู่ไปพร้อมๆ กัน และเชื่อว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดในอนาคต “พล.อ.ปรีชา” ย่อมต้องถูกร้องต่อ ป.ป.ช. แน่นอน
และหากผิดก็ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา 101 (7) หรือมาตรา 111 (7)
นอกจากนี้กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเพราะการควบตำแหน่งสองตำแหน่งระหว่างข้าราชการประจำกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นทำไม่ได้ในสถานการณ์ปกติ เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ห้ามชัดเจน ในมาตรา 98 (12) ประกอบมาตรา 108 (2) เรื่องการห้ามเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
แต่ก็มีสถานการณ์พิเศษที่เปิดโอกาสให้ สมาชิกรัฐสภา “กลุ่มหนึ่ง” สามารถดำรงสองตำแหน่งได้พร้อมกันและเป็นตำแหน่งเฉพาะเสียด้วย โดยบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 269 (1) (ค) ที่กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกนั้น มี 6 คนที่มาจากข้าราชการประจำโดยตำแหน่ง กล่าวคือ 1.ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3.ผู้บัญชาการทหารบก 4.ผู้บัญชาการทหารเรือ 5.ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ 6.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
โชคดีที่พวกเขาคิดทางแก้เอาไว้ในกรณีเช่นนี้ โดยเขียนไว้ใน มาตรา 269 (2) ห้ามนำบทบัญญัติมาตรา 185 มาใช้กับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสภาโดยตำแหน่ง
สรุปว่า หากเป็นภาวะปกติการทำเช่นนี้อาจเป็นความผิด แต่หากเป็นสถานการณ์พิเศษการกระทำนี้ถูกยกเว้นไว้เรียบร้อยแล้ว