ข่าว

เตือนศก.โลกโตต่ำ มีความเสี่ยงสูง-ยืดเยื้อ

เตือนศก.โลกโตต่ำ มีความเสี่ยงสูง-ยืดเยื้อ

22 เม.ย. 2559

ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : เตือนศก.โลกโตต่ำ มีความเสี่ยงสูง-ยืดเยื้อ : โดย...ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

 
                    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ยกเว้นประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยไอเอ็มเอฟสนับสนุนการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม คือ 1.กระตุ้นความต้องการสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และความต้องการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนเพื่อนำไปสู่การใช้จ่ายลงทุนและเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ 2.อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงยังทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.สัดส่วนหนี้เสียลดลง 4.ต้นทุนการตั้งสำรองของธนาคารลดลง และ 5.ธนาคารได้กำไรจากการถือครองตราสารหนี้
 
                    อย่างไรก็ตาม ผลเสียที่ยังคงต้องติดตาม คือ กำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลง และผลกระทบของธุรกิจประกันภัยและกองทุนบำเหน็จบำนาญที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทประกันภัยลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อรักษาระดับรายได้ให้คงที่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพการเงิน
 
                    ไอเอ็มเอฟสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีภาระหนี้รัฐบาลในสัดส่วนที่สูง แต่ไอเอ็มเอฟมองว่าการใช้นโยบายการคลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่ยังพอมีความสามารถเพื่อกระตุ้นการเติบโตและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อหลุดพ้นจากสภาวะการชะลอตัวในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังควรลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่เน้นใช้จ่ายในส่วนที่ส่งผลให้เกิดศักยภาพในการเติบโต เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
 
                    ความเสี่ยงที่ไอเอ็มเอฟกังวลคือ ความผันผวนในตลาดการเงิน เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองและก่อการร้าย โดยความผันผวนในตลาดการเงินอาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่และอาจกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ เช่นเดียวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบไปยังการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การก่อการร้ายและปัญหาผู้อพยพในยุโรป
 
                    อีไอซีว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกทั้งสินค้าและบริการที่ชะลอลงทำให้การส่งออกของไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยภายในประเทศคือ การบริโภคครัวเรือนที่ชะลอตัวจากผลของภัยแล้ง และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ยังต่ำ
 
                    อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีจุดแข็งที่สามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ โดยไอเอ็มเอฟระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่รับมือกับความผันผวนของเงินทุนไหลออกได้ดีกว่าประเทศอื่นคือ 1.มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง 2.มีหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศต่ำ และ 3.มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ซึ่งปัจจุบันไทยมีปัจจัยทั้ง 3 ด้านอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนหนึ่งที่ไอเอ็มเอฟมองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
 
 
 
------------------------
 
(ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : เตือนศก.โลกโตต่ำ มีความเสี่ยงสูง-ยืดเยื้อ : โดย...ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์)