
คุมประพฤติสรุปยอดเมาแล้วขับสงกรานต์5,228คดี
20 เม.ย. 2559
อธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงสรุปยอด เมาแล้วขับ ช่วงสงกรานต์ 5,228 คดี เพิ่มสูงกว่าสงกรานต์ปี 58 ถึง 29% เสนอศาลสั่งบริการสังคมเข้มข้น
20 เม.ย.59 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยสถิติผู้ถูกคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งพบยอดอุบัติเหตุมากถึง 3,447 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 442 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,656 ราย โดยมีคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติรวม 5,655 คดี แบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 5,228 คดี คดีอื่นๆ 403 คดี และคดีขับรถประมาท 24 คดี
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราในเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2558 จะพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1,177 คดี หรือ 29.05% โดยจังหวัดที่คดีมากสุดคือ กรุงเทพฯ 284 คดี รองลงมาคือปทุมธานี 265 คดี และสกลนคร 223 คดี สำหรับมาตรการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาล กรมคุมประพฤติจะพิจารณาตามความรุนแรงของพฤติการณ์ และความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยในจำนวนกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่ 90 % เป็นคดีเมาสุราขณะขับรถ ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหลักการศาลจะสั่งให้รายตัวปีละ 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคม ส่วนกรณีที่เกิดเหตุคดีอาญาแล้วศาลจะสั่งให้สืบเสาะประวัติประกอบด้วย ทั้งนี้ มาตรการเข้มข้นที่กรมคุมประพฤติจะนำมาใช้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการสังคมด้วยการให้เข้าไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์กับโรงพยาบาลและมูลนิธิต่างๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอุบัติเหตุ เบื้องต้นยังไม่มีกรณีที่ศาลสั่งผู้ถูกคุมประพฤติทำงานบริการสังคมในห้องดับจิต หรือห้องไอซียู
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวต่อว่า ในปี 2558 พบว่าคดีขับขี่รถขณะเมาสุรามีผู้กระทำผิดซ้ำกว่า 5,000 คน ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องถูกลงโทษหนักขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ การคุมประพฤติจะมีทั้งกรณีที่ศาลสั่งงานบริการสังคมให้ชัดเจน และให้เป็นดุลยพินิจของคุมประพฤติ ซึ่งเดิมกรมคุมประพฤติต้องถามความสมัครใจผู้ถูกคุมประพฤติด้วย แต่ล่าสุดมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจกรมคุมประพฤติใช้ดุลยพินิจสั่งทำงานบริการสังคมตามสมควรได้โดยไม่ต้องถามความสมัครใจ ในกรณีนี้กรมคุมประพฤติจึงพิจารณาใช้มาตรการเข้มข้นในงานบริการสังคมกับผู้ถูกคุมประพฤติช่วงสงกรานต์ซึ่งรวมถึงมาตรการให้ทำงานบริการสังคมเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล โดยวางแผนว่าอาจเป็นลักษณะการให้มารายงานตัวในช่วงเช้า จากนั้นช่วงบ่ายจะพาทัวร์เป็นกลุ่มให้เข้าไปสังเกตการณ์บรรยากาศในห้องดับจิตหรือห้องไอซียู สร้างจิตสำนึกให้เกิดความหลาบจำ และซึบซับบรรยากาศความสูญเสียของญาติพี่น้อง
“การให้ผู้ถูกคุมประพฤติเข้าไปทำงานช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะบุคคลเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายอาญาและศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ศาลเมตตาเว้นโทษจำคุกแต่ให้ทำงานบริการสังคมแทน กรมคุมประพฤติไม่ได้กวาดต้อนพลเมืองดีให้มาทำงานบริการสังคม ทั้งนี้การให้เข้าไปทำงานบริการสังคมในโรงพยาบาลคงไม่ใช่การเข้าไปผ่าศพ หรือทำความสะอาดศพ แต่มีลักษณะให้เข้าไปสังเกตการณ์บรรยากาศและการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อกระตุกจิตสำนึกและลดจำนวนผู้เมาแล้วขับในช่วงวันหยุดยาวต่างๆ” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว