ข่าว

อุบัติเหตุสงกรานต์=สงครามพยายามมากแต่ลดไม่ได้

อุบัติเหตุสงกรานต์=สงครามพยายามมากแต่ลดไม่ได้

20 เม.ย. 2559

อุบัติเหตุสงกรานต์ = สงคราม พยายามมากแต่ลดไม่ได้ : เสาวลักษ์ คงภัคพูนรายงาน

            ผ่านพ้นไปแล้วช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องเพราะเป็นวันหยุดยาวที่เกิดอุบัติเหตุมากสุดของทุกปี มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องมานับสิบปี ทั้งขอความร่วมมือ กวดขัน จับปรับ หรือกระทั่งนโยบายยึดรถ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามของทุกภาคส่วนต้องล้มเหลว เมื่อจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 กลับทะลุเป้า ทะยานขึ้นสูงกว่าปีที่ผ่านมา

            อะไรคือสาเหตุที่ทำให้การป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาล ไม่บรรลุเป้าหมาย...

            นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) วิเคราะห์ว่า ปีนี้มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ ทั่วประเทศรวม 442 ราย เป็นอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ซึ่งเมื่อมีการคำนวณดัชนีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น โดยคำนวณจากจำนวนผู้เสียชีวิตหารด้วยจำนวนอุบัติเหตุ พบว่า ในอุบัติเหตุร้อยครั้งมีคนตาย 12.8 คน ซึ่งถือว่ารุนแรง ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ การขับรถเร็ว สอดคล้องกับข้อมูลภาพรวมสาเหตุหลักคือ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40 ตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 18 เมาขับร้อยละ 17 และหลับในร้อยละ 6

            นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกพบว่า ความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุที่นำมาสู่ความสูญเสีย นอกจากปัจจัยดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว ยังพบว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับการ “ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย” เช่น ไม่สวมหมวกกันน็อก และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ดังเช่น กรณีรถชน 3 คันที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 8 ราย โดยคนขับรถคันก่อเหตุเสียชีวิต ส่วนรถที่ถูกชนเป็นคันที่สาม มีผู้เสียชีวิต 3 รายนั้น 1 รายกระเด็นตกจากหลังรถปิกอัพ อีก 2 รายเสียชีวิตในที่นั่งแค็บด้านหลังคนขับ ทั้งหมดไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยเวลาเกิดเหตุรุนแรงโอกาสเสียชีวิตจึงมีมากข้อมูลที่พบจึงมิใช่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุจากเรื่องความเร็วเพียงอย่างเดียว แต่มีความสัมพันธ์กับการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

            นอกจากนี้ จากข้อมูลยังพบว่า กรณีอุบัติเหตุโดยเฉพาะรถส่วนบุคคล มีการชนต้นไม้ข้างทาง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเคสใหญ่ๆ พบว่า ขับมาเร็ว มีปัจจัยร่วมคือ เมาหรือง่วง ขับตกข้างถนน แล้วชนต้นไม้ แถมไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โอกาสสูญเสียจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย เรื่องต้นไม้ข้างทางจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่ามองข้าม หากจะลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ

            เมื่อมาเจาะลึกกรณีการเมาขับ จากข้อมูลของคณะทำงานภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุ พบว่า การจัดกิจกรรมฉลองเทศกาล ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ที่จัดขึ้นในหลายจังหวัดมาก ทำเป็นงานใหญ่โตของจังหวัด มีคอนเสิร์ต มีงานแสดง มีถนนต่างๆ ให้เล่นน้ำ แม้ว่าจะมีการรณรงค์เป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า แต่กลับพบว่า จากที่ผ่านมา มักพบการเมาแล้วขับในช่วงบ่าย เย็นหรือค่ำ แต่ในปีนี้พบว่า มีคนเมาเพิ่มขึ้นในช่วงดึก สาเหตุคือกลับจากเที่ยวงานตามสถานที่ต่างๆ กลับจากดูคอนเสิร์ต หมอลำ ในเวลาหลังเที่ยงคืนไปแล้ว โดยมีการดื่มมาตลอดทั้งคืน จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุลักษณะเมาแล้วขับเพิ่มมากขึ้น

            “ข้อมูลทั้งหมดชี้ว่า มาตรการที่เพิ่มเข้าไปไม่พอ แม้ว่าจะมีด่านชุมชน หรือยึดรถ เพราะความเสี่ยงบนถนนมีเยอะ แนวทางการแก้ไข ควรจะต้องเพิ่มมาตรการนี้อีก 2-3 เท่า คือเพิ่มการบังคับใช้ เพิ่มการตรวจจับ เพิ่มการดำเนินคดี ให้มากขึ้น ต้องทำให้บทลงโทษของเรื่องเมา เร็ว ไม่ใช่แค่ประมาท ต้องเพิ่มโทษเป็นการขับรถอันตราย นอกจากนี้ ควรมีการตรวจสอบข้อมูลการทำความผิดซ้ำ อันนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของตำรวจ ทำให้รู้ว่าคนนี้เมาขับครั้งที่เท่าไหร่แล้ว บทลงโทษก็จะต้องแรงขึ้นไปด้วย” ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าว

            การสร้างมาตรการองค์กร ก็เป็นตัวจักรสำคัญในการช่วยลดอุบัติเหตุทางท้องถนนได้ นพ.ธนะพงศ์ มองว่า การสร้างจิตสำนึกเป็นไปได้ยาก แต่หากสร้างมาตรการองค์กรให้เข้มแข็ง เป็นการสร้างกลไกที่มีอิทธิพลต่อคน เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น หากขับรถชนคนตาย นอกจากบทลงโทษทางกฎหมายเขาจะแรงแล้ว ยังมีมาตรการองค์กรมาใช้ โดยถูกให้ออกจากงาน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มี ส่วนการสร้างท้องถิ่น ชุมชนให้เข้มแข็ง ก็ต้องเสริมอุปกรณ์ให้เพียงพอ ให้พื้นที่สามารถจัดการดำเนินการสกัดกับความเสี่ยงของตัวเองได้ ให้จุดจัดการ เช่นท้องถิ่น ชุมชน หรือระดับอำเภอเข้มแข็งกว่านี้ ต้องเสริมอุปกรณ์เข้าไป ต้องมีเครื่องตรวจวัดเมา เร็ว เพราะปัจจุบันเครื่องตรวจความเร็วแต่ละจังหวัดมีเพียง 1-2 เครื่องเท่านั้น

            “ที่คิดว่าตัวเลขไม่ลด และยังขึ้นอยู่ เพราะความไม่สมดุล หมายถึง เรามีความเสี่ยงเยอะ บนถนน แต่มีมาตรการไม่สมดุล กฎหมายยังโทษอ่อน เราต้องเพิ่มมาตรการให้มากขึ้น 2-3 เท่า คอยดูว่าจับคนเมาขับ 1,800 คดี อันนี้เท่าที่ตรวจจับได้ ส่วนพวกที่ไม่ถูกจับยังปะปนอยู่บนท้องถนนอีกเท่าไหร่ มีคนเมาเต็มถนน นั่นแหละ อันตรายที่พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา”

            ถอดรหัสกรณีอุบัติเหตุ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เวลา 23.35 น.วันที่ 12 เมษายน 2559

            โดยภาคีเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

            “งานรดน้ำดำหัว ต่อด้วยงานเลี้ยง ทำให้เมา-ง่วงขับ นำมาสู่อุบัติเหตุครั้งใหญ่”

            “สิริกมล สีหา” อายุ 25 ปี ครูสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งของ จ.ขอนแก่น ขับรถกระบะมิตซูบิชิ ไทรทัน สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน กม 8675 ขอนแก่น ออกจากงานรดน้ำดำหัวโดยมีการดื่มสุราสังสรรค์ หลังจากนั้นจะกลับบ้านที่ อ.โนนศิลา เมื่อถึงบริเวณกม.289–290 ต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ เกิดหลับในพุ่งชนรถกระบะโตโยต้า รีโว่ สีเทา ทะเบียน กษ 5419 ระยองจากนั้นรถได้หมุนไปอัดกับรถกระบะฟอร์ดเรนเจอร์ สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน บร 683 ร้อยเอ็ด ทำให้นายแทน งามสง่า อายุ 32 ปี ชาว อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กระเด็นทะลุรถกระบะฟอร์ด เสียชีวิตสภาพคอและแขนขาหัก ส่วนภายในรถฟอร์ดมีคนเจ็บติดภายใน เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพพุทธญาณสมาคมนำส่ง รพ.บางไผ่ แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา คือ ด.ญ.เพียงเดือน เฉวียงวาศ อายุ 8 ปี และ น.ส.เพียงดาว เฉวียงวาศ อายุ 16 ปี ต่อมา น.ส.สิริกมล คนขับรถคันต้นเหตุได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล รวมอุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 ราย

            จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล โดยทีมสหสาขาวิชาชีพภาคีเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบว่าคนขับรถมิตซูบิซิ ไทรทัน ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุอุบัติเหตุครั้งนี้คือประเด็นหลับใน หรือเมา

            1.ไม่มีรอยเบรก

            2.อ่อนเพลียจากการทำงาน

            3.ดื่มแล้วขับ ผลการตรวจแอลกอฮอล์ 239 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

            4.ช่วงเวลากลางคืน ดึก

            5.ลักษณะทางตรง ลงเนิน ความเร็วของรถอาจจะเพิ่มความเร็วมากขึ้น


“หมดแล้ว แก้วตา-ดวงใจ พ่อแม่”

            “อนาคตที่พ่อกับแม่ทำไว้ตลอดชีวิตให้ลูกทั้งสองคน ต่อไปนี้ไม่มีแรงทำต่อแล้ว” เป็นคำพูดที่ บัวผัน วรไกร พูดถึงลูกสาวที่รักหลังจากสูญเสียลูกสาวทั้ง 2 คน ด.ญ.เพียงเดือน เฉวียงวาศ อายุ 8 ปี และ น.ส.เพียงดาว เฉวียงวาศ อายุ 16 ปี ไปพร้อมกันจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ จากที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน 4 คน ต่อไปนี้เหลือเพียงพ่อกับแม่เท่านั้น

            ครอบครัวเฉวียงวาศ พ่อแม่ และลูกสาวทั้งสองคน มีธุรกิจและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อมีวันหยุดยาว ทั้งหมดจะรีบเดินทางกลับบ้านเกิดของพ่อที่ จ.ร้อยเอ็ด ทันที เพื่อเยี่ยมญาติๆ และอยู่กันพร้อมหน้า โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์เป็นวันของครอบครัว พวกเขาจะเดินทางกลับบ้านมาหาครอบครัวที่ จ.ร้อยเอ็ด ได้อยู่พร้อมหน้ากัน ปีนี้ปู่รอ “เพียงดาว” กลับมาเยี่ยม ตั้งใจว่าจะส่งหลานสาวเข้าประกวดเทพีสงกรานต์

            “ลูกสาวทั้งสองคนเป็นเด็กตั้งใจเรียน เป็นนักกิจกรรม เขามีความฝันอยากทำงานเป็นพิธีกร นักแสดง ปีนี้น้องเพียงดาวเขาเตรียมขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เขาโตเป็นสาวน่ารัก สมวัย ทำกิจกรรมของโรงเรียนมาตลอด เป็นที่รักของเพื่อนๆ และคุณครู กลับบ้านมาเยี่ยมปู่คราวนี้ปู่ก็ตั้งใจจะส่งประกวดเทพีสงกรานต์ ลูกก็เตรียมตัวมาพร้อมแล้ว โดยมีญาติๆ พ่อแม่และน้องมาเป็นกองเชียร์ให้เขา”

            เมื่อบัวผันรู้ว่าเธอสูญเสียลูกสาวทั้งสองคนไปพร้อมกัน บัวผันร้องไห้อย่างไม่อายใคร ลืมความเจ็บปวดบาดแผลจากอุบัติเหตุ ภาพความสดใสของลูกสาวทั้งสองคน การพูดคุยหยอกล้อกันในรถระหว่างเดินทางยังเป็นภาพติดตา ไม่คิดว่าเพียงเสี้ยววินาทีเธอต้องสูญเสียแก้วตาดวงใจไป จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถดูภาพถ่าย เสื้อผ้า ของเล่น หรือแม้แต่จะเอ่ยชื่อของลูกทั้งสองคนได้

            การสูญเสียลูกสาวทั้ง 2 คนไปอย่างไม่มีวันกลับจากอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 บัวผันผู้เป็นแม่ยังต้องดูแลสามีที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องกำชับไม่ให้ญาติบอกสามีว่าเสียลูกสาวไปแล้ว กังวลว่าจะกระทบต่อสภาพจิตใจ เพราะสามีเป็นโรคหัวใจ ต้องกินยารักษาอยู่เป็นประจำ หากรับรู้ข่าวร้าย เกรงว่าสามีจะรับไม่ไหว ทำให้โรคหัวใจกำเริบ หากต้องสูญเสียสามีไปพร้อมกัน บัวผันคงทำใจไม่ได้

            “พอรู้สึกตัวเขาจะถามหาลูกทั้ง 2 คน ว่าลูกอยู่ไหน เป็นอย่างไรบ้าง หมอจะมารักษาดูอาการเขาก็ไม่ยอม บอกให้หมอไปดูลูก เพราะลูกเจ็บมากกว่าเขา ทุกคนไม่กล้าบอก จนเริ่มเห็นว่าผิดปกติ เพราะไม่เห็นหน้าลูก จึงรวบรวมความกล้าค่อยๆ มีญาติๆ เพื่อนๆ มาช่วยกันบอกด้วย ทันทีที่รู้ข่าวสามีตัดสินใจขอหมอออกจากโรงพยาบาลบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อกลับบ้านไปงานทำบุญลูกสาวทั้งสองคนเป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปนี้ยังไม่รู้ว่าเราทั้งคู่จะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร”