ข่าว

‘เติ้ง’สานหัตถศิลป์ทองสไตล์‘ทีเอ็มเค เม็น’ถูกใจคนยุคออนไลน์

‘เติ้ง’สานหัตถศิลป์ทองสไตล์‘ทีเอ็มเค เม็น’ถูกใจคนยุคออนไลน์

20 เม.ย. 2559

‘เติ้ง’ธามาริน สานหัตถศิลป์ทองสไตล์‘ทีเอ็มเค เม็น’ถูกใจคนแฟชั่นยุคออนไลน์ : คมคิดธุรกิจนิวเจน เรื่อง: ณุวภาฉัตร วรฤทธิ์ ภาพ: สุกล เกิดในมงคล

             มรดกที่มีคุณค่ามากพอจะติดตัวคนคนหนึ่งได้ไปตลอดชิีวิตอาจไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองมหาศาล   หากคือมรดกทางฝีมือและวิชาชีพอันสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่น  ดั่งบ้านของช่างทองทำมือโบราณในชื่อต้นมะขาม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพร้อมประวัติการก่อตั้งยาวนานกว่า 100 ปี ใน จ.อ่างทอง  สู่การสืบทอดเทคนิคโบราณจากลูกหลานเป็นต้นอ่อน พร้อมเติบโตแตกใบจนถึงรุ่นที่ 4 ในปัจจุบัน  หนึ่งในนั้นคือหนุ่ม “เติ้ง” ธามาริน เจริญพิทักษ์  วัย 37 ปี ที่นำมรดกความรู้ช่างทองของที่บ้านบวกความคิดสมัยใหม่ พร้อมผลักดันงานสานทองโบราณให้ไม่เงียบเหงาในกลุ่มคนยังเจน ด้วยการก่อตั้งแบรนด์ลูก “TMK MEN” (ทีเอ็มเค เม็น) ฉีกกฎบนการประยุกต์ลวดลายหัตถศิลป์ประจำบ้าน นำมาดีไซน์ใหม่ให้เจาะกลุ่มลูกค้าผู้ชายโดยเฉพาะ สร้างกระแสไฟน์ จิลเวลรี่ ไทยๆ โดนใจกลุ่มคนหนุ่มรักแฟชั่นในเอเชียได้แบบเกินความคาดหมาย

             ทายาทช่างทองในมาดหนุ่มกระตือรือร้นยิ้มต้อนรับสู่โชว์รูมเครื่องประดับของตัวเองใจกลางเมือง อันเป็นที่รวบรวมสินค้าทั้งแบรนด์ต้นมะขามช่างทองดั่งเดิมของที่บ้าน และทีเอ็มเค เม็น ของตัวเองไว้ให้ลูกค้าได้ดูและตัดสินใจสั่งทำปรับปลี่ยนรูปแบบได้ตามความต้องการ ตามสไตล์การทำงานดั่งเดิมตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ที่ริเริ่มทำงานออกแบบเฉพาะบุคคลขายโดยเฉพาะ ซึ่งในส่วนของแบรนด์เครื่องประดับสำหรับผู้ชายเจ้าตัวรับหน้าที่เป็นทั้งช่างทำ และคนขายด้วยตัวเองทั้งหมด   

             “ทีเอ็มเค เม็น คือแบรนด์ที่สะท้องความเป็นผู้ชายในแบบต้นมะขามช่างทอง เสน่ห์ คือ ลายสาน, งานถัก, งานฉลุ, ลงยา งานขึ้นรูปแบบร่วมสมัยในรูปแบบแหวน กำไล สร้อยคอ ที่ดีไซน์เรียบง่าย ปรับลายสานกับขนาดให้ใหญ่ขึ้นไม่ละเอียดยิบเหมือนลายโบราณ วัสดุใช่เงิน ทองคำขาว 18k พิงค์โกลด์ 18k ทองคำ 20k หรืองานชุบต่างๆ ให้ดูแล้วเรียบง่าย โมเดิร์น ใส่ได้คล่องตัวในยุคปัจจุบัน ที่เลือกเน้นทำเป็นเครื่องประดับของผู้ชายเพราะผมเห็นงานของที่บ้านตั้งแต่เด็กๆ ลูกค่ามีอายุหน่อยจะชอบใส่จิวเวลรี่ที่มีน้ำหนัก เขาจะรู้สึกว่านี่แหละงานมือ งานแท้ กลับกันกลุ่มหนุ่มๆ จะไม่ชอบความรู้สึกเกะกะมือ ชอบใส่อะไรเบาๆ เรียบง่ายคล่องตัวกว่า  ซึ่งส่วนมากวัยคนหนุ่มๆ จะไม่รู้ครับว่าต้นมะขามมีลายแบบนี้ นึกว่าเป็นงานโบราณสำหรับคนแก่มากกว่า แล้วบ้านจะกลัวเรื่องการถูกก๊อบปี้ผลงานมากๆ แต่ไหนแต่ไรคุณแม่จะไม่ค่อยชอบเอาร้านออกสื่อ ไม่มีเว็บไซต์ ไม่มีการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย จะมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มแนะนำกันปากต่อปากในหมู่คนรักงานโบราณจริงๆ เลยไม่มีช่องทางจะบอกคนอื่นๆ ว่าเราทำแบบที่ทันสมัยได้นะ นี่เป็นช่องว่าที่ผมเห็นว่าเราปรับวัสดุกับงานบางชิ้นได้เพื่อตลอบสนองคนกลุ่มนี้ได้  ลองเปิดช่องทางสื่อสารใหม่ๆ เติมเต็มช่องว่างที่ตลาดหัตถศิลป์ยังไม่ค่อยมี” ช่างฝีมือหนุ่มเริ่มเล่าถึงที่มา       

             ปัจจุบันศาสตร์ด้านการทำเครื่องประดับหัตถศิลป์โบราณอาจฟังดูยาก ซับซ้อน และยาวนานเกินไปกับคนรุ่นใหม่ยุค 4จี   ขนาดทายาทผู้รับวิชาช่างทองมาเต็มๆ ยังยิ้มบอกว่าเมื่อก่อนไม่เคยคิดจะสานต่อเป็นแบรนด์ใหม่จริงจัง เพราะหลงโลดโผนอยู่กับธุรกิจสมัยใหม่อื่นๆ มาก่อนเช่นกัน แต่ท้ายสุดความคลาสสิกดั่งเดิมของอาชีพงานทำมือ ก็ย้อนมาเอาชนะใจให้กลับมาสานต่องานที่บ้านในรูปแบบที่มีความสุขกว่าเดิม

             “ผมทำอย่างอื่นมาตลอดชีวิต ตั้งแต่เปิดอู่รถ เปิดร้านอาหารชอบอะไร ผมก็จะเอาตัวเข้าไปทำธุรกิจนั้น แต่กิจวัตรหลักๆ ก็ยังช่วยที่บ้านเฝ้าร้าน รีดทองเป็นตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว สุดท้ายพออายุมากขึ้นเราก็ต้องหยุดคิดแล้วมาหาทำอะไรที่เราทำได้นานๆ ดีกว่า เลยลงเรียนคอร์สทำทองกับสถาบันอัญมณีข้างนอกเพื่อให้ได้รู้เบสิิกอื่นๆ นอกจากการรีดทอง  ก็กลายเป็นเริ่มชอบเพราะได้เปิดมุมมองใหม่ของงานอัญมณีเยอะมาก ชอบที่เราได้ออกแบบ ได้ลงมือทำ ยิ่งพอเริ่มมานั่งทำงานของที่บ้านเป็นชิ้นเป็นอันยิ่งรู้เลยว่าของบ้านที่ทำมา 4 รุ่นเนี่ย เทคนิคดีกว่าข้างนอกเยอะเลย เราก็มีของดีอยู่กับตัวตั้งนานแล้วนะ   ถามว่าแล้วทำไมไม่เรียนกับที่บ้านตั้งแต่แรก ก็เพราะรู้ตัวครับว่าชินกับแวดล้อมตรงนี้ จะมีข้ออ้างอย่างขี้เกียจตื่นเริ่มเรียนสายๆ ได้ไหม ผลัดไปเรียนวันอื่นได้ไหม แต่ถ้าเรียนนอกบ้านเสียเงินเรียนไปแล้วไม่น้อย ไม่ไปเรียนก็เสียดายแย่ ข้อดีอีกอย่างคือเราจะได้มีเบสิกมาบ้างด้วย พอมาทำงานกับช่างงานโบราณที่บ้านเต็มตัวจะได้เข้าใจศัพท์เทคนิคของช่างทำตามได้แบบสนุกมาก”

             เล่าถึงจุดนี้ หนุ่มเติ้งเสริมต่อว่า คนยุคใหม่ที่เกิดมามีวิชางานหัตถศิลป์อยู่ในมือแล้วนับว่ามีความโชคดี เพราะปัจจุบันค่าเรียนทำเครื่องประดับทองคอร์สเบสิก 10 ชั่วโมง ราคากว่า 6 หมื่นบาท เป็นราคาที่รู้แค่การรีดทอง และการเชื่อมเท่านั้น ยังไม่รวมการเรียนรู้เทคนิคการสาน ทำลวดลายเฉพาะ ลองตีมูลค่าแล้วค่าเล่าเรียนไปถึงหลายแสนแน่นอน ดังนั้นการเริ่มต้นงานโบราณจากศูนย์ในสมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โชคดีที่ตัวเองได้เรียนลวดลายเฉพาะจากที่บ้าน มีต้นทุนความรู้เรื่องศิลปะและอุปกรณ์อยู่แล้ว เรียนรู้ไม่นานก็สามารถออกแบบ ลองทำใส่เองระยะหนึ่งเพื่อหาจุดบกพร่อง ปรับจนได้ผลงานสมบูรณ์พร้อมสานต่องานธุรกิจได้เลย 

              "พอจะปรับรูปแบบนี้ ต้องรีบปรึกษาที่บ้านก่อนครับ อย่างแรกขอมีช่องทางประชาสัมพันธ์แบรนด์ มีการติดต่อดูสินค้า และโชว์สินค้าทางโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ ไอจี เฟซบุ๊ก โปรแกรมไลน์ มีให้ติดตาม โดยทุกแบบเริ่มจากเป็นงานที่ผมดีไซน์เอง ไม่ใช่เอางานของที่บ้านมาโชว์ซึ่งทำแบบนี้คุณแม่ก็สบายใจครับท่านก็ไม่ต้องคิดมากว่าใครจะมาลอกแบบงานของบ้านเรา ที่สำคัญทำลวดลายดั่งเดิมอย่างแบบข้อมะขาม ผมจะไม่ปรับวัสดุให้ถูกลงเพื่อเอามาตัดราคาของเดิมที่บ้านเลย เคยทำจากอะไรก็จะคงให้เป็นเอกลักษณ์แบบนั้นไปเสมอเป็นข้อตกลงทางธุรกิจกัน  สไตล์งานของผมเลยไม่ได้ตามเทรนด์มากๆ  เป็นแบบนี้ผมปรับจากงานที่สืบทอดมา ลูกค้าที่ชอบงานผมคือคนที่ซื้อแบบเรียบง่ายมาใส่ติดตัวไว้ตลอด ไม่เปลี่ยนบ่อย บางคนยอมให้คิดค่าแรงเท่าการทำเครื่องประดับทองแต่เปลี่ยนเป็นเงินเพราะอยากให้ลายนี้เอามาใส่ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันมากกว่าก็มี" 1 ใน 18  เจนใหม่ของช่างทองต้นมะขามเผยเรื่องราวการก้าวสู่ยุคโซเชียลมีเดียของแบรนด์

             หลังจากเปิดตัวเมื่อปลายปีก่อน ฝีมือของช่างทำเครื่องประดับรุ่นใหม่คนนี้ก็ดังไกลไปถึงฝั่งเกาหลี ญี่ปุ่น และอาหรับ เพราะเมื่อแหวนลายไทยแท้ๆ ได้เดินทางไปอยู่บนนิ้วมือของ “จี ดราก้อน” (G-Dragon) ศิลปินดังแดนโสม ทุกช่องทางในโซเชียลมีเดียวก็มีผู้คนเข้ามาติดตามมากอย่างรวดเร็วเป็นโอกาสเผยแพร่ผลงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่นิยมกว้างขวางมากขึ้น

             "ผมมีเพื่อนเป็นโปรดิวเซอร์ให้ค่ายเพลงที่เกาหลี  เขาเห็นผลงานผมก็ชอบครับตกใจว่าผมสไตล์แบบนี้ด้วยหรอ คือรู้จักกันมานานแต่เขาเข้าใจว่าบ้านผมทำเครื่องประดับไทยๆ สำหรับให้ผู้สูงวัยมาตลอด สุดท้ายก็ซื้อผมไปวงหนึ่งเป็นแหวนเงินลายสานกลมซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นแม่เลย ผมเอามาเรียงกันเป็นคลื่นจับประกบกันเป็นแหวนวงใหญ่เหมาะกับมือผู้ชายหน่อย พอซื้อไปไม่นานเพื่อนคนนี้ก็ติดต่อกลับมาว่า จีดราก้อน วง บิ๊กแบงค์ ของเกาหลี อยากจะสั่งทำแหวนแบบนี้บ้าง ผมก็ทำให้ใหม่ใช้เวลา 3 อาทิตย์ ส่งออเดอร์ไปให้ ตอนทำแหวนผมรู้ข้อมูลลูกค้ามาว่าเขาดังมากนะเป็นแร็พเปอร์ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นไอคอนแฟชั่นของเอเชียเลย เขาจะมาสั่งแหวนเงินสานไทยๆ ไปใส่จริงเหรอ จะออกมาเป็นยังไง ความดีใจอยู่ตรงที่เขารองานเรา พอได้รับของแล้วก็ใส่ถ่ายรูป อัพอินสตาแกรมเลย แท็กชื่อร้านให้อีกซึ่งเกินความคาดหมายเรามากๆ ครับ ซึ่งเขาก็ใส่ให้เราเห็นเป็นแฟชั่นร่วมสมัยได้นะ"  หลังจากนั้นศิลปินในค่ายเดียวกันก็มาสั่งทำแหวนอีก 2 คน เป็นเรื่องให้ช่างหนุ่มยิ้มกว้างภูมิใจเมื่อเอ่ยถึง 

              ส่วนฟีดแบ็กที่เข้ามาเยอะจากเหตุการณ์นี้คือกลุ่มร้านซีเล็คชั่นช็อปของเกาหลี-ญี่ปุ่น มีติดต่อเข้ามาขอเอาของเราไปลงทันที  แต่สิ่งหนึ่งที่คนทำทองหนุ่มบอกว่า ต้องคิดให้รอบคอบคือพฤติกรรมผู้บริโภคของที่นู้น ถ้าวางให้งานให้หาซื้อได้ทั่วๆ ไป ใครก็ใส่ได้ก็จะไม่ซื้อ  ลูกค้ากลุ่มเฉพาะอย่างศิลปินที่เล่าให้ฟังก็จะหายไปด้วย เลยเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาดูว่าจะปล่อยเห็นแบรนด์เป็นของคนที่ต้องการจริงๆ ต้องสั่งต้องรอนิดหน่อย หรือหาเลือกได้ทั่วๆ ไป  ซึ่งเจ้าตัวยิ้มบอกว่าชอบอย่างแรกมากกว่า

              “เราใช้สื่อโซเชียลมีเดียก็เหมือนเป็นหน้าร้านสอบถามข้อมูลได้ปกติ ซึ่งลูกค้าที่ต้องมานั่งคุยกับผมตรงนี้ว่าจะสั่งทำอะไรคือคนที่พร้อมแล้ว ตัดสินใจว่าจะสั่งทำชิ้นนี้นะ เขาก็จะติดต่อมาหาผม นัดเจอกัน ดูแบบจริงปรึกษาช่าง พอมาถึงจุดนี้ 99.9% ซื้อแน่นอน ต้นมะขามไม่เคยจ้างพนักงานขายเลยครับทำกันเองมาตลอด แบรนด์ผมก็เช่นกันเพราะด้วยบ้านเราเป็นช่างทองเองด้วย ถ้าได้คุยกับลูกค้าเองก็จะแนะนำได้ดีกว่า สไตล์ผมจะแนะนำตรงๆ เลย แบบไหนเหมาะไม่เหมาะ ใช้งานแบบไหนถึงจะดี ลูกค้าจะชอบที่ได้คุยงานแล้วจบที่ตรงนี้วันเดียวเลย” 

ปัจจุบันแบรนด์ทีเอ็มเคน เม็น มีหนุ่มเติ้งเป็นช่างสานเพียงคนเดียว ส่วนต้นมะขามจะมีช่างสานทำร่วมกับเจ้าตัวอีก 1 คน ส่วนช่างในขั้นตอนอื่นๆ มีแผนกละ 1-2 คนเท่านั้น และมีช่างเก่าแก่ของที่บ้านเป็นที่ปรึกษาให้เทคนิคต่างๆ อีก 1 คน ฟังดูจำนวนน้อยแต่สามารถสร้างงานคุณภาพได้ตลอดทั้งปี ส่วนทายาทหนุ่มก็มั่นใจว่าศักยภาพกว่า 80% ที่มีในตัวเองตอนนี้พอกับการสืบสานต่องานหัตถศิลป์นี้ได้อีกหลายสิบปีแน่นอน

"สิ่งที่ดีมากๆ ของงานทำทองมือตั้งแต่ยุคทวดผมเครื่องมืออุปกรณ์ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ยังใช้งานได้ดีอยู่ เทคนิคต่างๆ เราเลยทำได้เหมือนเดิมเป๊ะ อาจมีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย เช่น ใช้เลเซอร์แทนน้ำประสานทอง ใช้เตาหลอมไฟฟ้า  แต่ม้ารีดลวดตอนนี้ใช้งานมา 100 กว่าปีแล้ว นานจนมีเศษทองไปฝังเหมือนมีคนมาแปะทองไว้เยอะๆ  ซึ่งผมมองแล้วมีความสุขมาก มีร่องรอยเรื่องราวช่างเทคนิคโบราณน่าตื่นเต้นให้เราเรียนรู้พัฒนาตัวเองอีกเยอะ   อีกหน่อยงานจิลเวลรี่จะมีเทคโนโลยีช่วยเยอ ตอนนี้มีทรีดี ปริ๊นเตอร์ ที่ทำเครื่องประดับออกมาเป็นพลาสติกได้ตามแบบเป๊ะ คงมีการพัฒนากับงานในวัสดุอื่นๆ ได้ในอนาคตแน่นอน ซึ่งเราก็อาจจะตามไปบ้างในรูปแบบที่ช่วยให้สะดวกขึ้น แต่ยังต้องคงเอกลักษณ์ เสน่ห์งานมือ เทคนิคของวิชาชีพดั่งเดิมเอาไว้ เพราะพิสูจน์แล้วว่ากี่ยุคสมัย งานทำมือช้าๆ เนี้ยบๆ ต้องตั้งตารอแบบนี้ ก็ยังอยู่ได้เพราะเสน่ห์ คุณค่า และเรื่องราวของตัวผลงานเอง มีดีเทลที่เทคโนโลยียังทำไม่ได้เช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวว่าอนาคตคนจะไม่สนใจสินค้าลายโบราณเลย" ผู้สืบทอดฝีมือช่างทองโบราณเล่าถึงเสน่ห์ของงานยุคเก่าทิ้งท้าย  

เพื่อสานต่อความรู้ไม่ให้เลือนหาย ตอนนี้ช่างเติ้งกำลังรีโนเวทสตูดิโอในซอยนายเลิศ  ถนนวิทยุ ให้เป็นที่เรียนรู้ของผู้ที่สนใจศาสตร์การทำทองโบราณในเร็วๆ นี้ สามารถติดตาผลงานดีไซน์ประยุกต์ ลวดลายทองโบราณเพื่อคนรุ่นใหม่ ได้ที่ อินสตาแกรม: TMKMEN และ Facebook.com/tmkmen