ข่าว

เกาะติดแลนด์มาร์ดเจ้าพระยายึดอัตลักษณ์-วิถีชุมชนดั้งเดิม

เกาะติดแลนด์มาร์ดเจ้าพระยายึดอัตลักษณ์-วิถีชุมชนดั้งเดิม

20 เม.ย. 2559

เกาะติดแลนด์มาร์ดเจ้าพระยายึดอัตลักษณ์-วิถีชุมชนดั้งเดิม : นายคลองหลอด [email protected]

            โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคืบหน้าไปอีกระดับหนึ่งภายหลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามในสัญญาจ้างกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 120 ล้านบาท ให้เป็นที่ปรึกษาโครงการและสำรวจออกแบบจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา โดยมี รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน รองอธิการบดี สจล. เป็นผู้จัดการโครงการ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เป็นโฆษกโครงการและดูแลงานด้านกระบวนการมีส่วนร่วมและการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจชุมชน ที่ผ่านมาทีมที่ปรึกษาโครงการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 32 ชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่ศึกษาด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ชลศาสตร์ และงานออกแบบเบื้องต้นตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตร
    
             ซึ่งที่ปรึกษาโครงการมีหน้าที่หลัก คือ 1.จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 57 กิโลเมตร 2.ออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระยะทาง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3.ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการและสาธารณะ ซึ่งงานทั้งหมดที่ปรึกษาต้องทำให้เสร็จภายใน 210 วัน โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับผิดชอบงานออกแบบโครงสร้าง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบงานการศึกษาและทำรายงานเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
    
             โดยที่ผ่านมาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะทีมที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ดำเนินการศึกษาด้านงานสำรวจและวิศวกรรม กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการออกแบบสถาปัตยกรรมควบคู่กัน โดยเป็นการศึกษาทางวิชาการใหม่ทั้งหมดจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นลำดับเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาและพัฒนาภูมิทัศน์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้แนวคิดเจ้าพระยาเพื่อทุกคน
  
             ทั้งนี้ทีมที่ปรึกษาโครงการรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นทั้งด้านการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม โดยเฉพราะกรณีที่สื่อมวลชนบางแห่งจำลองภาพรูปแบบโครงการว่าจะอยู่สูงกว่าแนวป้องกันน้ำท่วมเดิมนั้น รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน รองอธิการบดี สจล. ผู้จัดการโครงการ บอกว่า ไม่เป็นความจริงรูปแบบโครงการจะไม่สูงกว่าแนวเขื่อนที่มีอยู่เดิมอย่างแน่นอน เนื่องจากแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมบางแห่งสูง 3.25-3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำ อากาศ เสียง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงอัตลักษณ์และวิถีชุมชนดั้งเดิมเป็นหลัก
     
             นอกจากนี้ในส่วนของการสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่ศึกษา รวมถึงสำรวจและจัดทำแผนที่แสดงรายละเอียดภูมิประเทศ ทีมที่ปรึกษาโครงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งการศึกษาด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยา รวบรวมข้อมูลระดับน้ำสูงสุดและต่ำสุดในปีต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดรูปแบบโครงสร้างและสถาปัตยกรรม ตลอดจนเป็นข้อมูลประกอบในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี) ในส่วนของการศึกษาด้านวิศวกรรมและระบบสาธารณูปโภค มีการศึกษาทบทวนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และบริบทโครงการ ทั้งนี้จะมีร่างแนวคิดการออกแบบในพื้นที่เขตตัวอย่างแบบแรกเพื่อที่จะนำเสนอต่อเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 ในวันที่ 22 เมษายน
      
             ทีมที่ปรึกษาโครงการลงพื้นที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ ครั้งที่ 1 ตลอดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลงพื้นที่พบปะและประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับผู้นำชุมชนและประชาชน 32 ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์และแผนงานโครงการ อีกทั้งยังประชุมและสัมภาษณ์ในเชิงลึกร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรม วัดและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล รวมถึงข้อกังวล ปัญหาที่ต้องการให้ดำเนินการแก้ไขและร่วมเสนอแนะแนวทางต่างๆ เช่น ปัญหาน้ำขัง น้ำเน่าเสีย แนวป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่เดิมบางส่วนบดบังทัศนียภาพและทิศทางลม ทางเดินไม่ควรผ่านหน้าวัดเทวราชกุญชร การออกแบบให้ตอบสนองกิจกรรมและวิถีชุมชน ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยของชุมชนหากมีสวนสาธารณะใกล้ชุมชน เป็นต้น
     
             ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. โฆษกโครงการและดูแลงานด้านกระบวนการมีส่วนร่วมและการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจชุมชน กล่าวว่า ได้นำข้อคิดเห็นและข้อกังวลหารือร่วมกับทีมสถาปัตยกรรมถึงแนวทางการจัดการและออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นอกจากนี้ทีมที่ปรึกษาโครงการยังหารือถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เจ้าพระยา เพื่อบอกเล่าถึงวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงความเป็นมาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนรุ่นหลัง ส่วนชุมชนที่สร้างรุกล้ำแม่น้ำนั้น ทีมที่ปรึกษาโครงการทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ เช่น การสร้างกลุ่มออมทรัพย์ การจ่ายค่าตอบแทนด้านที่อยู่อาศัยหรือการหาพื้นที่ที่เหมาะเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ให้
    
             โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนจะมีการรับฟังความคิดเห็นตลอด 7 เดือนของการศึกษาและสำรวจโครงการ อีกทั้งจัดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนรวม 3 ครั้ง นอกจากนี้ทีมที่ปรึกษาโครงการยังได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการตลอด 14 กิโลเมตร เพื่อเข้าไปชี้แจงพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูลและข้อกังวลต่างๆ มาประยุกต์และออกแบบโครงการรวมถึงรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากประชาชนทุกภาคส่วน ผ่านเฟซบุ๊ก Chao Phraya for All และอีเมล [email protected]
      
             ทั้งนี้ถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาโครงการจะจัดการประชุมสัมมนาและรับความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีผู้แทน กทม. หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ศาสนสถาน ชุมชน สมาคมวิชาชีพต่างๆ นักวิชาการ ผู้ประกอบการธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชนที่สนใจ ในวันที่ 22 เมษายน เวลา 09.00-12.00 น. ที่โรงแรมเอสดี อเวนิว เขตบางพลัด เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
      
             นอกจากนี้ที่ปรึกษาโครงการต้องดำเนินการตามสัญญาจ้างที่ระบุว่า “ต้องกำหนดให้มีช่องทางสำหรับจักรยานและทางเดินเท้าเป็นหลัก จัดให้มีลานสันทนาการ ศาลาพักผ่อนริมแม่น้ำ สวนสาธารณะและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่บริการ ลานจอดรถจักรยาน ลานกิจกรรมให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับสภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่” และการออกแบบต้องคำนึงถึงความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมของไทยเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการพิจารณาด้านประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่า อำนวนความสะดวกแก่สาธารณะ นักท่องเที่ยว ประชาชนและคนพิการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมภาพลักษณ์แก่ กทม.
    
             โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลจะก่อสร้างโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน และโบราณสถานจริงหรือไม่ ที่สำคัญประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรต้องติดตามต่อไป