
เสียงสะท้อนสิทธิมนุษยชนในไทย-คสช.ควรฟัง
เสียงสะท้อนสิทธิมนุษยชนในไทย-คสช.ควรฟัง : จักรวาล ส่าเหล่ทู สำนักข่าวเนชั่นรายงาน
เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา หลายคนรู้ดีว่าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์อันชื่นฉ่ำ ที่ทุกคนจะพากันฉลองวันปีใหม่ไทย ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุ
และก็เป็นวันเดียวกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่ “รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี 2558” (Country Reports on Human Rights Practices for 2015) จัดทำโดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานในแต่ละประเทศทั่วโลกรวม 199 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
เป็นที่แน่นอนว่า การวิพากษ์เรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในรายงานนี้ ก็ต้องมีการกล่าวถึงบรรยากาศการเมืองในยุคของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทั้งหัวหน้าและนายกรัฐมนตรี ซึ่งในรายงานได้ระบุว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ได้ให้อำนาจทหารสามารถควบคุมตัวบุคคลใดก็ได้ โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา และสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และก่อนที่จะปล่อยตัวนั้น เจ้าหน้าที่มักจะให้ผู้ที่ถูกควบคุมเซ็นเอกสารเพื่อยืนยันว่าจะละเว้นจากกิจกรรมทางการเมือง และต้องขออนุญาตก่อนที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้รายงานดังกล่าวยังอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ที่เปิดเผยว่า ในปี 2558 ทหารได้ควบคุมตัวบุคคลไปแล้วอย่างน้อย 256 คน แต่ถ้านับตั้งแต่มีการรัฐประหารแล้วก็มีการควบคุมตัวอย่างน้อย 1,222 คน โดยบุคคลที่ถูกควบคุมตัวนั้นก็มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ,นักการเมือง,นักวิชาการและนักข่าวรวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ดี รายงานชิ้นนี้ยังได้ระบุถึงความพยายามปิดกั้นสื่อและคัดกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์ของ คสช. ซึ่งการกระทำอันเข้มงวดของ คสช. ยังส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยประชาชน หรือแม้กระทั่งในตัวสื่อเอง
นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังได้พูดถึง “สิทธิมนุษยชน” ในแง่อื่นๆ อีก อาทิ การใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง กรณีการหาผลประโยชน์กับล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก เป็นต้น ที่แม้จะมีกฎหมายรองรับ แต่บางครั้งก็บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล โดยประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงบางประเด็นที่มีในรายงาน คาดว่าไม่นานนักทางเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐในประเทศไทย จะแปลเป็นภาษาไทยให้อ่านกัน
ทันทีที่รายงานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ ไม่นานนัก คสช.ก็มีการตอบโต้รายงานดังกล่าว โดย พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.ระบุว่า ข้อมูลที่สหรัฐนำไปประมวลผลนั้น อาจมีความคลาดเคลื่อน และยังไม่มีความครอบคลุมอยู่บ้าง ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่นานาชาติสนใจ อย่างเรื่องการปราบคอร์รัปชั่น เรื่องแรงงานนั้น ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองนั้น ยังทำได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ไปละเมิดคนอื่น หรือองค์กรอื่นๆ และต้องไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในชาติด้วย
โดยในส่วนมาตรการควบคุมตัวบุคคลนั้น พ.อ.วินธัยระบุชัดเจนว่า เป็นเพียงมาตรการที่ทำให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย และการปฏิบัติต่อบุคคลของเจ้าหน้าที่นั้น ก็เป็นไปอย่างให้เกียรติและสุภาพ เป็นเพียงแค่การพูดคุยทำความเข้าใจกันอย่างสร้างสรรค์ ยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ส่งผลกระทบกับบุคคลทั่วไปในส่วนมีคนถูกควบคุมตัวจำนวนมากนั้น คงไม่ใช่เครื่องบ่งชี้อะไรที่น่ากังวล เพราะหลายคนส่วนใหญ่เข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินการตามมาตรการนี้ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเน้นการพูดคุยทำความเข้าใจกัน
แต่ในมุมมองของคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มองเหมือนอย่าง คสช. โดย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงรายงานชิ้นนี้ว่า มีการนำเสนอครอบคลุมทุกประเด็น และก็ไม่ได้เป็นที่ผิดแปลกอะไร เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ 7 ฉบับ โดยที่ผ่านมา กสม.ก็ได้รับเรื่องร้องเรียน ไม่ต่างจากที่อยู่ในรายงานชิ้นนี้ ทั้งนี้ประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมสนธิสัญญา กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ด้วย โดยกติกานี้ได้ระบุุถึงการใช้กฎหมายพิเศษที่ให้ใช้เท่าที่จำเป็นในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งไทยเองก็ต้องชี้แจงให้เห็นว่า ไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร
“ต้องเรียนว่า สิทธิมนุษยชนกว้างกว่ากฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายว่ากฎหมายที่ละเมิดสิทธิ เราจะใช้อย่างไรไม่ให้กระทบกับประชาชนในวงกว้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจอย่างเสรีภาพในการแสดงความเห็น เช่น กรณีการจัดเวทีวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) ที่ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งถูกทหารสั่งยุติก่อนเริ่ม พอเราได้ตรวจสอบก็พบว่าเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ที่มองว่าเป็นการมั่วสุมทางการเมือง แต่ทางผู้จัดก็ยืนยันว่าเป็นแค่การให้ความรู้ประชาชนเท่านั้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาของการละเมิดสิทธิ” กรรมการสิทธิฯ ระบุ
ทั้งนี้นางอังคณายังกล่าวอีกว่า การมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อเรื่องต่างๆ รัฐบาลควรผ่อนปรนกติกาบางอย่างเพื่อให้เปิดพื้นที่ให้คนทุกฝ่ายได้มีส่วนรวม โดยเฉพาะการแสดงความเห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญที่มีหลายประเด็น ซึ่งเป็นของใหม่และมีการปรับเปลี่ยนจำนวนมาก ลำพังหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญคงทำได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้นควรเปิดให้องค์กรและภาคส่วนต่างๆ ที่มีองค์ความรู้ในประเด็นเฉพาะเข้าร่วมดำเนินการด้วย
ขณะที่ “สุรพงษ์ กองจันทึก” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องยอมรับว่า ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศเผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่ ก็ต้องมีการศึกษาข้อมูลมาชัดเจนแล้ว ซึ่งเราก็ต้องยอมรับในความเห็นส่วนนี้ โดยสิ่งที่ต้องทำคือแก้ไขมากกว่าแก้ตัว ขณะนี้สถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่เมื่อเทียบกับมาตรฐานของสากล ยิ่งเรามีรัฐบาลทหาร ที่มองว่าสังคมไทยยังคงมีความไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง ก็เลยต้องเข้มงวดเรื่องความมั่นคง จนทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกละเลยไปในช่วงหนึ่ง
“ในส่วนผลกระทบที่จะได้รับจากรายงานนี้ ต้องเรียนว่า ด้วยความที่สหรัฐเป็นประเทศใหญ่ และมีพลังต่อประเทศอื่นๆ ดังนั้นรายงานออกมาแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่จะมาดำเนินการใดๆ กับประเทศไทยก็จะใช้รายงานส่วนนี้อ้างอิง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็จะโยงไปยังรายงานชิ้นนี้ด้วย โดยขณะนี้เศรษฐกิจของไทยก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นการที่รายงานมีทิศทางแสดงความเป็นห่วงก็จะส่งผลไม่ค่อยดีในเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น บางประเทศอาจจะกีดกันทางการค้ากับเราในบางเรื่อง โดยอ้างว่าประเทศไทยเรายังมีเรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่ดีพอ หรืออาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกยอมรับน้อยลงในสายตานานาชาติ” อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าว
เป็นที่น่าจับตามองว่า หลังจากที่มีรายงานที่แสดงความเป็นห่วงในประเด็นสิทธิมนุษยชนแล้ว ทางรัฐบาลจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้น เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเราได้รับความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ได้แต่หวังว่า รัฐบาล คสช.จะแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง
นอกจากนี้สิ่งน่าจับตามองอีก คือ ช่วงเวลาก่อนทำประชามตินั้น จะมีการผ่อนปรนเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากยังคงเข้มงวดอยู่ บรรยากาศความปรองดอง หรือการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก็อาจะเลือนราง เพราะสิทธิมนุษยชนถือเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย