
ขั้วการเมืองใหม่ซ่อนรูป2พรรคใหญ่ไร้ความหมาย
ขั้วการเมืองใหม่ซ่อนรูป 2พรรคใหญ่ไร้ความหมาย : นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์รายงาน
กติกาใหม่ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. โดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” กำลังเป็นข้อกังวลของบรรดาพรรคการเมือง ทั้งเรื่องการเข้าสู่อำนาจ และการมีอำนาจบริหาร (อย่างแท้จริง) ของรัฐบาลใหม่
“พรรคขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็ยังไม่รู้เลยว่า ตัวเองจะได้รับผลอย่างไรบ้างกับกติกาใหม่...อนาคตของพรรค อยู่กับกติกาที่กำลังออกแบบกันอยู่...วันนี้คล้ายจะใช้หลักเสียงข้างน้อยปกครองเสียงข้างมากแล้ว รวมทั้งการปรับระบบ เพื่อรองรับอำนาจนอกระบบ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” เสียงสะท้อนจาก ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และหนึ่งในมือนักยุทธศาสตร์ของพรรค บอกตรงไปตรงมา
ไม่ต่างกับพรรคใหญ่ขั้วตรงข้าม อย่าง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า “กติกาในรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ จะสร้างปัญหามาก ถ้า ส.ว.เลือกนายกฯได้ เท่ากับเราไปตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เวลากฎหมายสำคัญให้ ส.ส.เป็นคนลงมติ แล้วถ้าถูกคว่ำ? คิดว่า 3-4 เดือน รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้แล้ว ส.ว.วาระ 5 ปี เท่ากับ 8 ปีของรัฐบาล การเมืองไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งอยู่ไม่ได้ ปฏิบัติตามนโยบายตัวเองไม่ได้เลย”
เสียงสะท้อนจากนักการเมืองไม่เฉพาะ 2 พรรคใหญ่เท่านั้น แต่พรรคลำดับถัดไป ต่างก็ “อึดอัด” กับอคติของทหารต่อนักการเมืองไม่ต่างกัน
ตรวจสอบ มุมมองของ 2 พรรคใหญ่ เหตุที่ไม่เห็นด้วยกับกติกาใหม่ของรัฐบาลทหารในการปฏิรูปการเมือง เพราะพวกเขาเชื่อว่า ทหาร คสช.มีอคติกับนักการเมือง “เนื้่อหาของรัฐธรรมนูญ ร่างขึ้นมาเพื่อจัดการกับนักการเมือง ไม่ใช่แก้ปัญหาประเทศ หรือปฏิรูปประเทศ 2 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปก็ไม่เกิด แต่กลับกีดกันนักการเมือง ทั้งที่คนมีส่วนร่วมในการร่างกติกา ก็ไม่ได้ดีไปกว่านักการเมือง” อดีตคีย์แมนเพื่อไทยรายหนึ่ง สะท้อนความเห็นจากแวดวงการเมือง
แม้พรรคใหญ่จะแสดงจุดยืนต่อต้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ หรือพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ยอมไปตามน้ำเพื่อผลทางการเมือง ที่สุดแล้วทุกฝ่ายก็ต้องเล่นตามกติกาของ คสช.
หากมองข้ามช็อตไปหลังการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ อนาคตพรรคการเมือง และทิศทางการเมืองไทย จะเป็นอย่างไรต่างหาก เป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า
เวลานี้ แม้กระแสภายนอกอาจจะมองว่า พรรคเพื่อไทยคงชนะถล่มทลายเหมือนเดิมได้ยากมากในสถานการณ์นี้ แต่ “คนใน” ก็มั่นใจว่า เพื่อไทยยังเป็นที่ 1 เพียงแต่จะชนะเท่าไหร่ และปัญหาที่น่าวิตกยิ่งกว่า... “ถึงเพื่อไทยได้ที่ 1 แต่จะได้ตั้งรัฐบาลก็ต้องถล่มทลายเท่านั้น เชื่อว่าจะมีมาตรการบางอย่าง ซึ่งยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวในตอนนี้ แผน 1 คือไม่ให้ชนะ และแผน 2 ถ้าเพื่อไทยชนะผู้มีอำนาจจะทำอย่างไรต่อ” อดีตคีย์แมนเพื่อไทย ประเมิน
ยุทธศาสตร์ของ “เพื่อไทย” จึงพุ่งเป้าไปที่ การยึดฐานเสียงประชาชนเอาไว้ให้เหนียวแน่นเท่านั้น จึงจะเอาชนะได้
ขณะที่สถานการณ์ในฝั่ง “ประชาธิปัตย์” แม้จะเป็นคู่แข่งเพื่อไทย แต่ก็ไม่ใช่คู่แข่ง และคู่กรณีของ คสช. ที่สำคัญประชาธิปัตย์จะเอาชนะเพื่อไทยได้ยาก ถ้าไม่บวกกับทหาร
ทหารอาจมองว่า ประชาธิปัตย์ควรนิ่ง และไม่มีท่าทีต่อต้านแนวทางของ คสช. แต่นั่นอาจจะเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับสถานการณ์ภายในของประชาธิปัตย์เอง เพราะการเมืองระหว่างแกนนำพรรครวมทั้งสมาชิก กับผู้สนับสนุน คสช.อย่างเป็นทางการ อย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ก็ไม่ราบรื่น
กระทั่งเริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาว่า ให้จับตาการเปลี่ยนผู้นำประชาธิปัตย์(ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง)ให้ดี เพราะผู้มีอำนาจก็ต้องการความราบรื่นในการต่อพ่วงขบวนพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน เพราะไม่เช่นนั้นถึงเวลาตั้งรัฐบาล ประชาธิปัตย์อาจกลายเป็นหอกข้างแคร่
ฉะนั้น อนาคตประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ “แสดงจุดยืน” ในแต่ละสถานการณ์ต่อ คสช.เช่นกัน
ขณะที่พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ถูกมองว่าได้ประโยชน์ทุกสถานการณ์ แต่ละพรรคจึง “สงวนท่าที” เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เอาไว้รอผลว่า ฝ่ายใดจะชนะ พร้อมกับต่อสายไว้ทุกทาง
พวกเขารู้ดีว่า แม้แต่ทหารก็จำเป็นต้องพึ่งพรรคเล็กพรรคน้อย โดยเฉพาะเสียง ส.ส.ในสภา ที่จะผนึกกับเสียง ส.ว.สรรหาของ คสช.
หัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงนี้ จึงทำให้การเมืองไทยคงอยู่ในสภาวะอึดอัดและอึมครึม
ขณะที่รัฐบาล คสช.ของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมองในมุมตรงข้าม “เพื่อไทย” กำลังพยายามทำอย่างไรที่จะให้กลไก คสช.บริหารประเทศต่อไปได้ และทำให้ดูเหมือนว่า รัฐบาลไทยเป็นประชาธิปไตยในสายตาชาวโลก โดยพยายามทำให้เข้าใจว่า การมีประชาธิปไตยคือ ต้องมี “เลือกตั้ง”
แต่ก็เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงว่า เราจะเป็นประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ แต่เนื้อหาอาจถูกตั้งคำถาม หรือไม่...ถือเป็นโจทย์ยากของรัฐบาล คสช.ที่ต้องแก้สถานการณ์ในอนาคต
อนาคตของ(พรรค)การเมืองไทย หลังเลือกตั้งภายใต้กติกาในรัฐธรรมนูญใหม่ ปัญหาใหญ่จะไม่ใช่การแย่งชิงกันตั้งรัฐบาลระหว่าง พรรคใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ อีกต่อไป เพราะ “ขั้วการเมืองใหม่” ที่ถูกซ่อนรูปเอาไว้ในกลไกการเมืองต่างหาก ที่อาจทำให้ 2 ขั้วการเมืองใหญ่ ไร้ความหมาย
นิกร จำนง ผู้อำนวยการและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
“เนื้อหาที่ไม่เห็นด้วย เกรงจะสร้างปัญหา คือ การตั้งคำถามประกอบประชามติ ที่ให้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี นายกฯ ต้องมาจากการลงมติเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา เป็นคำถามที่ไม่ชัดเจน หากได้รับความเห็นชอบจากประชาชน อาจกระทำต่อการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่ทราบว่าขอบเขตของคำถามประกอบประชามตินั้นอยู่ที่จุดใด”
“เนื้อหาบทเฉพาะกาล ที่กำหนดขอบเขตการปฏิบัติไว้ 5 ปี จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลชุดหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการให้วุฒิสภาเป็นผู้กำกับการทำงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องการรายงานผลความคืบหน้า การปฏิรูปทุก 3 เดือน ทำให้บทบาทของ ส.ว.เป็นตัวถ่วงดุลให้รัฐบาลอยู่ในแนวทางที่ได้กำหนดไว้ ตามที่รัฐธรรมนูญหรือแผนต่างๆ กำหนด โดยรัฐบาลไม่สามารถวางนโยบายหรือทำตามสิ่งที่ได้หาเสียงกับประชาชนได้”
“รวมถึงเมื่อพูดถึงการบริหารประเทศในยุคต่อไป เชื่อว่าต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง และต้องอาศัยการแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย...เมื่อระยะเปลี่ยนผ่านให้น้ำหนักกับ ส.ว.มาก จึงอาจเกิดปัญหาต่อการบริหารได้ ต่อให้มีคนนอกมาเป็นนายกฯ จะหลีกหนีปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่พ้น”
ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา
“เชื่อว่าคณะที่เข้ามา ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เมื่อได้ตัดสินใจทำอะไรอย่างหนึ่ง ต้องอยู่บนพื้นฐานของการแก้ปัญหาของประเทศที่บรรลุถึงความสำเร็จ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศ และยุติการทะเลาะเบาะแว้งของคนในประเทศ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ พยายามทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว...ส่วนพรรคชาติพัฒนา มองว่าสิ่งที่เป็นกติกา ฐานะผู้เล่นต้องปฏิบัติตามกติกาที่ออกมา...”
“ไม่มีกฎเกณฑ์อันใด ที่ไม่มีคนคัดค้าน ซึ่งกติกาที่ยังไม่เคยลองใช้ หรือถูกบังคับใช้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเมื่อประชาชนให้การยอมรับกับกติกา ที่ทำให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า เราก็จะทำ”