
เปิดแนวคิด'โลคอล อะไลค์'การท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาชุมชนยั่งยืน
เปิดแนวคิด'โลคอล อะไลค์'การท่องเที่ยวเพื่อ'พัฒนาชุมชนยั่งยืน' : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยอนัญชนา สาระคู
เคยได้ยิน ได้ฟังมานาน ถึงแนวคิด “การพัฒนาชุมชนยั่งยืน” แต่พูดกันแบบตรงๆ ว่า ยังไม่เห็นหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนรายใดเข้าไปทำงานนี้อย่างจริงจังจนเห็นเป็นรูปธรรม นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า การใส่ “เงิน” เข้าไปอย่างเดียว คงไม่ใช่คำตอบของความยั่งยืน ปัจจัยหลักจึงน่าจะอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพื่อให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองมากกว่า
จากความหวัง ที่ไม่เคยมีคำตอบ...แต่วันนี้ “โลคอล อะไลค์” (Local Alike) มีโมเดลที่ชัดเจน สามารถตอบโจทย์ที่ว่าได้ ทั้งการพัฒนาชุมชนยั่งยืน และการทำธุรกิจเพื่อสังคม
กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” รายนี้ มีแนวคิดเริ่มแรก คือ ต้องการเข้าไปช่วยเหลือชุมชน และมีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง ที่ผู้ก่อตั้งบอกว่านั่นจึงจะถือว่าประสบผลสำเร็จ และเขายังยึดหลักการสร้างความยั่งยืน ด้วยการผลักดันให้ชุมชนมีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน “โลคอล อะไลค์” ยังสามารถสร้างรายได้ของตัวเองผ่าน 3 หน่วยธุรกิจ คือ การพัฒนาชุมชน บริการท่องเที่ยว (ทัวร์) ซึ่งมีลูกค้าองค์กรเป็นกลุ่มหลัก และการเป็น มาร์เก็ต เพลส หรือตลาดกลางเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน ผ่านเว็บไซต์ www.localalike.com เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าบุคคลและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อันจะเป็นคำตอบของการขยายธุรกิจในอนาคต
จากการดำเนินธุรกิจมา 4 ปี “สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท โลคอล อะไลค์ จำกัด บอกว่า จนถึงตอนนี้ บริษัทมีกำไรเข้ามาแล้ว โดยปีที่แล้วมีรายได้ 12 ล้านบาท แต่เป็นกำไรไม่มากนัก เพราะว่าเราเป็นกิจการเพื่อสังคม (เอสอี) จึงไม่ได้หวังที่จะทำกำไรสูงๆ อยู่แล้ว อีกอย่างโมเดลรายได้ของบริษัทจะแบ่ง 60-70% ที่จะต้องเข้าไปสู่ชุมชน แต่สุดท้าย เราก็ต้องมีกำไรเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วย ปีนี้จึงตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 35 ล้านบาท และเข้าไปพัฒนาชุมชนเพิ่มอีก 32 แห่ง รวมกับชุมชนที่ได้เข้าพัฒนาแล้วจะมีทั้งสิ้น 62 แห่ง
“โลคอล อะไลค์” ไม่ได้มาจากสายที่ทำให้เกิดรายได้ แต่มาจากสายที่ว่าทำอย่างไรให้สกิล (ทักษะ) ยังคงอยู่ ให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้จริงๆ โดยไม่ได้มองว่ารายได้จะมาอย่างไร แต่สุดท้ายรายได้ที่เข้ามาก็มาจากการที่เราทำงานตรงนี้ ทั้ง 3 หน่วยธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาชุมชน จากเดิมที่ใช้เงินของตัวเอง ตอนนี้มีภาคราชการมาให้เราทำ ธุรกิจทัวร์ ก็มีลูกค้าองค์กร ส่วน มาร์เก็ต เพลส ที่เน้นลูกค้าบุคคล ซึ่งแม้จะเพิ่งเปิดตัวได้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ก็พบว่ามีผลตอบรับที่ดีมาก
นั่นมองว่าเป็นเพราะความตั้งใจจริง อย่างในเรื่องการทำตลาด บริษัทไม่ได้ทำการตลาดเลย แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นลักษณะการตลาดทางอ้อมมากกว่า คือจากเดิมที่เราไปคุยกับนักลงทุน ไม่ได้รับความสนใจ ไปคุยกับบริษัททัวร์เพื่อเสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยวชุมชน ก็ไม่ได้รับความสนใจอีกเช่นกัน จึงใช้วิธีการประกวดแผนธุรกิจ ไปหาเงินมาทำงาน แล้วเราก็ได้มา จากนั้นสื่อก็มาหาเรา มีนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยที่ไม่ได้ใช้สื่อโฆษณาใดๆ เพราะเชื่อว่าการโฆษณาการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดคือ ปากต่อปาก และมันก็เป็นจริงเช่นกัน อย่างที่มีลูกค้าองค์กรไปบอกต่อเพื่อนอีกองค์กรหนึ่ง เขาแนะนำเราไป ทำให้บริษัทมีลูกค้าองค์กรเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเราทำทัวร์ให้ลูกค้าองค์กรมาหลายราย ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์, เอสซีจี, ปตท. ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นต้น
หรือแม้แต่การที่เราอยากช่วยชุมชน โดยไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ในช่วง 3 ปีแรกไปคุยกับนักลงทุน แต่ไม่มีใครสนใจเลย แต่ก็ไม่ท้อ และพยายามที่จะทดสอบไปเรื่อยๆ เพราะยังมีความเชื่อด้วยว่า หากพวกเขาไม่สนใจลงทุน แต่ก็อาจจะสนับสนุนในด้านอื่นๆ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งที่น่าจะมีกลับมาบ้าง จนมาปีที่แล้วเราเริ่มเนื้อหอม เพราะมีผลงานให้เห็นชัดเจนว่าได้เข้าไปพัฒนาชุมชนถึง 30 ชุมชนแล้ว ทำให้เขาน่าจะเห็นอะไรบาง รวมไปถึงการที่หน่วยงานภาครัฐให้เราเข้าไปช่วย เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีแคมเปญเที่ยววิถีไทย ซึ่งเขามีอยู่แล้ว 10 ชุมชนที่มองว่าน่าจะออกตลาดยุโรปแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะยังไม่มีใครเข้าไปทำเส้นทางให้น่าสนใจ พอมาเจอโมเดลของเราก็สนใจ เชื่อใจและให้ไปทำงานกับ 10 หมู่บ้านนี้ เพื่อทำให้เกิด นอกจากนี้ยังมีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และธนาคารทหารไทย เป็นต้น
“สมศักดิ์” หรือ ไผ เล่าย้อนให้ฟังถึงแนวคิดการเริ่มต้นธุรกิจ “โลคอล อะไลค์” ว่า ได้เข้าทำงานด้านพัฒนาชุมชนและได้ฝึกงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้มีความเข้าใจถึงปัญหาการท่องเที่ยวมากนัก โดยโปรเจกท์หนึ่งที่ได้คือ การพัฒนาแผนธุรกิจให้ชาวเขา 2 หมู่บ้านที่โครงการดอยตุง จึงเริ่มจากตรงนั้นเลย
ไผบอกว่า ใช้วิธีการจากการที่ได้เรียนบริหารธุรกิจมา ดูว่าการจะทำให้เป็นธุรกิจได้จะต้องทำอย่างไรบ้าง ก็พยายามคุยกับชาวบ้าน พร้อมๆ กับการศึกษาเรื่องท่องเที่ยวไปด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็เจอกับปัญหาเยอะมากในเรื่องการท่องเที่ยว ทำให้รู้สึกว่าอยากเข้าไปทำเอง อย่างในช่วงที่เราพัฒนาเสร็จ 2 หมู่บ้าน ก็นำแพ็กเกจทัวร์ไปขาย ปรากฏว่าขายที่ไหนไม่ได้เลย ไม่มีบริษัททัวร์รายใดให้ความสนใจ ซึ่งเขาก็มีมุมมองของเขาที่คิดว่าขายไม่ได้ มีคำถามมามากมายทั้งเรื่องภาษา ความสะอาด และความปลอดภัย
"นั่นทำให้รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคจริงๆ หรือเปล่า หรือเราไม่ได้มองให้มันเป็นโอกาส จึงคิดได้ว่าน่าจะเป็นช่องทางในการทำธุรกิจได้ และการที่ผมเรียนด้านการบริหารธุรกิจยั่งยืนมา จึงมองด้วยว่าน่าจะเป็นเอสอีได้ ในมุมมองหนึ่งของประเทศที่จะเปลี่ยนเรื่องการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น”
นอกจากนี้ จากการเข้าไปศึกษาในเรื่องการท่องเที่ยวพบว่ามีหมู่บ้านอีกจำนวนมากที่ทำเรื่องท่องเที่ยวได้ แต่เมื่อลงลึกก็เจอปัญหาด้วยว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านเองถูกใช้เป็นแรงงาน โดยพวกเขาไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวหมู่บ้านของตน เหมือนบริษัททัวร์เข้ามาใช้ประโยชน์ มีไกด์เข้ามาอธิบาย ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ใช้เวลา 15 นาที แล้วก็ออกไปหมู่บ้านอื่นๆ ต่อ โดยใช้วิธีประชาสัมพันธ์ว่า นี่เป็น “อีโค่ ทัวริสซึ่ม” (การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์) ซึ่งเรามองว่า “ไม่ใช่” ชาวบ้านเองก็คิดเห็นเหมือนเรา แต่พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง เราเลยรู้สึกว่าตัวเองอยากเข้าไปทำ
ทั้งนี้ คิดว่าปัญหาแบบนี้น่าจะมีอีกหลายหมู่บ้าน แม้แต่ในกรุงเทพฯ เอง มีทัวร์เข้าไปปั่นจักรยานเดี๋ยวเดียวก็ไป โดยที่ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย ไม่มีโอกาสได้เล่าเรื่องตัวเองให้นักท่องเที่ยวฟัง ก็ได้แต่ยิ้มอย่างเดียวแบบสยามเมืองยิ้ม จึงคิดว่าอยากจะหาโมเดลแบบใหม่ ที่ทำในเรื่องท่องเที่ยวแล้วเป็นประโยชน์กับประเทศ อยากเปลี่ยนมุมมอง ไม่ใช่แค่ของคนประกอบการ หรือชุมชน แต่อยากเปลี่ยนมุมมองของนักท่องเที่ยวด้วย ที่มองประเทศไทยว่าเป็น เซ็กส์ ทัวริสซึ่มบ้าง หรือการทำร้ายช้าง
ทั้งยังศึกษาลงลึกไปอีกว่า เศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวมีจำนวนมากขนาดไหน โมเดลที่เป็นอยู่สามารถกระจายรายได้ได้จริงหรือเปล่า หรือไปตกอยู่ที่ไหน ซึ่งก็พบว่ามากกว่า 50% ไปตกอยู่ที่ผู้ประกอบการทัวร์ และโรงแรม และน้อยกว่า 15% ที่ถึงชาวบ้าน ซึ่งมีสัดส่วนประชากรถึง 80% ของประเทศ
“ผมรู้สึกอยากจะกระจายให้มากขึ้น มองแค่เงินที่ได้จากการท่องเที่ยว 1,000 ล้านล้านบาท แค่กระจายออกไปสัก 10% หรือทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับมากขึ้น คุณภาพชีวิตของเขาก็น่าจะดีขึ้นขนาดไหน เราจึงตั้งบริษัททัวร์ขึ้นมา ขายเฉพาะทัวร์ชุมชน และเริ่มกับ 2 หมู่บ้านที่ จ.เชียงราย ที่ได้เริ่มเข้าไปพัฒนาแต่แรก โดยโมเดลการพัฒนาของเรา จะเป็นการสร้างศักยภาพร่วมกัน มีทั้งหมด 13 เวิร์กช็อป เตรียมทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ไปจนถึงการทดลองจัดทริปท่องเที่ยวเพื่อดูผลตอบรับ โดยเราเป็นคนขายเอง”
หมู่บ้านแรกที่ได้เข้าไปพัฒนาคือ สวนป่า ที่เชียงราย จากเดิมมีไกด์เพียงคนเดียว ตอนนี้มีทีมงานไกด์ถึง 9 คนแล้ว และทำเส้นทางเดินป่า ตอนนี้จะขยายหมู่บ้านจะทำเป็นโฮมสเตย์ ซึ่งนอกจากรายได้ของชาวบ้านแล้ว เรายังแบ่งกำไรของเรามารวมตั้งเป็นกองทุนของหมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านด้วย ถือเป็นการพัฒนาองค์รวมทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของเราคือ การที่ชุมชนสามารถจัดการเรื่องการท่องเที่ยวเองได้ในระยะยาว เพื่อที่เขาจะทำงานกับบริษัททัวร์รายใดก็ได้แล้วพวกเขาจะมีอำนาจในการต่อรอง โดยไม่จำเป็นต้องทำกับบริษัททัวร์รายเดียว
นั่นเพราะเราอยากเปลี่ยนระบบปฏิบัติของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยที่ไม่จำเป็นต้องผูกขาด บริษัททัวร์ไหนจะมาก็ได้ และให้ชาวบ้านบริหารดูว่าตัวเองจะรับนักท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหน แต่ตอนนี้การจัดตั้งกองทุนเราเริ่มแค่ 3-4 หมู่บ้านก่อน เพราะต้องการทำให้ดี และมีความโปร่งใสอย่างแท้จริง หากลงตัวก็จะขยายไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ต่อไป
สำหรับชุมชนที่ได้เข้าไปพัฒนาแล้วจะมีทั้งที่เข้าไปพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น การเข้าไปช่วยสร้างในด้านการตลาด หรือตั้งแต่ระดับการเพิ่มทักษะด้านภาษา โดยรวมที่ทำมาแล้วมี 30 ชุมชน และในปีนี้เราได้เข้าไปพัฒนาอีก 32 ชุมชน รวมที่ทำอยู่คือ 60 ชุมชน กระจายอยู่ทั่วประเทศ และในจำนวนนี้มี 20% ที่เราได้เข้าไปพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น และภายใน 2-3 ปีข้างหน้าเราจะเพิ่มชุมชนเป็น 100 แห่ง
หมู่บ้านที่คิดว่าเป็นชุมชนยั่งยืน ประสบความสำเร็จตามแบบโมเดลของเรา คือ สวนป่า และรอโย ที่เชียงราย ในกรุงเทพฯ ก็จะมีชุมชนกุฎีจีน และชุมชนคลองเตย อย่างที่คลองเตยเราเข้าไปคุยกับมูลนิธิดวงประทีปที่เขาเน้นในเรื่องการศึกษา โดยทางมูลนิธิเป็นสื่อกลางเพื่อให้เราเข้าไปทำงานกับคนชุมชนเอง ผ่านการทำงานร่วมกันมา 13 เวิร์กช็อป เป็นเวลาปีกว่า ตอนนี้การท่องเที่ยวชุมชนคลองเตยออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน มีนักท่องเที่ยวเข้าไปและสามารถสร้างรายได้ได้แล้วกว่าแสนบาท และมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนเองเช่น ขยะ และน้ำเน่า
“ไผ” บอกว่า การทำงานของโลคอล อะไลค์ ในการเข้าไปพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวนั้น หน้าที่ของเราคือการมองหาจุดเด่นของแต่ละที่ให้ชัดเจนให้ได้ว่าคืออะไร ซึ่งแต่ละชุมชนก็จะมีแนวคิดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป เช่นที่บางขุนเทียน ได้พบกับลุงสอน ทำอาชีพประมงนากุ้ง นาหอยแครง แต่เราไปเห็นประเด็นโลกร้อน ซึ่งไม่มีการนำเสนอในประเด็นนี้ว่ามีผลกระทบกับประเทศอย่างไร แต่ที่บางขุนเทียนเห็นชัดเจน ลุงสอนพาออกไปดูหลักเขตกิโลแบ่งเขตระหว่างสมุทรปราการและกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ถูกน้ำทะเลท่วมหมดแล้ว แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate change) นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเวลามีนักเรียน นักศึกษาเข้าไปแล้วเราอธิบายในเรื่องนี้ เขาก็จะได้เปลี่ยนแนวคิดได้ว่าเรื่องโลกร้อนไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย และมีแนวโน้มว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่ทำอะไรสักอย่าง
ส่วนที่ชุมชนคลองเตย เราก็จะเน้นลักษณะการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การพักผ่อนหย่อนใจ จึงเจาะไปที่ตลาดคนไทยก่อน ผ่านแคมเปญที่ว่า “คลองเตย เคยไปยัง” เป็นลักษณะการตั้งคำถาม จากคนที่ไม่รู้จัก หรือบางคนอาจจะมองว่าคลองเตยเป็นสลัม มีสิ่งเสพติด ทั้งที่จริงแล้วปัญหานี้ก็มีอยู่ทุกแห่งไม่ใช่เฉพาะที่คลองเตย แต่ใครจะรู้บ้างว่าคนในคลองเตย คือฐานแรงงานให้กับธุรกิจหลากหลายองค์กร และเมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับคนคลองเตยมากขึ้นแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดกับการท่องเที่ยวลองเคยไม่ใช่เรื่องของภูมิทัศน์ แต่คือรอยยิ้มของคนในชุมชน และพวกเขาก็ยังมีแรงกระตุ้นที่อยากจะพัฒนาตัวเอง อยากจะแก้ข้อครหาที่คนอื่นมอง มีบางครอบครัวอยากจะส่งลูกไปเรียนนอกคลองเตย แต่ทางโรงเรียนไม่รับเพราะมาจากคลองเตย ซึ่งปัญหาแบบนี้ก็ยังมี ทำให้เราคิดว่าการท่องเที่ยวนี่แหละที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างสังคมได้มากขึ้น
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ได้นำเสนอคลองเตยในรูปแบบที่สวยงาม แต่อยากให้เข้าใจคลองเตย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าข้าง ถ้านักท่องเที่ยวได้เข้าไป เขาจะได้เห็นขยะ น้ำเน่า และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน โดยคนที่อาศัยอยู่ในคลองเตยเองเป็นคนพาไปดู ขณะเดียวกันก็จะได้เห็นมุมมองดีๆ จากคนคลองเตยที่เกื้อหนุนกันและกัน ซึ่งแต่ละคนก็จะมาช่วยสลับหมุนเวียนกัน ในการจัดทำเวิร์กช็อปให้แก่นักท่องเที่ยว ทำอาหาร ซึ่งในนั้นมีอีกหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ แถมยังมีมุมอันซีน (Unseen) มีรถไฟผ่านทางชุมชน ซึ่งถ้าได้ไปก็จะได้เห็น และจะสนุกมากขึ้นด้วยถ้าคนในตลองเตยเป็นคนเล่าให้ฟังเอง
สำหรับการมองธุรกิจไปในอนาคตนั้น ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ โลคอล อะไคล์ บอกว่า ในส่วนของการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีโมเดลที่ชัดเจนแล้ว เราอยากที่จะมีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมให้มากขึ้น คืออยากจะเปลี่ยนแนวคิดของผู้ประกอบการทัวร์ให้เข้ามาทำงานกับชุมชนให้มากขึ้น โดยใช้โนว์ ฮาว (องค์ความรู้) ของเราที่ทำงานร่วมกับชุมชน โดยพยายามจะสร้างทัวร์คู่ค้าขึ้นมาทำงานกับชาวบ้านให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีแล้วประมาณ 10 กว่ารายที่ทำงานร่วมกัน เขามาช่วยพัฒนา เช่นบริษัททัวร์ที่น่าน ก็จะทำงานกับชุมชนที่น่าน และส่งแพ็กเกจมาขายผ่านทางมาร์เก็ต เพลส ของเรา
ส่วนธุรกิจทัวร์ ที่มีลูกค้าองค์กรเป็นหลักนั้น สิ่งที่เราจะได้คือการสร้างความเข้าใจกับพนักงานองค์กรที่ได้เข้ามาร่วมทริปทัวร์กับบริษัท และสุดท้าย ตลาดกลางออนไลน์ เราจะขยายไปยังต่างประเทศ คือเราพบว่ามีหลายๆ ประเทศที่เขามีการท่องเที่ยวชุมชน แต่พวกเขาเหล่านี้ยังขาดช่องทางการขายที่เชื่อถือได้ มาร์เก็ต เพลส ของเราก็จะทำให้ไปด้วยกันได้
“เป้าหมายของเราอยากให้ชาวบ้านจัดการตัวเองได้ สามารถอยู่ได้โดยไม่มีโลคอล อะไลค์ นั่นเราก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่เราก็อยากเห็นชุมชนเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชุมชนอื่นต่อไป คือขยายในแบบการแชร์แวลูกัน และเป้าหมายอีกอย่างที่อยากจะเปลี่ยนคือแนวคิด จากที่บริษัทต่างชาติเข้ามาแสวงหาประโยชน์ มาขุดทองในประเทศเรา ในภูมิภาคเรา ซึ่งพวกเขาสามารถกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวของประเทศ ของภูมิภาคนี้ได้มากพอสมควร ทั้งที่เราเองเป็นคนท้องถิ่นน่าจะเข้าใจมากกว่า จึงก็อยากเห็นคนในพื้นที่ของภูมิภาคนี้ ลุกขึ้นมาทำแบบนี้บ้าง” สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
“เปิดใจ”รับการเปลี่ยนแปลงกุญแจสำคัญบริหารธุรกิจเพื่อสังคม
“สมศักดิ์ บุญคำ” หรือ “ไผ” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท โลคอล อะไลค์ จำกัด ดูเหมือนจะมีเส้นทางชีวิตที่หักเห โดยเล่าว่า เป็นคนที่มีแบ็กกราวนด์มาจากคนที่อยู่ในชุมชนมาก่อน เป็นลูกคนจนที่เติบโตขึ้นมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน “จ.ร้อยเอ็ด” แต่ก็โชคดีที่พ่อแม่ยอมทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือในระดับสูงขึ้น
“เรามาจากพื้นฐานนั้น จึงคิดว่าคนที่เหมือนเราหากเขาได้โอกาสก็ควรที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังไม่มีใครให้โอกาสเขา หรือบางทีคนที่ดูเหมือนจะให้โอกาสคนอื่น แต่ก็กลับกลายเป็นแสวงหาผลประโยชน์จากเขาเสียอีก”
ก่อนหน้านั้น สมศักดิ์ทำงานเป็นวิศวกรรมปิโตรเคมีฯ ในบริษัทจากประเทศเยอรมนี เพื่อต้องการนำพาครอบครัวให้พ้นจากความยากจน ได้รับเงินเดือนค่อนข้างสูงและเก็บเงินได้มาก แต่ก็นึกไปถึงตอนเป็นเด็ก ถ้าพ่อแม่ไม่ให้โอกาส เขาก็คงไม่มีวันนี้ และคิดว่า ถ้าหากเขาให้โอกาสคนอื่นบ้าง ก็น่าจะทำให้คนเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้หรือไม่ จึงใช้เงินเก็บไปศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจยั่งยืน ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา พอกลับมาจึงได้ไปฝึกงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และทางมูลนิธิได้ทาบทามให้ทำงานต่อในตำแหน่งพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเขาก็ทำไปด้วย แต่ก็ขอด้วยว่า อยากจะศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวต่อไปด้วย โดยยอมรับในเงินเดือนที่น้อยลง
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม (เอสอี) เขาบอกว่า การจะบริหารเอสอีให้อยู่รอดได้นั้น ที่สำคัญคือจะต้องเปลี่ยนความแนวคิดของผู้ประกอบการเอสอีก่อน เพราะในบางครั้งเอสอีอาจจะไม่เข้าใจว่า โมเดลระหว่างเอสอี และการเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือเอ็นจีโอนั้น แตกต่างกันอย่างไร หลายครั้งที่ผู้ประกอบการเอสอีตกไป เพราะไม่รู้ว่าจะหารายได้อย่างไร หรือจะรอเงินบริจาคอย่างเดียว ซึ่งไม่น่าจะใช่เพราะโมเดลของเอสอี แล้วหากไม่สามารถสร้างรายได้เองได้แล้ว ก็ไม่ใช่
หรือบางทีทำๆ ไปก็หลงทาง กลายเป็นแอ็กทิวิสต์ (นักเคลื่อนไหว) คือมีอะไรก็ต่อต้านไปเสียหมด สุดท้ายแล้วจะทำให้การที่เราจะได้เขามาเป็นพันธมิตร แต่กลับกลายเป็นว่าเขาไม่เข้าใจคุณ แต่ก็ยอมรับอย่างหนึ่งว่า คนที่จะเป็นผู้ประกอบการจะเป็นคนหัวดื้อ ยิ่งเป็นผู้ประกอบการเอสอีด้วยแล้วยิ่งดื้อกว่า แต่คิดว่าการที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องเปิดใจ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ารากที่สำคัญของเราที่อยากทำคืออะไร และบางทีการแก้ปัญหาอาจจะทำไม่ได้ทางตรง แต่ก็อาจจะทำได้ในทางอ้อม
เขาบอกอีกด้วยว่า แอ็กทิวิสต์อาจจะมองในด้านเดียวที่ต้องการสตัฟฟ์ชุมชน เพื่อไม่ให้เปลี่ยนแปลง แต่สำหรับเรา เราเชื่อว่าหากเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวกก็ควรเปลี่ยน แต่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนานั้น อาจมีปัญหาในด้านลบ เราก็จะหาทางป้องกันสิ่งนั้น ซึ่งเป็นอะไรที่เรามองต่างกัน โดยเอสอีเองจะต้องสามารถบาลานซ์ให้อยู่จุดกึ่งกลางให้ได้เพื่อความยั่งยืนจริงๆ และยังมองว่าหากจะให้มีความยั่งยืนจริงๆ เศรษฐกิจก็จะต้องมาด้วย