
ไพ่ในมือประยุทธ์มีให้เล่นอีกหลายหน้า
ไพ่ในมือ ประยุทธ์ มีให้เล่นอีกหลายหน้า : คมวิเคราะห์ โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ (@jin_nation) สำนักข่าวเนชั่น
แค่เริ่มต้นของการเดินไปสู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ บรรยากาศการเมืองก็เริ่มเข้มข้นแล้ว กว่าจะไปถึงวันลงประชามติ 7 สิงหาคม อีกเกือบ 4 เดือน ยังมีหลายปัจจัยที่จะเข้ามากระทบ
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสร้อนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค นำทัพออกมาแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยกับ “คำถามพ่วง” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะส่งไปทำประชามติ ที่กำหนดให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย จากเดิมเป็นอำนาจของ ส.ส.เท่านั้น และบางประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ
แม้ “อภิสิทธิ์” จะยัง “แทงกั๊ก” ไม่บอกว่าจะโหวต “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ แต่ก็ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่พอใจอย่างหนัก จากปกติที่นายกฯ มักไม่ให้สัมภาษณ์ในวันอาทิตย์ วันนั้นเหมือนตั้งใจ นายกฯสวนกลับทันที โดยให้สัมภาษณ์ผ่าน “โทรศัพท์” ด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะเพราะ “พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ชอบนักการเมือง” หรือจะเพราะ “พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยแฮปปี้กับคุณอภิสิทธิ์นัก” ตามเสียงที่เล็ดลอดออกมาจากวงสนทนาของคอการเมือง แต่การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในวันนั้นและวันต่อมา ก็สะท้อนถึงคำพูดดังกล่าวได้พอสมควร
ทั้งประโยคที่ว่า การให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ “จะทำให้ประเทศชาติเลวร้ายลงหรือไม่ ประชาชนทุกข์มากขึ้นหรือไม่ หรือนักการเมืองที่ไม่ดีเกรงว่าจะทำอะไรที่เลวร้ายเหมือนที่เคยทำไม่ได้อีก” หรือประโยคที่บอกว่าช่วงเป็นรัฐบาลไม่เห็นจะทำอะไร ไม่เห็นจะแก้ปัญหาอะไรได้
พร้อมประเด็น “หากนักการเมืองไม่ลงเลือกตั้งก็ดี คนที่พูดว่าไม่ลง อย่ามาลง” ซึ่งประเด็นนี้ก็ถูกย้ำโดยหลายคนใน คสช. และมีความเป็นไปได้ว่าต่อไปจะมีการย้ำประเด็นนี้หนักขึ้นเพื่อสกัดนักการเมืองบางคนบางกลุ่มไม่ให้ลงเลือกตั้ง
รวมทั้งคำพูดตรงๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกว่า ให้ ส.ว.มาร่วมประชุมเลือกนายกฯ ด้วย “เพราะไม่ไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาลหน้า...แค่นี้ขอไม่ได้หรือ”
ภาพการยืนแลกหมัดกับนักการเมือง โดยไม่สนใจว่าจะมาจากพรรคไหนของ พล.อ.ประยุทธ์ มีการมองว่า นี่อาจจะเป็นยุทธศาสตร์การสร้างกระแสในการลงประชามติว่า ประชาชนจะเลือกยืนอยู่ข้างใคร นักการเมือง ที่พล.อ.ประยุทธ์ย้ำให้เข้าใจอยู่เสมอว่า “ไม่ดี” หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ซึ่งประกาศว่าจะ “ปฏิรูปประเทศ”
อีกกระแสที่กำลังก่อตัวเกิดขึ้นมา คือ กระแส “ความกลัว” ต่อสิ่งที่จะเผชิญ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการที่ คสช.ไม่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชาชามติจะทำอย่างไร ตอนนี้จึงเป็นเสมือน “หลุมดำแห่งความหวาดกลัว” ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่แย่กว่า หรืออาจไม่ได้ไปเลือกตั้งตามกำหนดเดิมคือ ปี 2560
เหตุผลทางการที่ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ “รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม” พร่ำบอกคือ การบอกให้รู้เงื่อนไขจะทำให้ประชาชนไม่สนใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไปสนใจที่เงื่อนไขมากกว่า แต่ความจริงอีกด้านที่เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วคือ การไม่บอกว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชาชนจะได้อะไร ก็ทำให้ประชาชนไม่สนใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน
“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ประชาชนไม่สนใจว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร แต่ประชาชนกำลังกลัวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านอาจจะได้เจอสิ่งที่แย่กว่า จึงเป็นไปได้ว่าประชาชนจะออกไปโหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยความกลัว” นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าว
นักวิเคราะห์รายเดิมมองว่า การออกมาใช้สิทธิของประชาชนในช่วงสิบปีหลังเป็นการเลือกเพราะความกลัว ไม่ใช่เลือกเพราะเห็นว่ามีนโยบาย มียุทธศาสตร์ที่ดีกว่า แต่เลือกเพราะกลัวฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนจะแพ้ กลัวอีกฝ่ายจะชนะ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ผ่านมา ที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ก็เพราะคน กทม.ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก เพราะกลัวพรรคเพื่อไทยจะชนะ หรือที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้สโลแกน “ไม่เลือกเราเขามาแน่” และการเลือกเพราะความกลัวกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
มีการตั้งคำถามว่า นี่คือแผนของ คสช.ที่จะทำให้เกิดความกลัวหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ “อำนาจอยู่ที่ผม”
ถึงตอนนี้ แม้นักวิเคราะห์บางส่วนจะมองว่า การตั้งคำถามพ่วง ให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปี นอกจากโอกาสที่ตัวคำถามพ่วงจะผ่านประชามติมีน้อยเต็มที ยังอาจจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ตกไปด้วยนั้น แต่ก็มีการวิเคราะห์อีกด้านว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่จะผ่านประชามติทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง” เหตุผลไม่มีอะไรมากมาย นอกจาก “คสช.เปิดหน้าออกมาถึงขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องการให้ล่ม เพราะถ้าล่มไป นอกจากหมายถึงกระแสกดดันมาที่ คสช. ยังหมายถึงกลไกที่ไม่สมบูรณ์ อันจะหมายถึงทำให้ “เสียของ” ด้วย”
ย้อนดูก่อนหน้านี้ มีการมองว่า คสช.ค่อยๆ วางทุกอย่างไว้ทีละขั้นตอน ไม่บุ่มบ่าม ข้ามขั้น ขณะเดียวกันก็ไม่เคยผูกมัดอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎกติกา หรือแม้กระทั่งการกลับมาเป็นนายกฯ ในรัฐบาลหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้หัวหน้า คสช.จะพูดปัด ปฏิเสธอยู่เป็นประจำ แต่ก็มักจะมีประโยคสร้อยตามมาเสมอว่า “จะเอายังไงก็ไปคิดกันมา”
ข้อเสนอเรื่องให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมดและมีอำนาจเลือกนายกฯและอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เช่นกัน หลังจากกระแสตอบรับไม่ค่อยดีในช่วงแรกที่ คสช.เสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล คสช.ก็ถอย ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ออกมาบอกเองเมื่อ 8 มีนาคม ว่า “ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ แต่เป็นความเห็นส่วนตัว คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ว่ามา”
เป็นทั้งการเบรกกระแส และเปิดช่องตรงท้ายไว้ ให้นายกฯ ออกมาพูดใหม่ได้ว่า ที่ต้องการให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ เพราะไม่ไว้ใจรัฐบาลหน้า
สำหรับคำถามพ่วงที่จะเปิดทางให้ ส.ว.ที่มาจากกระบวนการสรรหาโดย คสช.มาร่วมเลือกนายกฯนั้น แม้ในใจความของคำถามพ่วงจะมีแค่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ แต่มีข่าวว่า มีการวางแผนเอาไว้แล้วว่า หากคำถามพ่วงผ่านประชามติ หลังจาก กรธ.แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามคำถามพ่วงแล้ว และตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่า ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่า เมื่อ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ก็ต้องให้ ส.ว.มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย
เท่ากับว่า คสช.จะได้ตามที่ต้องการ เพียงแต่เมื่อวิธีหนึ่งคือให้ กรธ.แก้ไขไม่ได้ ก็เปลี่ยนวิธีมาใช้อีกวิธีคือขอประชามติจากประชาชนแทน
อีกประโยคที่ก่อนหน้านี้ หัวหน้า คสช.พูดอยู่บ่อยๆ คือ “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์” ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ คสช.สามารถวางกติกาไว้แบบหลวม แบบไม่ให้ผูกมัดตัวเองก็คือ อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์” สามารถใช้อำนาจนี้ตลอดไปตราบเท่าที่รัฐบาลใหม่ยังไม่ได้เข้าทำหน้าที่
สถานการณ์นับจากนี้ไปจนถึงวันประชามติ และไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีไพ่อีกหลายใบในมือให้เลือกเล่น!