ข่าว

แบรนด์แฟชั่นจากหลังลูกกรง

แบรนด์แฟชั่นจากหลังลูกกรง

16 เม.ย. 2559

แบรนด์แฟชั่นจากหลังลูกกรง : เวิลด์วาไรตี้

              ชีวิตคนเรานั้น เปลี่ยนแปลงได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ขึ้นอยู่กับสำนึก และโอกาสที่ไขว่คว้าไว้ได้ เช่นเดียวกับนายซานโตส อาเคร รามอส วัย 46 ปี ที่ต้องติดอยู่หลังลูกกรงในเรือนจำประเทศเปรู หลังจากศาลมีคำพิพากษาว่าผิดจริงในข้อหาปล้นโดยใช้อาวุธ ซึ่งเขาสามารถเปลี่ยนผันชะตาชีวิตจากไอ้โจรห้าร้อย ไปเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นเลื่องชื่อ โดยมีสตูดิโออยู่ในห้องขัง

              กิจการแฟชั่นสไตล์บ้านๆ ของนายรามอสได้รับความช่วยเหลือในการปั้นแบรนด์จากดีไซเนอร์ระดับโลกชาวฝรั่งเศสที่ทำงานให้แก่ “ชาเนล” ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก โดยมีเพื่อนร่วมเรือนจำ 2 แห่ง คอยเป็นลูกมือตัดเย็บผ้าตามความคิดของนายรามอส

              แฟชั่นบ้านๆ ที่ว่านั้น มีพื้นฐานมาจากผ้าฝ้ายออแกร์นิกที่ทีมงานในคุกบรรจงรังสรรค์ขึ้นมา นายอาเคร หนึ่งผู้ต้องขังในเรือนจำซาน เปโดร กล่าวว่า การผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นขึ้นมาก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกันทีละชิ้นๆ

              นายอาเครเป็น 1 ในผู้ต้องขัง 30 คนในเรือนจำซาน เปโดร กับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำซานตา โมนิกา ที่ช่วยกันรังสรรค์เสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ “ปิเอตา” (Pieta) ที่อธิบายตัวเองว่าเป็นแบรนด์สินค้าที่คำนึงถึงสังคมเป็นพิเศษ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลก่อตั้งขึ้นมาโดยโธมัส จาคอบ ผู้นำแฟชั่นชาวฝรั่งเศสวัย 29 ปี

              เสื้อผ้าแบรนด์นี้จะเน้นอัตลักษณ์ของคนเมืองดิบๆ ทั้งเสื้อยืดคอกลม เสื้อมีฮู้ด และแจ็กเก็ตสีดำเข้ม ขาว หรือเขียวทหาร ประดับด้วยตราสัญลักษณ์สีดำแนวๆ ของแบรนด์

              นายจาคอบ ผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันธุรกิจอินซีค (INSEEC) แห่งฝรั่งเศส ได้ความคิดเกี่ยวกับแบรนด์ปิเอตาเมื่อปี 2555 หลังจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่เป็นอาจารย์สอนวิชาที่เรือนจำซาน เปโดร ชักชวนให้เขาร่วมเข้าไปให้ความรู้แก่นักโทษในเรือนจำแห่งนี้

              เขาขออนุญาตสัสดีเรือนจำเพื่อจัดตั้งห้องทำงานตัดเสื้อสำหรับผู้ต้องขัง ก่อนที่จะลาออกจากงานประจำที่เคยทำอยู่ที่ชาเนล แล้วมาเริ่มต้นปั้นแบรนด์เสื้อผ้าคนคุกขึ้นมา

              ในช่วงต้นแบรนด์สินค้านี้เติบโตไปอย่างช้าๆ เพราะยากที่จะมีคนยอมรับในผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอด้านมืดของมนุษยชาติออกมา แต่ด้วยเวลาเพียง 1 ปี คนคุกในเรือนจำซาน เปโดร ก็ผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณภาพและสามารถแข่งขันกับเจ้าอื่นในตลาดออกมาได้

              คำว่า ปิเอตา มาจากรูปสลักในสมัยเรอเนสซองต์ ที่เป็นผลงานของไมเคิล แองเจโล (มิเกลันเจโล ในภาษาอิตาลี) ที่แสดงถึงภาพของพระแม่มารีที่กำลังอุ้มพระศพแห่งพระเยซู นายจาคอบอธิบายว่า ชื่อแบรนด์นั้นสะท้อนความเป็นตัวตนของมนุษย์ในช่วงก้าวสุดท้ายก่อนการกำเนิดใหม่ เป็นการต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อของคนที่ไม่เคยละทิ้งความหวัง เปรียบได้ดังความหวังไปสู่ชีวิตใหม่ของคนหลังลูกกรง

              จาคอบออกแบบเสื้อผ้า และให้คนคุกในเรือนจำทั้งสองแห่งเป็นผู้ตัดเย็บรังสรรค์ขึ้นมาด้วยความคิดที่ว่า ทุกสิ่งจะสร้างสรรค์ขึ้นมาหลังกำแพงเรือนจำ

              แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากเรือนจำทั้งสองแห่งนั้นกลับก้าวกระโดดเข้าไปในตลาดที่ใหญ่มหาศาล นั่นคือโลกออนไลน์ โดยผลิตภัณฑ์คอลเลกชั่นล่าสุดในปี 2559 จะออกจำหน่ายในเว็บไซต์ออนไลน์

              ความคิดในการออกแบบเสื้อผ้าของจาคอบมาจากผลงานของอเลกซานเดอร์ รอดเชนโก ศิลปินชาวรัสเซียที่ใช้เส้นสายที่ตัดกันฉับไว กับสีสันที่ตัดกันอย่างเฉียบขาดเพื่อสร้างกลไกการเคลื่อนไหวบนลวดลาย ในแบบที่เรียกว่าศิลปะรังสรรค์

              ปิเอตาผลิตเสื้อยืดคอกลมออกมาราวสัปดาห์ละ 100 ตัว และขายได้มากกว่า 1.2 หม่นตัว ในช่วงเวลา 3 ปี โดยเสื้อคอกลมเหล่านี้มีราคาจำหน่ายที่ราวตัวละ 35 ดอลลาร์สหรัฐ

              นอกจากรายได้ส่วนหนึ่งที่เป็นค่าจ้างของคนคุกแล้ว พวกเขายังได้ความหวัง ความสุขใจที่ได้รับจากการผลิตผลงานด้วยมือของตนเองหลังลูกกรง แต่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ช่วยเพิ่มความหวัง กำลังใจในการต่อสู้เพื่อชีวิตใหม่ของคนคุกแห่งซาน เปโดร และซานตา โมนิกา ราวกับน้ำทิพย์ที่หยาดชะโลมใจ