ข่าว

สำรวจเศรษฐกิจภูธรกำลังซื้อยังเฉา

สำรวจเศรษฐกิจภูธรกำลังซื้อยังเฉา

15 เม.ย. 2559

สำรวจเศรษฐกิจภูธรกำลังซื้อยังเฉา ชาวใต้ลุ้นราคายางกระเตื้องปลายปี

 
                    จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการส่งออกของไทยให้ลดลง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ บวกกับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้นในปีนี้ แต่ยังมีภาคการท่องเที่ยวที่ยังช่วยพยุงหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ที่ดูจะเป็นความหวังเดียวอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะยังล่าช้าอยู่มาก  ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ภาคกลางในช่วงไตรมาสแรก ปี 2559 ว่ายังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน จากเดิมที่หวังว่าตั้งแต่ต้นปีนี้น่าจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะแม้ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม เห็นได้จากยอดขายของร้านค้าปลีกต่างๆ กลับลดลงถึง 20-30% แม้แต่ช่วงตรุษจีนก็ไม่ช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากนัก
 
                    ทั้งนี้ หวังว่าในช่วงสงกรานต์จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ออกมา ให้ประชาชนสามารถนำเงินจากการกิน เที่ยวไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง แต่หากดูที่ราคาข้าวก็ไม่ได้ขยับขึ้น เนื่องจากรัฐบาลยังคงมีสต็อกข้าวอยู่ปริมาณมาก ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงด้วย
 
                    “ตอนนี้รายได้ของภาคเกษตรไม่ดี ไม่มีกำลังซื้อก็หวังว่ากำลังซื้อจะมาจากการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์นี้ ที่กลุ่มคนที่ยังพอมีกำลังใช้จ่ายก็น่าจะออกมาใช้จ่ายบ้าง แต่ในภาพรวมของประเทศแล้วเศรษฐกิจปีนี้น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% เพราะเม็ดเงินที่เป็นรายได้จากการท่องเที่ยวก็ไม่ได้มากอย่างที่หวัง การส่งออกแม้ไทยเราจะไม่ได้แย่ แต่ก็ลดลง ยังเหลือเครื่องมือเดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้คือการใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว แต่ยอมรับว่าด้วยระบบราชการที่มีความล่าช้า ทำให้เม็ดเงินในส่วนนี้ที่จะลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจก็ล่าช้าไปด้วย” ว่าที่ ร.อ.จิตร์ กล่าว
 
                    ด้านนายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว มีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยภาคเกษตรยังไม่ดีนักเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ภาคเกษตรขาดน้ำในการเพาะปลูก ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรให้ลดลง แต่ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังไปได้ดีเข้ามาชดเชย ส่วนภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง แต่หากมองในมุมของการค้าชายแดนถือว่ายังขยายตัวได้ดี
 
                    “เศรษฐกิจในภาคเหนือมีทั้งดีและไม่ดี แต่กำลังซื้อในภาคเกษตรหายไป ปัญหาใหญ่มาจากการเพาะปลูกอะไรไม่ได้ รวมทั้งในบางพื้นที่ที่ปลูกยาง ก็ราคาไม่ดีนัก ส่วนทิศทางไตรมาสที่ 2 ยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวนัก ที่แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายออกมา แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ทำให้มองว่าน่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัญหาภัยแล้งด้วยว่าจะหมดไปหรือไม่ หากภัยแล้งจบเกษตรกรก็น่าจะสามารถเพาะปลูกได้ดีขึ้น” นายวิโรจน์ กล่าว
 
                    ส่วนการค้าชายแดนในทางภาคเหนือ โดยเฉพาะด่านชายแดนแม่สอดยังคงมียอดการค้าขยายตัวดีขึ้น แม้จะมีรายงานว่าการค้าชายแดนหลายพื้นที่ชะลอตัว เนื่องจากปัจจุบันด่านชายแดนแม่สอดมีเส้นทางการคมนาคมค่อนข้างสะดวกและดีขึ้น รวมทั้งยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ
 
 
สำรวจเศรษฐกิจภูธรกำลังซื้อยังเฉา
 
 
                    เช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในช่วงไตรมาสแรกที่ยังคงชะลอตัว โดยนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจภาคใต้คือราคายางยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าการส่งออกยางในแง่ของปริมาณจะไม่ลดลง แต่ในแง่ราคาลดลง 60-70% ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีผลผลิตน้อยลงจากภาวะภัยแล้ง
 
                    ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พบว่าขยายตัวในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กระบี่, ภูเก็ต, สมุย (จ.สุราษฎร์ธานี) และหาดใหญ่ (จ.สงขลา) ส่วนเมืองท่องเที่ยวระดับรองๆ ไม่ได้ขยายตัวมากนัก แต่รายได้จากการท่องเที่ยว นับเป็นพระเอกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังถือว่าเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว พบว่านักท่องเที่ยวไม่ได้มีจำนวนมากจนไม่สามารถรองรับได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ เป็นเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวทรงตัวจากปีที่ผ่านมาไม่ได้มากขึ้น ขณะที่จำนวนห้องพักทั้งในกระบี่ และพังงา เพิ่มขึ้นมาอีกหลายพันห้อง
 
                    สำหรับรายได้หลักของภาคใต้มีเพียง 3 เรื่องคือ ยางพารา ปาล์ม และประมง หากทั้ง 3 ตัวนี้ไม่ดีนัก เศรษฐกิจภาคใต้ยังคงไม่กระเตื้อง ส่วนการท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้ที่เข้ามาเติมเต็มรายได้ของประชาชนในภาคใต้เท่านั้น เมื่อรายได้หลักยังไม่ดี กำลังซื้อของประชาชนในภาคใต้ก็ยังไม่ดี เงินสะพัดที่จะมาจากเศรษฐกิจระดับฐานรากก็ยังไม่มี รอความหวังจากคนในระดับกลางที่ยังพอมีใช้จ่าย แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ค่อยใช้จ่ายเงินอยู่ดี จึงมองว่าไตรมาส 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจภาคใต้ก็ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
 
                    นายวัฒนา กล่าวว่า ประเด็นที่ยังความหวังในขณะนี้คือ มาตรการของรัฐที่จะผลักดันราคายางให้ขยับสูงขึ้น ซึ่งหวังว่าในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ ราคายางน่าจะปรับสูงขึ้นได้อย่างน้อย้อีก 2-3 บาทต่อกิโลกรัม โดยไม่ได้หวังว่าราคายางจะขยับขึ้นไปสูงๆ ถึง 10 บาท แต่ขยับขึ้นมาได้ 2-3 บาท ก็นับว่าดีแล้วแต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่เกษตรกรชาวสวนยางยังคงขาดทุนอยู่
 
                    “การที่ราคายางจะขยับขึ้นได้ มี 3 แนวทางคือการเร่งขายยางโดยการส่งออกให้ได้มากขึ้น ซึ่งค่อนข้างยาก อีกแนวทางคือการใช้สต็อกยางที่มีอยู่ให้มากขึ้น โดยผลักดันการใช้ยางในสต็อกไปใช้ให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการปูพื้นถนน หรือนำไปใช้ทำสนามฟุตซอล เป็นต้น สุดท้ายจะต้องสามารถใช้ยางพาราไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายสินค้าที่ผลิต ได้รับความนิยมแล้ว เช่น หมอนยางพารา หรือแม้แต่การนำไปทำเป็นกระเบื้องมุงหลังคา แต่ยังขาดการส่งเสริมสนับสนุนที่ดี ด้านภาครัฐก็มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว แต่ยังค่อนข้างล่าช้า จึงมองว่ากว่าราคาจะขยับขึ้นไปได้ก็น่าจะเป็นช่วงปลายปี” นายวัฒนา กล่าว
 
                    ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ปีนี้ มองว่าจะโต 2% ซึ่งต่ำกว่าเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัว 3% หากเศรษฐกิจภาคใต้จะขยายตัวได้ถึง 4% ราคายางพาราต้องขึ้นไปสู่ระดับ กิโลกรัมละ 100 บาท เนื่องจากราคายางพาราเป็นกลไกหลักหลักในการผลักดันเศรษฐกิจ