
โจรปล้นบ้าน-ป้องกันตัวได้แค่ไหน
13 เม.ย. 2559
โจรปล้นบ้าน-ป้องกันตัวได้แค่ไหน : โดย...เกศินี แตงเขียว
ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ หลายคนฝากบ้านไว้กับตำรวจ เพื่อจะได้อุ่นใจว่า กลับจากการท่องเที่ยวแล้ว ทรัพย์สินในบ้านจะยังอยู่ครบ
แต่สังคมวันนี้ “โจร” มีสารพัดวิธีในการ “ฉกทรัพย์” และเพิ่มความรุนแรงในการก่ออาชญากรรม ทั้งการใช้กำลังและอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นมีด หรือ ปืน ที่ปัจจุบันหาได้ง่ายดายเหลือเกิน ซึ่งการก่อเหตุอาชญากรรมโดยใช้กำลังและอาวุธ บุกปล้นบ้าน หรือร้านทอง มีให้เห็นเป็นข่าวดังอยู่บ่อยๆ ภยันตรายจึงอาจใกล้ตัวเรา และเกิดขึ้นได้ทั้งที่พักอาศัย ท้องถนน และที่สาธารณะทั่วไป
อย่างกรณีก่อนหน้านี้ เกิดเหตุคนร้ายย่องเข้าบ้านหลังหนึ่งที่หมู่บ้านสราญรมย์ เขตบึงกุ่ม กทม. และถูกเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นจ่าทหาร ยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 9 มม. รวม 8 นัด เสียชีวิตคาบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาต่อเจ้าของบ้านรายนี้
ทำให้คนเริ่มสงสัยว่า เจ้าของบ้านมีสิทธิป้องกันตัวได้แค่ไหนหากถูกโจรเข้าบ้าน และการที่เจ้าของบ้านใช้ปืนยิงคนร้ายถึง 8 นัด ทำได้หรือไม่? เกินกว่าเหตุหรือไม่?
แล้ว...ถ้าบังเอิญ คุณต้องกลายเป็นหนึ่งในคนที่โชคร้าย เจอโจรบุกปล้นบ้าน ถ้าเหตุการณ์จวนตัวคุณสามารถใช้อาวุธป้องกันตัวเองได้หรือไม่...?
คำตอบคือ “ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า ผู้ใดจำต้องกระทำการใด เพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
แต่คำถาม...ตามมา คือ การกระทำลักษณะป้องกันตัวนั้น จะทำได้แค่ไหน? แม้มีกฎหมายเช่นนี้...เราจะป้องกันตัวเองอย่างไร เพื่อไม่ให้เรา...ต้องกลายเป็น "ผู้ก่ออาชญากรรม” เสียเอง
สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อธิบายหลักเกณฑ์ของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้เข้าใจง่ายๆ
1.ต้องมีภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย 2.ภยันตรายใกล้จะถึง 3.ผู้กระทำ จำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น 4.การกระทำนั้น ต้องพอสมควรแก่เหตุ คือไม่เกินขอบเขต
ซึ่ง “การป้องกัน” นั้น เป็นการกระทำต่อผู้ที่ก่อให้เกิดภัย นั่นคือ “คนร้าย หรือ โจร” ดังนั้น หมายความว่า ต้องมีภัยเกิดขึ้นเสียก่อน จึงจะมีอำนาจป้องกัน
ส่วนกรณีที่ไม่มีภัย...หากผู้กระทำคือตัวเรา สำคัญผิดคิดว่ามีภัย ผู้กระทำต้องอ้างการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่ามีภัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคหนึ่ง คือ “ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริง จะทำให้การกระทำนั้น ไม่เป็นความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับการยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี”

ขณะที่ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่เข้าหลักการป้องกัน ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 68 คืออันตรายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เท่านั้น คือ ภัยต่อชีวิต ต่อร่างกาย ต่อชื่อเสียง ต่อเสรีภาพ หรือต่อทรัพย์สิน
"การกระทำเพื่อป้องกัน จะต้องพอสมควรแก่เหตุ ก็คือ ต้องไม่เกินขอบเขต ซึ่งภัยที่คนร้ายก่อกับผู้ที่กระทำการป้องกันตัวเองต้องได้สัดส่วนกัน หากภัยที่ผู้ป้องกันก่อนั้น มีความรุนแรงกว่าภัยที่คนร้ายก่อถือว่าเป็นการป้องกันที่เกินสมควรแก่เหตุ เช่น มีคนร้ายเข้าลักทรัพย์ เจ้าของบ้านใช้ปืนยิงคนร้ายตาย ภัยที่คนร้ายก่อนั้นเป็นภัยต่อทรัพย์ แต่ภัยที่เจ้าบ้านก่อเป็นภัยต่อชีวิต ภัยที่เจ้าของบ้านก่อไม่ได้สัดส่วนกับภัยที่คนร้ายก่อจึง เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
เคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา 5904/2553 วินิจฉัย กรณีผู้ตายใช้ไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ตีแล้วจำเลยใช้ปืนยิง ก็เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
หรือคำพิพากษาฎีกา 246/2554 คดีที่ผู้เสียหายกับพวกมีมีดและสนับมือไล่ตามทำร้ายร่างกายจำเลย แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิง 6 นัด ก็เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยมีความผิดข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ
ยังมีตัวอย่างคดีที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ เพื่อป้องกันคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ห้องพัก แล้วลูกเลี้ยงของจำเลยแอบเข้าไปลักทรัพย์จนถูกไฟฟ้าดูดตาย ก็เป็นการป้องกันเกินสมควร และเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน โดยจำเลยมีความผิดตามมาตรา 290 คือ ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกา 7650/2550"
ทั้งนี้ “การป้องกันที่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน” หมายความว่า ภยันตรายยังมีเพียงเล็กน้อย ผู้กระทำมีโอกาสจะใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงเพื่อป้องกันต่อภัยนั้นได้ แต่ผู้กระทำเลือกวิธีการที่รุนแรง เช่น คนร้ายแอบอยู่ที่รั้วบ้าน ยังไม่ได้เข้าไปลักทรัพย์ ภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์ยังมีไม่มาก เจ้าของบ้านมีอาวุธปืนสามารถป้องกันโดยวิธียิงขู่ก็ได้ แต่กลับยิงคนร้ายหลายนัดจนตาย เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
สราวุธ ยังยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1911/2547 จำเลยยิงผู้ตาย เพราะผู้ตายจะใช้มีดแทง จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวโดยไม่ต้องหลบหนี แต่การที่จำเลยมีอาวุธที่ร้ายแรงกว่า จำเลยอาจเลือกยิงร่างกายส่วนที่สำคัญน้อยหรืออันตรายน้อย เพียงเพื่อยับยั้งผู้ตาย แต่จำเลยกลับใช้อาวุธปืนเล็งยิงที่ใบหน้า จึงเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ซึ่งถ้าผู้กระทำกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้
แม้ว่า...กฎหมายจะปกป้องสิทธิการป้องกันตัวเอง แต่ที่สำคัญอีกประการที่่ควรจำก็คือ การใช้สิทธิป้องกันมีได้เฉพาะช่วงระยะเวลาที่ยังมีภยันตรายอยู่เท่านั้น
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า “จำต้องกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายใกล้จะถึง” นั่นหมายความว่า ผู้ป้องกันสามารถป้องกันต่อภยันตรายที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่ใกล้จะเกิดขึ้น ตลอดไปจนถึงเวลาที่กำลังมีภยันตรายเกิดอยู่ การใช้สิทธิป้องกัน จึงทำได้เฉพาะช่วงระยะเวลาที่ยังมีภยันตรายอยู่เท่านั้น
หากภยันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิทธิป้องกันจะสิ้นสุดลงทันที ซึ่งการกระทำหลังจากที่ภยันตรายได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการป้องกัน แต่อาจอ้างเรื่องบันดาลโทสะ ตามมาตรา 72 เป็นเหตุลดโทษได้ เพราะการที่ถูกกระทำโดยผิดกฎหมาย ถือว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมในตัว
ขณะที่ “ผู้ก่อภัย” เมื่อถูกทำร้ายแล้วยังมีอาวุธอยู่และยังสามารถใช้อาวุธนั้นทำร้ายได้อีก ถือว่าภยันตรายยังไม่หมดไป ผู้ป้องกันก็ยังสามารถป้องกันได้ แต่ถ้าผู้ก่อภัยหมดโอกาสจะก่อภัยแล้วถือว่าภยันตรายนั้นผ่านพ้นไปแล้ว ผู้กระทำจะอ้างป้องกันตัวไม่ได้ และหากระยะเวลานั้นผ่านพ้นไปแล้วผู้กระทำก็จะอ้างว่าบันดาลโทสะไม่ได้ และอาจเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย"
ดังนั้น...หากจะป้องกันตัวเองจากภัยการก่ออาชญากรรม ต้องมีสติเหมือนกัน เพราะแม้ฝ่ายถูกกระทำมีสิทธิ ้องกันตัวเองได้ แต่จะ “เกินกว่าเหตุ" หรือ“สมควรแก่เหตุ" ต้องดูข้อกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งแน่นอนคงไม่มีใครต้องการถูกดำเนินคดีตามมาจากการป้องกันตัว ดังนั้นการเรียนรู้ ตัวอย่างในอดีต จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้ปัจจุบัน ต้องทำซ้ำรอย!!!
-----------------------
(โจรปล้นบ้าน-ป้องกันตัวได้แค่ไหน : โดย...เกศินี แตงเขียว)