
เสียงตัดสินประชามติ
13 เม.ย. 2559
มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ : เสียงตัดสินประชามติ : โดย...สำนักข่าวเนชั่น
การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงประชามติ และบางประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดคำถามตามมา 2 คำถาม
คำถามแรก ประชาธิปัตย์จะโหวตอย่างไรต่อ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ในการทำประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม หลังจากชัดเจนว่าจะโหวตไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง
จากท่าทีของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แถลงออกมา ถูกเรียกว่า “แทงกั๊ก” คือยังไม่บอกชัดๆ ว่าการไม่เห็นด้วยกับบางประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
จากการตรวจสอบเชิงลึกในพรรคพบว่าในพรรคเองยังมีความเห็นหลากหลาย แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
1.กลุ่มผู้ใหญ่ของพรรค เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ไม่เห็นด้วยทั้งคำถามพ่วงและร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการให้พรรคโหวตไม่เอาทั้งคำถามพ่วงและร่างรัฐธรรมนูญ
2.กลุ่มของอภิสิทธิ์ ไม่เห็นด้วยทั้งคำถามพ่วงและร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับกลุ่มแรก จะโหวตไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง แต่ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจนเหมือนกลุ่มแรก อย่างไรก็ตาม “บางคน” ที่ใกล้ชิดอภิสิทธิ์เชื่อว่า สุดท้ายกลุ่มนี้จะโหวตสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องการออกมาแสดงความเห็นบ้าง
3.กลุ่มใกล้ชิด “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. ซึ่งแม้สุเทพจะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้ว แต่ยังมีอิทธิพลกับสมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อย กลุ่มนี้สนับสนุนทั้งคำถามพ่วงและร่างรัฐธรรมนูญ โดยสุเทพได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนผ่านรายการ “คิดต่างระหว่างบรรทัด” ทางช่องฟ้าวันใหม่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
อีกคำถาม คือ การโหวตของพรรคประชาธิปัตย์จะส่งผลต่ออนาคตร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร
ดูจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาและข้อมูลล่าสุด สามารถแบ่งกลุุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงได้เป็น 3 กลุ่มพอๆ กัน คือ กลุ่มพรรคเพื่อไทย กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้มวลชนส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุน คสช.อยู่ด้วย และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มกลางๆ มีทั้งคนที่ปกติไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ที่ถูกเรียกว่า “ไทยเฉย” และคนที่ยังไม่ตัดสินใจ
ตอนนี้ คสช.กำลังพยายามให้คนออกมาออกเสียงลงประชามติให้มากที่สุด โดยหวังว่าคนกลุ่มนี้จะโหวตสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พูดเมื่อวันก่อนว่า “คนที่อยู่ตรงกลางจะเชื่อเขา(นักการเมือง)หรือเชื่อผม”
ทั้งนี้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เพียง 57.6 เปอร์เซ็นต์
ตอนนี้กลุ่มเพื่อไทยมีจุดยืนชัดเจนและมีเอกภาพว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแน่ หากมีคนจากกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมโหวต “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญด้วย ก็จะทำให้โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติยิ่งยากขึ้น
แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่า “ถ้าประชามติไม่ผ่านอำนาจก็อยู่ที่ผม” แต่ถ้าให้เลือก “บิ๊กตู่” ก็คงอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน!
-----------------------
(มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ : เสียงตัดสินประชามติ : โดย...สำนักข่าวเนชั่น)