ข่าว

25 มูลฐาน... 'ดาบฟันโจรฟอกเงิน' ...เอกสารลับปานามา

25 มูลฐาน... 'ดาบฟันโจรฟอกเงิน' ...เอกสารลับปานามา

13 เม.ย. 2559

25 มูลฐาน... 'ดาบฟันโจรฟอกเงิน' ...เอกสารลับปานามา : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 
                    หลังจาก “ไอซีไอเจ” สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) เปิดเผย “เอกสารลับปานามา” ว่ามีคนไทยเกี่ยวกับ “มอสแซก ฟอนเซกา” (Mossak Fonseca) เครือข่ายบริษัทกฎหมายยักษ์ใหญ่มีสาขาทั่วโลก ที่เน้นการลงทุนในบริษัทเงาในรูปแบบไม่ต้องแจกแจงที่มาของเงิน พร้อมช่วยจัดการธุรกรรมเลี่ยงภาษีนั้น
 
                    เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดแถลงข่าวยอมรับว่า ได้ร่อนจดหมายถึงเครือข่ายป้องกันการฟอกเงินข้ามชาติทั่วโลก เพื่อขอหลักฐานข้อมูลเชิงลึกว่ามีคนไทยเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินมากน้อยแค่ไหน จากฐานข้อมูลไอซีไอเจ พบบุคคลและนิติบุคคลสัญชาติไทยเกี่ยวข้องทั้งหมด 942 รายชื่อ แบ่งเป็นคนไทย 634 รายชื่อ ต่างชาติ 262 คน และนิติบุคคล 46 บริษัท
 
                    เฉพาะในส่วนของเอกสารลับปานามา พบรายชื่อคนไทย 16 คน มีทั้งนักการเมือง อดีตนักการเมือง นักธุรกิจมีชื่อเสียง ฯลฯ เกี่ยวข้องกับการเป็น “หุ้นส่วน” “ผู้รับผลประโยชน์” และ “ผู้อยู่เบื้องหลัง” กำลังประสานขอข้อมูลหน่วยงานต่างประเทศว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง
 
                    คนไทย 634 รายชื่อข้างต้น ปปง.ตรวจสอบเบื้องต้นพบระบุสถานที่อยู่อาศัยใน 14 จังหวัด แหล่งท่องเที่ยวที่มีฝรั่งต่างชาติเดินทางเข้าออกตลอดเวลา อันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ 418 รายชื่อ อันดับ 2 ภูเก็ต 88 รายชื่อ ส่วนพัทยามี 13 รายชื่อ
 
                    แม้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการนำเงินไปฝากต่างประเทศ หรือการใช้บริการของ “บริษัทนอกอาณาเขต” หรือ ออฟชอร์ คอมปานี เพื่อทำธุรกิจในลักษณะของการลงทุนผ่านตัวแทนจากประเทศสวรรค์ปลอดภัยไร้ภาษี (Tax Haven Country) ที่ตั้งอยู่ในหมู่เกาะกลางทะเล หรือที่เรียกว่า “บริษัทเงา"
 
25 มูลฐาน... \'ดาบฟันโจรฟอกเงิน\' ...เอกสารลับปานามา
 
 
                    บางกรณีอาจไม่ได้ผิดกฎหมายก็ได้ !?!
 
                    อย่างไรก็ตาม เครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นมองทะลุไปยัง “เจตนาและจุดประสงค์” พร้อมเรียกร้องให้ “รัฐบาล คสช.” ต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่า รายชื่อคนไทยที่โผล่ใน “เอกสารลับปานามา” เอาเงินออกนอกประเทศอย่างไร ? เอามาจากไหน เอาไปทำอะไร ? มีกลไกบริหารเงินจนสร้างความเสียหายให้ประเทศไทยหรือไม่
 
                    เพราะบุคคลที่ใช้บริการ “บริษัทเงา” ส่วนใหญ่ทั่วโลกจะพบพฤติกรรมความผิดใน 2 ข้อหาสำคัญ ได้แก่  1. “ฟอกเงิน” 2. “หลบหนีภาษี"
 
                    “ศ.วีระพงษ์ บุญโญภาส” ผอ.ศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมทางธุรกิจและการฟอกเงิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายให้ฟังว่า ปัจจุบันกฎหมายฟอกเงินของไทยมีมูลฐานความผิดอยู่เพียง 25 มูลฐานเท่านั้น เปรียบเทียบกับประเทศ เช่น สิงคโปร์ ยุโรป อเมริกา ล้วนมีฐานความผิดที่เอามาเชื่อมโยงคดีฟอกเงินได้มากกว่า 100 มูลฐานขึ้นไป ทำให้ผู้คิดหลบหลีกเลี่ยงเอาเงินใต้ดินไปยังต่างประเทศเกรงกลัวมาก เพราะอาจถูกยึดทรัพย์ได้ทั้งหมด เช่น เงินสนับสนุนนักการเมือง เงินในส่วนทุจริตคอร์รัปชั่น เงินไม่มีที่มาของรายได้ ฯลฯ
 
                    “รู้กันอยู่แล้วว่าเอกชนใช้บริการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากบริษัทเงาที่ให้บริการเหล่านี้เพื่ออะไร บริษัทพวกนี้ไม่อยู่ภายใต้อนุสัญญาอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลกับรัฐบาลหรือปปง.ของประเทศตัวเอง ตามขั้นตอนปกติแล้ว บริษัทที่ให้บริการลงทุนหรือบริหารหลักทรัพย์ของลูกค้า มีภารกิจหน้าที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานราชการในประเทศตัวเองทราบว่าลูกค้าเป็นใครบ้าง เอาเงินเข้าประเทศเขาด้วยวิธีใด จำนวนเท่าใด ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้หมด เพื่อความโปร่งใส”
 
                    ศ.วีระพงษ์ อธิบายต่อว่า เงินที่ถูกนำออกต่างประเทศ ทำได้ 2 วิธี คือ โอนผ่านธนาคาร เช่น ใช้กลวิธีสั่งซื้อสินค้ากับบริษัทที่เป็นคู่ขาในราคาแพง แต่สินค้าที่ได้รับมาจริงไม่ได้มีคุณภาพขนาดนั้น เพื่อให้นำเงินส่วนเกินไปฝากเข้าธนาคารที่กำหนดไว้หรือโอนต่อให้บริษัทเงาเพื่อหมุนกลบเกลื่อนร่องรอย เมื่อสินค้าส่งมาถึงก็เซ็นตรวจรับ ทำเสมือนว่าได้สินค้าที่เหมาะสมกับราคาที่จ่าย อีกวิธีหนึ่ง คือ โอนผ่านผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “นอนแบงก์” (non-bank) ในรูปแบบ ทอง จิวเวลรี่ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
 
 
25 มูลฐาน... \'ดาบฟันโจรฟอกเงิน\' ...เอกสารลับปานามา
 
 
                    “เงินพวกนี้สามารถติดตามได้ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐให้ความสนใจ และทำงานจริงจัง ตามกฎหมายฟอกเงิน ต้องสาวลึกให้ถึงเบื้องหน้า เบื้องหลังว่าคนไทยที่มีชื่อเกี่ยวข้องในปานามา เปเปอร์ส เอาเงินออกนอกประเทศอย่างไร มีการแสดงที่มาของเงินได้ชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่ก็มีโอกาสเป็นพวกฟอกเงิน หากพบว่าไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน กรมสรรพากรก็ต้องเข้าไปช่วยตรวจสอบหลักฐานการเงิน ว่าใช้แผนหลบเลี่ยงภาษีด้วยวิธีใด หรือต้องแก้กฎหมายภาษีไม่ให้มีช่องว่าง กฎหมายของไทยหย่อนยานมานานแล้ว ถึงเวลาที่ต้องช่วยกันพิจารณาปรับปรุงกฎหมายอย่างจริงจัง” ศ.วีระพงษ์ กล่าวแนะนำทิ้งท้าย
 
                    เมื่อเดือนกันยายน 2558 ปปง.เปิดเผยข้อมูลผลงานการปราบปรามการฟอกเงินว่า 16 ปีที่ผ่านมา สามารถยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
 
                    หากพิจารณาจาก 25 มูลฐานความผิด เช่น ค้ามนุษย์ ยาเสพติด ปลอมแปลง กู้ยืมเงิน อั้งยี่ ปั่นหุ้น ฉ้อโกงหลักทรัพย์ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ให้สินบน ลักลอบหนีศุลกากร ฯลฯ ถือว่าแทบจะครอบคลุมการทำผิดของคดีอาชญากรรม คดีเศรษฐกิจ คดีก่อการ้าย เพียงแต่การดำเนินการเพื่อสืบหาร่องรอยกลุ่มฟอกเงินระหว่างประเทศนั้น ยังไม่มีผลงานมากนัก เนื่องจากต้องต่อกรกับ “บริษัทเงา” ที่มีมืออาชีพระดับโลกทำงานอยู่เบื้องหลัง
 
                    ขณะนี้ ไอซีไอเจกำลังช่วย “ชี้เป้าหมาย” เหลือเพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐไทยว่าจะบูรณาการความร่วมมือ ติดตามเอาผู้กระทำผิดมายึดทรัพย์ จับเข้าคุก หรือเรียกปรับเงินหนีภาษีได้หรือไม่ ?
 
                    สังคมไทยกำลังเฝ้าติดตามอย่างลุ้นระทึก !
 
 
 
 
-----------------------
 
(25 มูลฐาน... 'ดาบฟันโจรฟอกเงิน' ...เอกสารลับปานามา : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)