
สูงอายุอย่างมีคุณค่าลดปัญหาสังคม
13 เม.ย. 2559
สูงอายุอย่างมีคุณค่า ลดปัญหาสังคม
จากคำนิยามของสหประชาชาติที่กำหนดว่าประเทศที่มีประชากรสูงอายุเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในประเทศจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 14.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวและกำลังจะเข้าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 และปี 2578 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งความต้องการและปัญหาทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจะมีจำนวนเกินกว่ากำลังการให้บริการทางสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ยากจนในชนบท
จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก “ปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ : ความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมทางสังคมในประเทศไทย” พบว่าการขยายบทบาทหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะช่วยเพิ่มกำลังและรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ได้
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและการรักษาโรคในผู้สูงอายุ รวมถึงการจัดการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุทุกช่วงวัย ด้านเศรษฐกิจหรือการสร้างความมั่นคงทางรายได้ ด้านสังคม การได้รับการคุ้มครองทางสังคมและการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนการเข้ากิจกรรมและการเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง ในด้านการจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตเพื่อให้ผู้สุงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระของสังคม ทั้งยังสามารถเป็นหลักชัยและเป็นพลังของสังคมได้ด้วย
“การยอมรับระบบสังคมผู้สูงอายุไม่ได้หมายถึงการพัฒนาเฉพาะระบบกลุ่มประชากรผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาระบบเพื่อเตรียมความพร้อมของประชากรในทุกช่วงวัยเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต ในช่วงที่ผ่านมา สสส.มีส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการสร้างนวัตกรรมองค์กรการเรียนรู้นโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เพื่อให้สังคมไทยและประชาชนไทยมีการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือสังคมสูงวัยที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้” ตัวแทนจาก สสส.กล่าว
ด้าน อภิชาติ อภิชาตบุตร รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุรัฐบาลจึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในภารกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ มีการสร้างกลไกในการทำงานแบบองค์รวมเพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุแบบบูรณาการ โดยตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุเพื่อดำเนินภารกิจในเรื่องการส่งเสริมศักยภาพ การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ผู้สูงอายุ การกำหนดนโยบาย มาตรการ กลไก และขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเข้าถึงการบริการของรัฐ
"ในเรื่องของผู้สูงอายุมีประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ การเสริมสร้างสังคมผู้สูงอายุไทยให้มีคุณภาพด้วยกลไกของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านผู้สูงอายุ ส่งเสริม สนับสนุนงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ โดยใช้แผนงานผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นกรอบและเป้าหมายในการดำเนินงาน มีการส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับจังหวัดและท้องถิ่นมีการบูรณาการร่วมกันนำไปสู่การดำเนินการแบบองค์รวม รวมทั้งมีการระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันผ่านเวทีสมัชชาผู้สูงอายุในระดับชาติและจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รัฐบาลสนับสนุนให้มีการดำเนินการด้านผู้สูงอายุภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ด้านสวัสดิการสังคมและพัฒนา ปี 2559-2563 โดยใช้เวทีประชุมวิชาการอาเซียนบวกสาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ แนวปฏิบัติในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือ กำหนดแนวทาง มาตรการ และพัฒนาเครือข่ายการดำเนิินงานด้านผู้สูงอายุระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสามด้วย
ประเด็นที่ 2 คือการเสริมพลังและการสร้างเครือข่ายทางสังคม ส่งเสริมการใช้ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของผู้สูงอายุในการถ่ายทอดภูมิปัญญา สร้างความตระหนักและบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุกับคนรุ่นอื่นๆ ในชุมชนผ่านกิจกรรมหลากหลาย อาทิ ความรู้และทักษะด้านอาชีพ รวมทั้งงานฝีมือต่างๆ เพิ่มโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รัฐบาลส่งเสริมและให้การสนับสนุนผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถที่เกษียณจากการทำงาน ทั้งในส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ให้มีโอกาสนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาร่วมสร้างคุณประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ยังใช้กลไลระดับพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายทางสังคมผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนและพัฒนาความเข้มแข็ง การดำเนินงานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ และส่งเสริมการดูแลระยะยาว โดยมีท้องถิ่นเป็นพลังสำคัญในการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิ์ของผู้สูงอายุ การคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อให้เป็นกลไกในการเรียนรู้และการพัฒนาตลอดชีวิตด้วยการส่งเสริมความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการร่วมกันดูแลและเกื้อหนุนผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมให้เป็นต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุ
การให้การสนับสนุนด้านสังคมโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ลดหย่อนเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับบุตรที่ดูแลบิดาหรือมารดาที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวดูแลผู้สูงอายุ รัฐบาลได้ให้การสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุโดยการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตามระดับอายุแบบขั้นบันไดอย่างทั่วถึง ทั้งยังสร้างมาตรการเพิ่มเติมด้านหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุโดยการทำตามนโยบายระบบ การออมเพื่อวัยสูงอายุโดยทำให้เกิดพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เพื่อเป็นหลักในการจ่ายบำนาญและให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิก นอกจากนี้รัฐบาลส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานทำหรือการจ้างงานหลังเข้าสู่วัยเกษียณ ทั้งในรูปแบบของอาชีพอิสระ และการจ้างงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ การบริการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุโดยไม่คิดดอกเบี้ย การปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ มุ่งเน้นให้มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมทั้งจัดสิ่งอำนวยความสะดวก บริการในอาคารสถานที่ยานพาหนะและบริการขนส่งสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ภาวะพิการ ทุพลภาพ และภาวะพึ่งพิง ภายใต้การออกแบบเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย นำไปสู่การยกระดับคุณภาพผู้สูงอายุ" รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เผยถึงนโยบายของรัฐ
ขณะที่ ดร.สุทยุต โอสรประสพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ผู้เขียนรายงานฉบับนี้อธิบายว่า คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล 1 อย่าง จาก 3 กองทุน คือ กองทันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งช่วยขยายช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทว่าช่องทางในการเข้าถึงและการใช้บริการทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากค่าใช่จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษายังคงมีให้เห็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้สูงอายุยากจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบ
"หลายๆ คนเมื่ออายุ 55-65 ยังสามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อแก่ตัวลงสุขภาพเริ่มอ่อนแอและมีข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลได้เอง จึงต้องพึ่งพาผู้ดูแลและญาติพี่น้อง นอกจากนี้การขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาย่อมเยาถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้กับทางหลวงหรือถนนสายหลักที่มีรถประจำทางวิ่งผ่าน จึงจำเป็นต้องจ้างรถซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางมายังโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ยากจนและดำรงชีวิตด้วยเบี้ยเลี้ยงยังชีพจากบำนาญถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียวมีความเสี่ยงที่สุด และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้ไม่มีเงินเพียงพอในการเดินทางมายังสถานพยาบาลในยามที่เจ็บป่วย รวมถึงค่าอาหารและค่าที่พักใกล้กับโรงพยาบาลด้วย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ รวมถึงการให้บริการรถตู้ฉุกเฉินสำหรับชุมชนและการจัดหายานพาหนะรับส่งผู้สูงอายุที่ยากจนมายังสถานพยาบาลตามความจำเป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้านสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือด้านสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุในชุมชนผ่านการเยี่ยมเยียนตามบ้านและการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค แผนงานการคัดกรองและมุ่งเป้าดูแลกลุ่มคนยากจนควรได้รับการทบทวนเพื่อพัฒนาการให้บริการทางสุขภาพและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ที่ต้องการมากที่สุด บริการเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังสถานพยาบาลแก่ผู้สูงอายุยากจนเมื่อจำเป็นควรได้รับการสนับสนุน" ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์ เสนอแนะปิดท้าย