
อนาคตประชามติ...อนาคตประชาธิปัตย์
11 เม.ย. 2559
มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ : อนาคตประชามติ...อนาคตประชาธิปัตย์ : โดย...สำนักข่าวเนชั่น
ท่าทีของ “พรรคเพื่อไทย” ต่อทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่จะนำไปทำประชามติ ไม่ได้น่าสนใจ เพราะจุดยืนพรรคนี้ชัดเจนมาตั้งแต่ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญว่ายังไงก็ไม่เอาด้วย ต่างจากท่าทีของ “พรรคประชาธิปัตย์”
ไม่ว่าจะเพราะ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. และแกนนำ กปปส.หลายคน เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ก็ทำให้มีการมองว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะโหวต “เห็นด้วย” กับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาคือ การทำประชามติไม่ได้ทำเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ แต่มี “คำถามพ่วง” เข้ามาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์
“องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนการตัดสินใจที่ยากลำบากของพรรคผ่านรายการ “กรองข่าววันเสาร์” ของเครือเนชั่นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจาก “คำถามพ่วง” ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเป็นทางการ
คำถามพ่วงคือ “เห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ซึ่งมีหลักการเดียวกับคำถามที่ส่งมาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
หากชาวบ้านอ่านตามเนื้อความนี้ก็คงงงๆ ว่าหมายถึงอะไร ทั้งที่ใจความสำคัญมีเพียงแค่ “เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ” แต่ถ้อยคำตรงๆ แบบนี้กลับไม่ปรากฏอยู่ในคำถาม ซึ่ง “องอาจ” มองว่า เป็นการตั้งคำถามโดยพยายามเลี่ยงคำว่า “ส.ว.เลือกนายกฯ”
นอกจากเรื่องการใช้ถ้อยคำแล้ว “องอาจ” ยังบอกว่า ไม่ควรถามคำถามนี้เพราะไปขัดกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพรรคโดยเฉพาะหัวหน้าพรรคแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงนี้ ฉะนั้นตอนนี้อาจจะต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เนื้อหาตามคำถามพ่วงมาปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ “องอาจ” สื่อออกมา แม้จะไม่ได้พูดตรงๆ แต่ก็ทำให้มองได้ว่าตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดแค่จะโหวตไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง แต่อาจหมายถึงต้องไป “ตัดตอน” ด้วยการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญด้วย
ทั้งนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดไว้ตั้งแต่ช่วงที่ สปท.มีมติให้ส่งคำถามนี้ให้ สนช.ว่า “พรรคไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เสียหลักการ ทำให้รัฐบาลทำงานยาก รัฐบาลจะต้องได้รับเสียงสนันสนุนจาก ส.ส. บุคคลที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คนไม่ควรมีสิทธิที่จะลบล้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือก ส.ส.เข้ามา”
หากไม่นับเสียง “กลุ่มสุเทพ” ตอนนี้เสียงจำนวนมากในพรรคประชาธิปัตย์อยากจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่กำลังชั่งผลได้ผลเสียกันอยู่!
-------------------
(มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ : อนาคตประชามติ...อนาคตประชาธิปัตย์ : โดย...สำนักข่าวเนชั่น)