
จากยึดรพ.ถึงหวิดบอมบ์ยะลา สิ่งที่เห็น..อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น!
10 เม.ย. 2559
จากยึด รพ.ถึงหวิดบอมบ์ยะลา สิ่งที่เห็น...อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น !
เหตุรุนแรง 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ คนร้ายกว่า 50 คนบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 มีนาคม และกรณีคนร้าย 7-8 คน ปล้นรถสองสามีภรรยาจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ก่อนนำไปบรรทุกระเบิด แล้วบังคับให้ขับไปจอดเพื่อก่อวินาศกรรมกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 5 เมษายนนั้น กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นการถูกพูดถึงในแง่ของการตั้งคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อสงสัย แม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะไม่ได้นำมาซึ่งความสูญเสียขนาดใหญ่ก็ตาม
รายงานพิเศษชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำความคิดหรือความเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงรวบรวมข้อสังเกตของฝ่ายต่างๆ ประกอบข้อมูลและบทวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางหน่วยมานำเสนอเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสะท้อนว่าพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงเป็นดินแดนสนธยา และเต็มไปด้วยความซับซ้อนจริงๆ
ยึดโรงพยาบาลใช้กระสุนเปลือง
เริ่มจากเหตุคนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เพื่อใช้เป็นที่มั่นและจุดสูงข่มในการระดมยิงฐานทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4816 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับรั้วโรงพยาบาล แม้จนถึงขณะนี้จะมีข้อมูลยืนยันจนสิ้นสงสัยแล้วว่าไม่ได้เป็นการกระทำในลักษณะ “จัดฉาก” ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ทว่าก็ยังมีข้อสงสัยว่าอาจเป็นการ “สร้างสถานการณ์” โดยใครหรือกลุ่มใด เพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกเหนือจากการแสดงศักยภาพของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือไม่
ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตกันมากก็คือปลอกกระสุนของคนร้ายที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุซึ่งมีมากถึง 1,825 ปลอก จากปืนสงคราม 52 กระบอก เหตุใดถึงได้ยิงกันอย่างฟุ่มเฟือยถึงเพียงนี้ ราวกับกระสุนเป็นของหาง่าย
ประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองตรงกันว่า ที่ผ่านมาหากเป็นปฏิบัติการของนักรบบีอาร์เอ็น การยิงจะมุ่งผลสัมฤทธิ์มากกว่านี้ และใช้กระสุนประหยัดกว่านี้ เนื่องจากกระสุนหายาก และอาวุธของบรรดานักรบเกือบทั้งหมดได้ไปจากการปล้นชิงจากเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน ในขณะที่ยิงกันอย่างสะบั้นหั่นแหลกถึงเกือบ 2,000 นัด แต่กลับไม่ได้ก่อความสูญเสียต่อชีวิตของทหารพรานภายในฐานเลย มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 นาย เป็นทหารพราน 6 นาย และ อส.1 นาย
ข้อสังเกตนี้ไม่ได้มีขึ้นเพราะต้องการให้เกิดความสูญเสีย แต่ด้วยความที่คนร้ายอยู่ในจุดสูงข่มที่สามารถเลือกยิงได้
ขณะที่ฝ่ายทหารไม่กล้ายิงตอบโต้ เพราะคนร้ายใช้โรงพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วยและผู้บริสุทธิ์เป็นสถานที่กำบัง แต่ด้วยวิธีการยิงที่ได้เปรียบ กับการใช้กระสุนจำนวนมาก กลับไม่อาจก่อผลที่สมกับรูปแบบความรุนแรงที่ได้กระทำ
ยิ่งไปกว่านั้น อาวุธปืนสงคราม 52 กระบอกที่คนร้ายใช้ มีเพียง 18 กระบอกที่มีประวัติในสารบบของฝ่ายความมั่นคงว่าเคยใช้ก่อเหตุรุนแรงมาก่อน แสดงว่าอาวุธปืนอีกถึง 34 กระบอก หรือเกือบ 2 เท่า เป็นอาวุธที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ หรือเคยใช้แต่ไม่เคยถูกเก็บประวัติ (ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้)
คำถามคืออาวุธเหล่านี้มาจากไหน?
ขณะที่การติดตามจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุอุกอาจถึงขั้นควงอาวุธบุกยึดโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็อยู่ในอาการมืดแปดด้าน หมายจับที่ออกมาแล้ว 2-8 หมาย เป็นการออกตามประวัติการใช้ปืน 18 กระบอกในพื้นที่ 5 อำเภอของ จ.นราธิวาส เป็นหลัก ซึ่งต้องเรียกว่าเป็น “ฐานข้อมูลเก่า” ที่สำคัญ ผู้ก่อเหตุหลายคนไม่ได้ใช้ผ้าหรือหมวกคลุมศีรษะปกปิดใบหน้า ซ้ำยังเดินผ่านกล้องวงจรปิดแบบไม่กลัวใครจำได้อีกด้วย
7 ข้อสงสัยปล้นรถ-ซุกบอมบ์
เหตุการณ์ที่ 2 กรณีคนร้ายปล้นรถของลุงกับป้าสองสามีภรรยา จากพื้นที่บันนังสตา แล้วนำระเบิดบรรจุถังแก๊ส 2 ถัง น้ำหนักรวม 160 กิโลกรัม ยัดใส่รถ จากนั้นบังคับให้คุณลุงขับรถเข้าไปจอดกลางเมืองยะลาเพื่อกดระเบิด โดยนอกจากจะจับคุณป้าแยกขึ้นรถไปอีกคันเพื่อเป็นตัวประกันแล้ว ยังให้คุณลุงสวมเสื้อที่ผูกระเบิดติดไว้ เป็นการกดดันและบังคับอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ภารกิจสำเร็จอีกด้วย
เหตุการณ์นี้หากมีการระเบิดเกิดขึ้นจริง จะก่อความสูญเสียอย่างมหาศาล เพราะจุดที่คนร้ายบังคับให้คุณลุงขับรถไปจอด อยู่ใกล้ปั๊มน้ำมัน และบริษัท โตโยต้า พิธานพาณิชย์ยะลา จำกัด ภาพที่คาดว่าจะออกมาหากเกิดระเบิด คือคนขับสวมเสื้อระเบิด คล้ายเป็น “ระเบิดพลีชีพ” เท่ากับเป็นการยกระดับความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เทียบเท่าก่อการร้ายสากล
เคราะห์ดีที่เหตุการณ์ไม่ได้บานปลายถึงเพียงนั้น แต่ก็ยังมีประเด็นข้อสงสัยจากฝ่ายต่างๆ จากหลายวงสนทนา พอสรุปได้ดังนี้
1.วิธีการของคนร้ายที่ก่อเหตุ โดยการปล้นรถแล้วจับตัวประกันบังคับให้ขับรถของตัวเองบรรทุกระเบิดเข้าไปจอดในตัวเมือง เป็นวิธีการใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ที่ผ่านมามีแต่คนร้ายฆ่าเจ้าทรัพย์ แล้วชิงรถไปติดตั้งระเบิด ก่อนนำไปจุดระเบิดตรงจุดที่เป็นเป้าหมายทันที เห็นได้จากเหตุ “คาร์บอมบ์” ล่าสุดใน อ.เมืองปัตตานี หน้าฐานหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็เป็นการฆ่าเจ้าทรัพย์ ชิงรถ ติดตั้งระเบิด แล้วโจมตี
คำถามคือเหตุใดคนร้ายจึงใช้วิธีการที่ซับซ้อนและมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย หากหวังผลให้เกิดการระเบิดเพื่อสร้างความสูญเสียในเขตเมืองและย่านเศรษฐกิจ
2.ความโหดเหี้ยมในการก่อเหตุของคนร้ายดูจะลดน้อยลงกว่าที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะหากเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ อ.บันนังสตา และ อ.กรงปินัง ซึ่งมีประวัติการก่อเหตุอย่างเหี้ยมโหด เพราะคุณป้าที่ตกเป็นตัวประกันก็ปลอดภัย แม้คุณลุงจะทำการไม่สำเร็จ คือไม่เกิดการระเบิดขึ้นก็ตาม 3.คนร้ายบางส่วนหรือทั้งหมด ไม่ได้ปกปิดหน้าตา การปล่อยตัวประกันทำให้นำไปสู่การออกภาพสเก็ตช์และติดตามตัวคนร้ายได้ง่าย ซึ่งล่าสุดตำรวจก็มีข่าวตำรวจเริ่มจับกุมผู้ต้องสงสัยแล้ว
4.การวางระเบิดของคนร้าย จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระบุว่า ระเบิดถังแก๊สทั้ง 2 ถังประกอบวงจรระเบิดไว้สมบูรณ์แล้ว และมีวงจรจุดระเบิดซ้อนมากกว่า 1 วงจร แต่หลังจากที่คนร้ายบังคับให้คุณลุงขับรถผ่านด่านเข้ามาในเขตพื้นที่เมืองได้แล้ว มีบางช่วงที่คุณลุงขับรถหลุดพ้นจากการควบคุมของคนร้าย เหตุใดคนร้ายจึงไม่จุดระเบิดทันที 5.กรณีเสื้อผูกระเบิดที่คนร้ายบังคับให้คุณลุงสวมใส่เพื่อข่มขู่ให้ขับรถบรรทุกระเบิดไปจอดยังเป้าหมาย โดยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าคนร้ายต่อวงจรเอาไว้แล้ว เหตุใดคุณลุงจึงสามารถใช้กรรไกรตัดเสื้อระหว่างขับรถแล้วโยนทิ้งไปได้โดยไม่ระเบิด แต่เสื้อดังกล่าวกลับระเบิดขึ้นระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าเก็บกู้
6.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ และรูปแบบการก่อเหตุไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุใดจึงมีแต่เพียงฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองเท่านั้นที่มีข้อมูล และให้ข่าวต่อสื่อ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลในรายงานเหตุการณ์ประจำวันของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานทางทหาร 7.ระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ถังแก๊ส 2 ถัง บรรทุกมาในรถ ยังมีข้อมูลสับสนว่าขับผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่เข้ามาหรือไม่ เพราะข้อมูลบางแหล่งระบุว่าขับผ่านด่านปกติ แต่บางแหล่งระบุว่าขับลัดเลาะหลบด่าน นอกจากนั้นข้อมูลที่รายงานผ่านสื่อบางแขนง บางข้อมูลอ้างว่าคุณลุงถูกคนร้ายใช้ถุงดำคลุมศีรษะเกือบตลอดทาง แต่บางข้อมูลกลับอ้างว่าคุณลุงรู้เส้นทางขับรถของคนร้ายว่าหลบด่านเข้าเมืองได้อย่างไร
6 สมมุติฐานใครสร้างสถานการณ์
ทั้งสองเหตุการณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีฝ่ายที่ไม่ค่อยชอบรัฐ หรือมองรัฐในแง่ลบ ตั้งประเด็นว่าเป็นการ “จัดฉาก” อาจจะเพื่อหวังงบประมาณหรือด้วยเหตุผลอื่น
แต่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยยืนยันตรงกันว่า เป็นไปได้น้อยมากที่เหตุการณ์ระดับนี้ ใช้คนขนาดนี้ จะกระทำโดย “คนของรัฐ” เอง เพราะปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วย หลายสี ปฏิบัติงานในพื้นที่จำนวนมาก มีการตรวจสอบซึ่งกันและกันค่อนข้างสูง ฉะนั้นการสร้างสถานการณ์โดยหน่วยใดหรือกลุ่มคนกลุ่มใดจึงเป็นเรื่องยาก
ทั้งนี้ โอกาสของความเป็นไปได้ มีการวิเคราะห์ออกมาหลายมุม ได้แก่ 1.เป็นฝีมือของนักรบบีอาร์เอ็นกลุ่มเดิม แต่อาจใช้กองกำลังชุดใหม่ เพราะมีข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยระบุตรงกันว่า ช่วงราวๆ เดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีการประชุมกันของแกนนำในต่างประเทศ และสั่งให้เพิ่มความถี่ในการก่อเหตุรุนแรง โดยใช้แนวร่วมรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีประวัติการก่อเหตุ หรือประวัติทางคดีมาก่อน ข้อมูลชุดนี้สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ที่ว่า กลุ่มขบวนการแจ้งเตือนว่าจะก่อเหตุรุนแรงหนักขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป
2.เป็นฝีมือของนักรบบีอาร์เอ็นกลุ่มเดิม แต่เปลี่ยนนโยบายในการก่อเหตุ เป็นการแสดงศักยภาพ ทว่าไม่ก่อความสูญเสียขนาดใหญ่ เพราะคนในพื้นที่เริ่มต่อต้านความรุนแรง การก่อเหตุหลายๆ ครั้งในระยะหลัง โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้ขบวนการเสียมวลชน โดยข้อมูลนี้มาจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางรายที่สามารถเข้าถึงคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ 3.เป็นฝีมือของนักรบกลุ่มใหม่ เพราะมีข่าวว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบางกลุ่มที่อยู่บนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามฟื้นกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ขึ้นมา และก่อเหตุแสดงศักยภาพว่าไม่ใช่ตัวปลอม แต่ไม่ก่อความสูญเสีย ทั้งนี้ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองบนโต๊ะพูดคุย
4.เป็นฝีมือของนักรบกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้ยึดโยงกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบนโต๊ะพูดคุย แต่เป็นกลุ่มในลักษณะที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายนอกประเทศตามที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์และแจ้งเตือนเรื่อง “กลุ่มแบล็คสวอน” 5.เป็นฝีมือของกลุ่มภัยแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน หรือขนของเถื่อนที่เสียผลประโยชน์จากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ และคำขู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ที่ประกาศจะล้างอิทธิพลเถื่อนในพื้นที่ภายใน 6 เดือน คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ประหนึ่งว่านายกฯ ได้รับข้อมูลลึกๆ บางอย่าง ถึงได้ให้สัมภาษณ์ในแนวทางนี้
6.เป็นฝีมือของกลุ่มการเมืองที่ต้องการสร้างสถานการณ์ดิสเครดิต หรือตบหน้ารัฐบาล คสช. ที่มีจุดแข็งเรื่องงานความมั่นคง ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่สามารถคุมสถานการณ์ในดินแดนปลายด้ามขวานได้
ทั้งหมดเป็นข้อสังเกตที่ต้องพิสูจน์ทราบต่อไป แต่ด้วยสภาพการทำงานของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเรื่องเอกภาพ จึงอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้นั้น...สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น!