
เงินทองต้องรู้ : เถ้าแก่หน้าใหม่
11 เม.ย. 2559
เงินทองต้องรู้ : เถ้าแก่หน้าใหม่ : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]
คุณวีระ ธีรภัทร เคยถาม (เล่นๆ) กลางรายการวิทยุ “เงินทองต้องรู้” ว่า จะดีมั้ย ถ้าแบงก์ชาติทำเซอร์ไพรส์ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ตอนนั้นตอบแบบไม่คิดอะไรเลยว่า “ดี” เพราะอย่างน้อยที่สุด การลดดอกเบี้ยก็น่าจะช่วยลดภาระหนี้ ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ท่ามกลางความเหือดแห้งของเศรษฐกิจที่ดูเหมือนรัฐบาลจะพยายามฉีดน้ำเป็นระยะ แต่ผืนดินก็ยังแห้งผาก
ว่ากันว่า เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบ เพื่อหวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ถูกนำไปใช้ชำระหนี้เป็นหลัก ทำให้การหมุนเวียนของเศรษฐกิจยังฝืด ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างใจ (รัฐ) ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็น่าจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้แก่บรรดาลูกหนี้ได้บ้าง แต่การประชุมของแบงก์ชาติในครั้งนั้นก็ไม่มีเซอร์ไพรส์ เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม
ผ่านไป 2 สัปดาห์ กลายเป็นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ทำ “เซอร์ไพรส์” ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (เอ็มแอลอาร์) ลง 0.25% จาก 6.50% เหลือ 6.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย แสดงความเห็นสั้นๆ ผ่านเอกสารเผยแพร่ว่า “ลดดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ”
แม้ผู้บริหารแบงก์จะบอกว่า มุ่งเน้นการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า อานิสงส์ของการลดดอกเบี้ยยังเผื่อแผ่ไปถึง “ลูกหนี้อื่นๆ” โดยเฉพาะลูกหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน ที่ดอกเบี้ยผ่อนชำระลดลงไปด้วย
เมื่อดอกเบี้ยลดลง ลูกหนี้จ่ายชำระต่องวดในอัตราเท่าเดิม เงินในแต่ละงวดก็จะถูกตัดเป็นดอกเบี้ยลดลง ส่วนที่เหลือก็จะตัดต้นได้มากขึ้น แปลว่า ยอดหนี้ (ที่เป็นเงินต้น) ก็จะลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น ยิ่งถ้าลูกหนี้เพิ่มอัตราการผ่อนชำระมากขึ้น เงินต้นก็ยิ่งลดได้เร็วขึ้น หนี้ก็หมดเร็วขึ้น
หลังจากแบงก์กสิกรไทยประกาศลดดอกเบี้ยแล้ว แบงก์ใหญ่ๆ ต่างก็พากันประกาศลดตาม โดยแบงก์กรุงไทยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ลง 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.525% ต่อปี เหลือ 6.275% ต่อปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ธนาคารกรุงเทพ ลดลง 0.25% เช่นกัน จาก 6.50% เหลือ 6.25% ธนาคารไทยพาณิชย์ ลดครั้งแรก 0.15% มีผลเมื่อวันที่ 5 เมษายน ก่อนจะลดลงอีก 0.15% มาอยู่ที่ 6.275% มีผลตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน และธนาคารทหารไทย ลดดอกเบี้ย 0.25% จาก 7.025% เหลือ 6.775%
แม้ผู้บริหารของทุกธนาคารจะให้เหตุผลเดียวกันว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจเอสเอ็มอี แต่การลดดอกเบี้ยก็ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” ที่จะทำให้ธุรกิจหรือเศรษฐกิจกลับมาคึกคักได้ทันตาทันใจ เพราะถ้าพูดถึง “ธุรกิจ” ก็ต้องแยกประเภทอีกว่า ใครเป็นดาวรุ่ง ใครเป็นดาวร่วง การลดดอกเบี้ยซึ่งเป็นการลดต้นทุนทางการเงิน ทำให้พวกที่เป็นดาวรุ่งอาจจะรุ่งได้อีก เพราะมีเงินเหลือ ส่วนที่เป็นดาวร่วง ก็แค่ประคับประคอง ไม่ถึงขนาดกลับทิศกลับทางให้กลายเป็นดาวรุ่งได้
ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย 10 ธุรกิจเด่นในปี 2559 โดยระบุว่า ธุรกิจทางการแพทย์และความงาม ยังครองอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2554 เพราะกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการดูแลความงามมีมากขึ้น ส่วนอันดับ 2 เป็นธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสาร อันดับ 3 ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว อันดับ 4 ธุรกิจการท่องเที่ยว อันดับ 5 ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต อันดับ 6 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเพื่อสุขภาพ อันดับ 7 ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ อันดับ 8 มี 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจจัดการตลาด เช่น ตลาดนัดและตลาดสด ตลาดนัดกลางคืน และธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างและธุรกิจก่อสร้าง อันดับ 9 มี 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจยา เวชภัณฑ์ และสมุนไพรธรรมชาติ และอันดับ 10 ก็มี 2 ธุรกิจเช่นกัน ได้แก่ ธุรกิจพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน
ส่วน “ดาวร่วง” ในปีนี้ ได้แก่ 1.ธุรกิจหัตถกรรม 2.ธุรกิจฟอกย้อม 3.สิ่งทอผ้าผืน 4.ธุรกิจจำหน่าย ผักและผลไม้อบเเห้ง และธุรกิจร้านค้าดั้งเดิม (โชห่วย) ที่ไม่ปรับตัว 5.ธุรกิจรับซื้อยาง 6.โรงสีขนาดเล็ก 7.ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หนังสือ 8.ธุรกิจรับซื้อคอมพิวเตอร์มือสอง และร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือสอง 9.ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตร และ 10.ธุรกิจพ่อค้าคนกลางพืชผลทางการเกษตร
ขณะที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดอันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2559 โดยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายและความรวดเร็ว เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ จักรยานและอุปกรณ์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4จี เช่น แอพพลิเคชั่นบนมือถือ และธุรกิจท่องเที่ยวแบบราคาประหยัด เช่น บูติคโฮเทล โฮมสเตย์ โรงแรมราคาประหยัด จะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง ส่วนธุรกิจการเดินทางโดยรถทัวร์ รถไฟ ร้านกาแฟสด จะกลายเป็นดาวร่วง
ในเวลาที่ประเทศไทยกำลังสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ยิ่งแบงก์ช่วยเหลือด้วยการลดดอกเบี้ยแบบนี้ ก็อาจจะยิ่งกระตุ้นให้เถ้าแก่ใหม่เกิดขึ้นมากและเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้น จึงเป็นข้อควรระวัง ที่เถ้าแก่ใหม่ทั้งหลายจะต้องรู้ว่า ธุรกิจอะไรเป็นดาวรุ่งหรือดาวร่วง ต้องมองว่า ธุรกิจที่เรากำลังจะเริ่มนั้น เรามีความถนัด มีความรู้ และมีตลาดรองรับหรือไม่ สุดท้ายคือ ต้องคำนวณเงินทุนให้เพียงพอ เผื่อเหลือเผื่อขาด และเผื่อในภาวะที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
เพิ่งเจอกับลูกหนี้ 2 ราย ที่รายแรกขาดสภาพคล่องจากการทำธุรกิจ ทั้งๆ ที่เงินทุนก้อนแรกก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่เพราะธุรกิจต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสต็อกสินค้าที่มากกว่านั้น สุดท้ายก็ไปไม่รอด ขณะที่อีกรายลงทุนเกินตัว จากครั้งแรกลงทุนไร่มันสำปะหลังบนพื้นที่ 1 ไร่ ลงทุนแค่ 1 หมื่นบาท เก็บเกี่ยวได้ 36,000 บาท ก็กู้เงินมาขยายเพิ่มจาก 1 ไร่กลายเป็น 12 ไร่ ก็พอดีกับราคามันตกจากกิโลกรัมละ 18 บาท เหลือกิโลกรัมละ 9 บาท ม้วนเสื่อกลับบ้านอีกราย
สองกรณีนี้บอกให้รู้ว่า หนึ่ง สายป่านต้องยาวพอสำหรับเถ้าแก่ใหม่ และสอง เมื่อลิ้มรสความสำเร็จแค่ครั้งแรก ก็ต้องไม่เหลิง เพราะความล้มเหลวอาจจะตามมาติดๆ
---------------------
(เงินทองต้องรู้ : เถ้าแก่หน้าใหม่ : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected])