ข่าว

ไขปม!‘โรค’เป็นแล้วรอดเกณฑ์ทหาร

ไขปม!‘โรค’เป็นแล้วรอดเกณฑ์ทหาร

06 เม.ย. 2559

ไขปม!‘โรค’เป็นแล้วรอดเกณฑ์ทหาร : ทีมข่าวสืบสวนสอบสวน

              นับเป็นอีกครั้งที่การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการประจำปี 2559 ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความโปร่งใสและความยุติธรรมในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับใช้ชาติ

              โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ดารา-นักร้อง ที่ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร จนครบกำหนดเวลาต้องมารับการคัดเลือก แต่กลับมีใบรับรองแพทย์มายืนยันช่วงโค้งสุดท้ายว่า เป็นโรคหอบหืด

              อย่างกรณีนักร้องและพระเอกชื่อดัง "ไมค์" พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล ซึ่งก่อนหน้านั้นได้รับการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากติดเรียนจนครบกำหนดอายุ 26 ปีบริบูรณ์ ถึงช่วงเวลาที่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่ปรากฏว่า มีการนำเอกสารจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ว่า แพทย์ระบุป่วยเป็นหอบหืด ไม่สามารถรับราชการทหารได้

              “โรคหอบหืด” เป็นโรคที่แพทย์ระบุเอาไว้ว่าเป็นโรคอันตรายที่ขัดต่อการรับราชการทหาร โดยกำหนดไว้ในกฎกระทรวงประกอบพระราชบัญญัติการรับราชการทหาร ในข้อ 5 คือ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจาก หากออกกำลังกายหนักๆ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอจะหายใจไม่ได้และเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต

              โดยจะต้องมีประวัติการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยตั้งแต่เด็ก และต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษของ 20 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก แต่ละโรงพยาบาลจะตั้งทีมแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อย 3 ท่าน เพื่อร่วมวินิจฉัยโรค หากป่วยจริงก็จะออกหนังสือรับรองให้

              พล.ท.วีรชัย อินทุโศภน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กล่าวยืนยันว่า การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการประจำปี 2559 มีความโปร่งใส ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ดารา หรือนักร้อง ทุกคนจะต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารกองเกิน

              “ที่สังคมจับผิดว่า ดารา-นักร้อง มักจะเป็นโรคหอบหืดกันมากจนผิดสังเกต คงไม่ใช่ เรายึดตามใบรับรองของแพทย์ ไม่ใช่ยึดตามกระแสสังคม ผมมองว่า แพทย์มีจรรยาบรรณ และโรงพยาบาลก็เป็นโรงบาลของทหาร หากแพทย์วินิฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น หากมีการตรวจสอบว่ามีการทุจริต ถือว่าแพทย์มีความผิดร้ายแรงมาก ถึงขั้นถูกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ แพทย์จะไม่ทำเรื่องพวกนี้เด็ดขาด ขอให้สังคมได้มั่นใจ นอกจากนี้กองทัพต้องการคนที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ หากมีคนที่ไม่สมบูรณ์หลุดเข้าไปเป็น แล้วป่วยเสียชีวิต ก็จะส่งผลเสียทางราชการ รวมถึงเจ้าตัวด้วย” พล.ท.วีรชัย กล่าว

              สำหรับโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 74/40 ฉบับแก่ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 75/55 และฉบับที่ 76/55 มี 10 โรค คือ 1.โรคหรือความผิดปกติของตา 2.โรคหรือความผิดปกติของหู 3.โรคของหัวใจและหลอดเลือด 4.โรคเลือดและอวัยวะสรางเลือด

              5.โรคระบบหายใจ 6.โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ 7.โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อและกล้ามเนื้อ 8.โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตะบอลิซึ่ม 9.โรคติดเชื้อ และ 10.โรคทางประสาทวิทยา

              ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการประจำปี 2557 เคยเกิดข้อสงสัยและการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างขว้างขวางเช่นกัน เมื่อพระเอกชื่อดังอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ นำใบรับรองแพทย์มาแสดงว่า ป่วยเป็นโรคหอบหืด และเป็นใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลพระมลกุฎเกล้า จนไม่สามารถเข้าเกณฑ์ทหารได้

              ส่วนดารานักร้องที่สมัครเข้ารับใช้ชาติเป็นคนแรก คือ ลีโอ พุฒ เข้ารับราชการ 1 ปี เมื่อปี พ.ศ.2542 สังกัดกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11

              ปีถัดมา "หนุ่ม" ศรราม เทพพิทักษ์ ก็สมัครเป็นทหารเข้าประจำการ กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 2 ปี ปลดประจำการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2545 กองทัพได้ขอให้ “หนุ่ม” ศรราม เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กองทัพ เชิญชวนชายไทยเข้าเป็นทหาร ที่ได้ยินคุ้นหูว่า “เป็นทหาร ได้อะไรมากกว่าที่คิด”

              ส่วน "เต๋า" สมชาย เข็มกลัด สมัครเข้ารับราชการทหารในปี 2544 สังกัดกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 อยู่ 2 ปี

              ปี 2545 ดูเหมือนพระเอกจะเข้าเป็นทหารกันคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น เอกรัตน์ สารสุข พระเอกช่อง 7 ยังมีดาราคู่แฝด ฝันดี-ฝันเด่น จรรยาธนากร อีกด้วย

              ในปี 2547 ก็มี "ออย" ธนา สุทธิกมล, เจสัน ยัง รวมถึง ภาณุ จิระคุณ หรือ ป๊อปปี้ นักร้องวงเค-โอติก ที่เข้ามารับใช้ชาติ

              สำหรับ "ชิน" ชินวุฒ อินทรคูสิน ดารานักร้องที่ต้องเป็นทหาร หลังจากเลี่ยงไม่มารายงานตัว ก็เชื่อว่าจะมีทางออกให้ เนื่องจากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว

              แหล่งข่างในกองทัพบอกว่า ที่ “ชิน” ชินวุฒ จะต้องทำแน่ๆ ก็คือ การฝึกติดต่อกัน 3 เดือน จากนั้นก็จะมีเวลาที่จะออกไปรับงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวในวันหยุด ส่วนวันธรรมดานอกจากการฝึกประจำวันแล้ว ก็เป็นไปได้ที่กองทัพจะมอบหมายให้ทำหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กองทัพ