
กล่องสมองกลไขพฤติกรรมการขับขี่
กล่องสมองกลไขพฤติกรรมการขับขี่ : โดยกมลชนก ทีฆะกุล
ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม จนถึงวันนี้ การคลี่คลายคดีที่นายเจนภพ วีรพร อายุ 37 ปี ขับรถยนต์เมอร์ซิเดส-เบนซ์ ป้ายทะเบียน ษง 3333 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนรถยนต์ฟอร์ด บนถนนพหลโยธินขาออก ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 52-53 ใต้ต่างระดับบางปะอิน หมู่ 8 ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จนเป็นเหตุทำให้ นายกฤษณะ ถาวร อายุ 32 ปี ผู้ขับรถยนต์ฟอร์ด และ น.ส.ธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย ที่นั่งมาด้วยกัน ถูกไฟคลอกเสียชีวิตทั้ง 2 คน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
แม้ตำรวจ สภ.พระอินทร์ราชา ได้แจ้งข้อหากับนายเจนภพ วีรพร ผู้ขับขี่รถเบนซ์ พร้อมพิสูจน์ได้แล้วว่า นายเจนภพใช้ความเร็วของรถเบนซ์ขณะขับชนรถฟอร์ดอยู่ที่ประมาณ 215-257 กม./ชม. โดยจะมีการแจ้งข้อหาเพิ่ม 4 ข้อหา คือ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น เสพสารเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตหรือประสาท เป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตประสาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
คดีนี้ยังมีข้อสงสัยที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการขับรถ ประเด็นข้อสงสัยหนึ่งที่ยังไม่คลี่คลาย คือ การใช้ความเร็วรถ แม้ว่ากองพิสูจน์หลักฐานจะสรุปว่าผู้ขับรถเบนซ์ผิด แต่อีกด้านหนึ่ง ตำรวจต้องมีการตรวจสอบกล่องอีดีอาร์ (Event Data Recorder) หรือกล่องสมองกลของรถเบนซ์คันนี้ โดยอยู่ระหว่างการรอตรวจพิสูจน์จากบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ของฮ่องกง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพและสามารถวิเคราะห์รายละเอียดได้แม่นยำ เรื่องความเร็วของรถ
ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารณ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า รถเบนซ์คันเกิดเหตุมีกล่องอีดีอาร์ ซึ่งจะสามารถเก็บข้อมูลการขับรถไว้ในหน่วยความจำ ไม่ได้บอกแค่ความเร็วสุดท้าย แต่บอกขณะก่อนหน้า และหลังเกิดเหตุ ไม่น้อยกว่า 9-15 วินาที ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับกล่องดำของเครื่องบิน โดยคุณสมบัติของกล่องอีดีอาร์นี้จะสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ จากพฤติกรรมการขับรถได้ ซึ่งก็จะสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการคลี่คลายคดีได้เป็นอย่างดี
“สมมุติว่าสามารถดึงข้อมูลจากอีดีอาร์มาได้ ซึ่งผู้ที่น่าจะทำได้ก็คือ บริษัทผู้ผลิต ถ้าดึงได้ สมมุติว่ามีการเก็บข้อมูลก่อนหน้าเกิดเหตุ ก็จะรู้ว่า รถคันนี้วิ่งมาที่ความเร็วเท่าไหร่ คนขับเหยียบเบรกหรือไม่ เขาเหยียบเบรกก่อนหน้าการชนเท่าไหร่ กี่วินาที ซึ่งก็แล้วแต่ผู้ออกแบบให้เก็บข้อมูลแบบไหน แต่ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจน มากกว่าการสืบหาบนพื้นถนน รอยยาง รอยเบรก ของรถด้วยซ้ำ ถ้าสามารถดึงมาได้ ก็จะมีข้อมูลที่ชัดเจน” ดร.นักสิทธิ์ กล่าว
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคดีนี้ว่า ข้อมูลบางอย่างของรถเบนซ์ที่ชนรถฟอร์ด อาจถูกลบไป แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ เชื่อว่า ไม่น่าจะมีผล เพราะกล่องอีดีอาร์ มีการออกแบบให้สามารถทนแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี และจากที่สังเกตภาพที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก็ปรากฏว่ารถเบนซ์คันนี้ไม่ได้เสียหายจากการถูกไฟไหม้
“ถ้าออกแบบการเก็บข้อมูลช่วงเกิดเหตุ ก็อาจจะไม่สูญเสีย เพราะอุปกรณ์จะใช้เอสดีการ์ด อีกทั้งการออกแบบแพ็กเกจก็ทำอย่างดี เพื่อให้รองรับการกระแทกได้ ข้อมูลภายในน่าจะไม่เสียหายเลย ก็เหมือนกับเครื่องบิน เวลาตก กล่องดำภายในก็ยังไม่พัง ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับการออกแบบ คาดว่าน่าจะต้องออกแบบมาอย่างดี คนที่จะเปิดกล่องนี้ได้ก็จะต้องเป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และมีสำนักงานที่สามารถจัดการได้ซึ่งก็คงไม่ได้กระจายอยู่ทั่วโลก” ดร.นักสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ผู้เชี่ยวชาญยานยนต์ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัจจุบันรถยนต์สมัยใหม่ เริ่มมีการออกแบบกล่องอีดีอาร์ เพื่อเป็นข้อมูลในการขับขี่ ซึ่งจะเก็บข้อมูล เช่น ความเร็ว การขับเป็นอย่างไร คนขับมีพฤติกรรมอย่างไร ลักษณะของเครื่องยนต์ขณะนั้น เช่นการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งจะสัมพันธ์กันกับกล่องอีซียู ซึ่งสามารถรับข้อมูลต่างๆ จากเซ็นเซอร์ของรถ โดยทั่วไปกล่องอีดีอาร์ จะเก็บข้อมูล 2 แบบ คือ เก็บข้อมูลตลอดเวลา เมื่อความจำเต็มจะมีการบันทึกข้อมูลทับไปเรื่อยๆ กับการเก็บข้อมูลโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น เกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีการเก็บข้อมูลเฉพาะเพื่อไม่ให้ถูกลบไปได้
“รถสมัยใหม่เริ่มมีการเก็บข้อมูลการขับขี่ด้วยกล่องอีดีอาร์ เช่น ความเร็ว การขับเป็นอย่างไร คนขับเป็นอย่างไร เปิดไฟเลี้ยว มีการเบรก หรือไม่ ลักษณะข้อมูลของรถยนต์ขณะนั้น เช่น การทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งมันจะสัมพันธ์กับอีซียู ซึ่งจะสามารถรับข้อมูลต่างๆ จากเซ็นเซอร์ของรถ แต่โดยทั่วไป อีดีอาร์จะเก็บข้อมูล 2 แบบ คือ การเก็บตลอดเวลา พอความจำเต็ม จะมีการทับข้อมูลไปเรื่อยๆ กับกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญ เช่น อุบัติเหตุ ข้อมูลก็จะเก็บเฉพาะเพื่อให้ไม่ถูกลบได้ จะมีการตัดช่วงออกมาไว้ต่างหาก” ดร. นักสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์แนะนำว่า ประเทศไทยควรมีระบบการบันทึกข้อมูลการขับขี่ มากกว่าการใช้จีพีเอส เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถ กรณีเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันการนำกล่องเก็บข้อมูลการขับขี่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกข้อมูลเช่นเดียวกับกล่องดำในเครื่องบินมาใช้ในประเทศไทย
"อุปกรณ์ตัวนี้เป็นการสร้างเครื่องบันทึกการขับขี่ ซึ่งสามารถดึงข้อมูลจากอีซียู ของรถ มาได้ โดยปกติข้อมูลเหล่านี้จะได้จากเซ็นเซอร์ส่วนต่างๆ ของรถ แต่อาจไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ แต่อุปกรณ์ตัวนี้จะเก็บข้อมูลได้ด้วยเอสดี การ์ด ข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ต่อเมื่อรู้ว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เวลาใด ซึ่งก็ดึงข้อมูลมาจากจีพีเอส เราก็จะรู้ตำแหน่ง ความเร็วของรถด้วย แต่ถ้ามีการต่ออุปกรณ์อื่น กล้องก็จะสามารถได้ภาพขณะนั้นด้วย ซึ่งใช้การวิเคราะห์หาสาเหตุได้ดีขึ้น รวมทั้งใช้เป็นหลักฐาน เรื่องคดีความด้วย ถ้าเอามาต่อยอดวิเคราะห์การขับ ก็สามารถนำมาใช้ในการเฝ้าระวังคนขับ เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก ขนาดใหญ่ เพื่อตรวจสอบให้ขับปลอดภัยในระยะยาวได้ผล” ดร.นักสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม