
'องอาจ'เชื่อกรธ.เลี่ยงปะทะคสช.
23 มี.ค. 2559
'องอาจ' เชื่อ 'กรธ.' หาทางเบี่ยง เลี่ยงแรงปะทะ คสช. ชี้ 3 แนวทางคงจุดยืนไว้ระดับหนึ่ง
23 มี.ค. 59 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ได้เป็นการพบกันครึ่งทาง แต่เป็นความพยายามหาทางเบี่ยงเลี่ยงแรงปะทะกับ คสช.โดยตรง ซึ่งยังคงจุดยืนของ กรธ.ไว้ระดับหนึ่ง ดังนี้
1. กรณีการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นทาง กรธ.ยังยืนยันหลักการที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี 3 ชื่อเหมือนเดิม แต่หากสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ จากชื่อที่เสนอไม่ได้ กรธ.ก็หาทางเบี่ยงเลี่ยงด้วยการออกแบบกลไกให้มีนายกฯ คนนอกได้ตามที่ คสช.ต้องการ เมื่อเป็นดังนี้ โอกาสที่จะมีนายกรัฐมนตรีคนนอกก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้น
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 2. ที่มาของ ส.ว.สรรหา กรธ.ยังคงเปิดโอกาสให้ผู้นำเหล่าทัพ 6 ตำแหน่ง มานั่งเป็น ส.ว.เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ระบุ 6 ตำแหน่งโดยตรง โดยหาทางเบี่ยงเลี่ยงว่าให้ข้าราชการประจำเข้ามาได้ไม่เกิน 6 คน แน่นอนที่สุด โอกาสที่ผู้นำเหล่าทัพยังเข้ามาเป็น ส.ว.ตามช่องทางนี้ยังมีอยู่เหมือนเดิม ส่วน ส.ว.สรรหา 250 คน ก็เอาตามที่ คสช.เสนอ คือ มีกรรมการ 8 - 10 คน เลือก 200 คน ส่วนอีก 50 คน กรธ.ขอเอาตามแบบที่ กรธ.เคยเสนอไว้ แต่สุดท้ายก็ยังต้องไปให้กรรมการที่ คสช.แต่งตั้งมาเลือกอีก 50 คนอยู่ดี เท่ากับว่า คสช.ยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำคลอด ส.ว.สรรหา 250 คน ส่วนที่ไม่ให้ ส.ว.สรรหามีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ถือว่าเหมาะสมที่ กรธ.รักษาจุดยืนไว้
อย่างไรก็ดี อยากให้ กรธ.ทบทวนอีกครั้งว่าจะให้กลไกใดที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมของการได้มาซึ่ง ส.ว.มากขึ้น 3. การยืนยันให้ใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมด้วยการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย กรธ.ยืนยันแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ์แสดงเจตนารมณ์อย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น อยากฝากให้ กรธ.ได้ทบทวนเรื่องนี้ด้วย
นายองอาจ กล่าวว่า การพิจารณาของ กรธ.ครั้งนี้ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อยุติ เพราะ คสช.อาจมีข้อเสนอใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือยังยืนยันข้อเสนอเดิมๆ ที่ กรธ.ไม่ยอมพิจารณาให้ เช่น อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาให้ กรธ.พิจารณาอีกครั้งก็ได้ เพราะการที่ คสช.กำหนด ส.ว.สรรหา 250 คนได้ และมีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยน่าจะเป็นความต้องการของ คสช.มากกว่า จึงต้องติดตามต่อไปว่า คสช.จะมีท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายคงต้องไปดูว่า กรธ.จะเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญออกมาแบบไหนอย่างไรในวันที่ 29 มี.ค.นี้ หวังว่า กรธ.จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมอย่างแท้จริงและได้รับการยอมรับจากประชาชน