ข่าว

ดราม่า...พ.ร.บ.ขอทานขับ‘ลุงเอี่ยม’ออกจากวัดไร่ขิง

ดราม่า...พ.ร.บ.ขอทานขับ‘ลุงเอี่ยม’ออกจากวัดไร่ขิง

20 มี.ค. 2559

ดราม่า...พ.ร.บ.ขอทาน ขับ‘ลุงเอี่ยม’ออกจากวัดไร่ขิง : เรื่องเล่าข่าวดัง โดยพรรณทิพา จิตราวุฒิพร

           ย้อนหลังไปเมื่อ 4 ปีก่อน นายเอี่ยม คัมภิรานนท์ หรือ ลุงเอี่ยม เป็นที่รู้จักไปทั่ว หลังสื่อหลายแขนงกระพือข่าวว่า เป็นขอทานเงินล้าน และยังใจบุญนำเงินที่ได้จากการนั่งขอทานที่ด้านหลังอุโบสถวัดไร่ขิงพระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม บริจาคเงินซื้อดอกบัวถวายหลวงพ่อวัดไร่ขิงในงานประจำปี ราว 1-2 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมวัด

           แต่หลังจากมี พ.ร.บ.ขอทาน กำหนดให้ขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทุกพื้นที่ของไทยจะมีขอทานไม่ได้ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของวัดวาต่างๆ ด้วย กระทั่งวันสองวันก่อนมีเรื่องราวดราม่า เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียในทำนองว่า “ลุงเอี่ยม” ถูกขับออกจากวัดไปใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยใช้ชีวิตที่แสนรันทด ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นคนพิการภายในห้องแถวด้านหลังร้านค้าหน้าวัด ซึ่งเป็นห้องว่างเปล่า ที่ทางวัดไร่ขิงให้เช่าทำมาค้าขาย

           ทีมข่าวคม ชัด ลึก ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้ โดยจุดแรกเริ่มที่หลังอุโบสถ วัดไร่ขิง ที่เคยเป็นที่นั่งประจำของลุงเอี่ยม ปรากฏว่าไม่พบลุงเอี่ยมอย่างเช่นเคย รวมถึงไม่มีขอทานรายใดแม้แต่คนเดียว บรรยากาศภายในวัดยังคงคึกคัก มีประชาชนทยอยเข้าวัดทำบุญอยู่เป็นระยะ

           “ลุงเอี่ยมไม่ได้นั่งขอทานในวัดนานกว่า 1 ปีแล้ว หลังจากที่มี พ.ร.บ.ควบคุมคนขอทาน อยากเจอลุงต้องไปที่ร้านสวัสดิการนะ” ชายวัยกลางคนรายหนึ่งซึ่งอยู่ภายในวัด บอกต่อทีมข่าวทันทีที่ถูกถาม

           ทีมข่าวติดตามลุงเอี่ยมไปยังร้านค้าสวัสดิการซึ่งตั้งอยู่นอกบริเวณวัด ห่างจากอุโบสถ ที่ลุงเอี่ยมเคยนั่งขอทานอยู่มากพอสมควร ซึ่งทันทีที่ไปถึงก็พบลุงเอี่ยมนั่งอยู่บนรถเข็น มีสีหน้าสดใสร่าเริงราวกับคนเปี่ยมสุข พูดคุยกับคนที่แวะเวียนมาเยี่ยมอย่างออกรส

           ทีมข่าวสอบถามสารทุกข์สุกดิบของลุงเอี่ยม ผ่านนายสมพงษ์ ทองเกิด ซึ่งอยู่ใกล้ชิดลุงเอี่ยมมานานกว่า 10 ปี ซึ่งรับอาสาทำหน้าที่ล่ามให้ ได้คำตอบว่าลุงเอี่ยมไม่ได้นั่งขอทานในวัดไร่ขิงนานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าทางวัดขับไล่ หรือทอดทิ้ง โดยทางวัดไร่ขิงเพียงแต่ขยับลุงเอี่ยมออกมาจากอุโบสถให้มาพักอาศัยที่ห้องพักหลังร้านค้าสวัสดิการแทนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และยังอนุญาตให้ลุงเอี่ยมเข้านอกออกในวัดได้ตามปกติ แต่ไม่อนุญาตให้นั่งขอทาน หรือเรี่ยไรเงินจากผู้ใจบุญเด็ดขาด

           “ลุงแกรู้ดีว่ามี พ.ร.บ.ควบคุมคนขอทาง ลุงก็ไม่อยากให้ทางวัดเดือดร้อน ซึ่งก็อาศัยสถานที่ที่ทางวัดจัดให้ แต่เมื่อไม่ได้ขอทานในวัดเงินที่ได้ก็ลดลง เพราะคนที่เคยบริจาคไม่รู้ว่าลุงออกมาอยู่ที่ไหน บางรายก็ออกตามหาเอาเงินมาให้ลุงถึงร้านค้าสวัสดิการ” นายสมพงษ์ บอก

           สมพงษ์ บอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ลุงเอี่ยมเคยขอทานได้หลักหมื่นบาทต่อวัน ตอนนี้ลดลงเหลือไม่กี่ร้อย โดยก่อนมี พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน ลุงเอี่ยมจะเก็บเงินแบ่งใช้บางส่วน แต่เงินส่วนใหญ่จะนำไปทำบุญตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้านบาท แต่ขณะนี้แม้ไม่มีเงินบริจาคเหมือนก่อน แต่ลุงเอี่ยมไม่ได้รู้สึกเครียด

           ทีมข่าวสอบถามไปยังพระครูปฐมธีรวัฒน์ ฐิตธัมโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ถึงกระแสข่าวที่อ้างว่าทางวัดเก็บค่าที่พักลุงเอี่ยม ได้รับคำยืนยันว่า วัดไร่ขิงจัดพื้นที่ในร้านค้าสวัสดิการของทางวัดไว้ให้ลุงเอี่ยมพักอาศัย 1 ล็อก โดยไม่ได้เก็บค่าเช่า แต่ลุงเอี่ยมได้ขอเช่าพื้นที่ร้านค้าสวัสดิการของวัด 1 ล็อก ซึ่งอยู่ติดกับล็อกที่ทางวัดให้ลุงเอี่ยมอยู่ฟรี โดยให้เหตุผลว่าจะมีีคนมาขายของ แต่ลุงเอี่ยมไม่ได้ระบุว่าเป็นใครมาจากไหน ทางวัดจึงต้องเก็บเงิน 1,200 บาท เพราะว่ามีการขายของจริง แต่จากที่มีกระแสแบบนี้ ส่วนตัวเชื่อว่ามีคนที่ได้ผลประโยชน์จากลุงเอี่ยม มีความพยายามสร้างกระแสในทางลบให้แก่วัด เพื่อต้องการให้ลุงเอี่ยมกลับมาขอทานในวัดได้อย่างเดิม เพราะถ้าลุงเอี่ยมเข้ามาขอทานก็มีรายได้จำนวนมาก

           “ตอนที่ลุงเอี่ยมยังขอทานในวัดอยู่ ก็มีคนมาขอเงินลุงเอี่ยมเป็นประจำ เมื่อรายได้ลุงเอี่ยมลดลง กลับไม่พบบุคคลเหล่านี้มาอีกเลย ทางวัดยืนยันว่า ลุงเอี่ยมไม่สามารถเข้ามานั่งขอทานได้แล้ว เพราะมี พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน ซึ่งหากยอมก็เท่ากับเป็นการสนับสนุน แต่ลุงเอี่ยมก็สามารถเข้าวัดทำบุญ แบบประชาชนทั่วไป” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง บอก

           สำหรับการเข้มงวดในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ขอทาน นั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะที่วัดไร่ขิงเพียงแห่งเดียวแต่มีการดำเนินการทั่วประเทศ ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ที่เห็นชอบ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน และได้ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการแก้ไขจัดระเบียบขอทาน ยกเลิกพ.ร.บ.ขอทาน พ.ศ.2484 โดยตั้งคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน พร้อมการระบุลักษณะผู้ที่เป็นขอทาน อาทิ การกระทำที่ให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินให้ โดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด การกระทำใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารโดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด รวมถึงไม่ให้มีการแสดงในที่สาธารณะ โดยขอรับทรัพย์สินตามผู้ฟังสมัครใจ ซึ่งการเล่นดนตรีในที่สาธารณะ ต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานในท้องถิ่นนั้นก่อน และกฎกระทรวงต้องมีการกำหนดพื้นที่ในการแสดงด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ยุยงส่งเสริม กระทำด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นขอทานหรือนำบุคคลอื่นเป็นประโยชน์ต่อการขอทานของตนด้วย

           ทั้งนี้ การเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาขอทานตาม พ.ร.บ.ควบคุมขอทานนั้นเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมามี เด็ก คนชรา ผู้พิการ และผู้ทุพพลภาพ จำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของเครือข่ายค้ามนุษย์ที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากคนเหล่านี้ ซึ่งไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างชาติที่ฉวยโอกาสความใจดีของคนไทยนำชาวต่างชาติเข้ามาขอทานในไทยด้วย และนับวันยิ่งทวีจำนวนมากขึ้น

           ปัจจุบันกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาขอทาน ซึ่งตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมากระทั่งถึงขณะนี้ พบว่า ขอทานคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็กมีปริมาณลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ขอทานที่เป็นชาวต่างชาติยังคงมีให้เห็นในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่เป็นขอทานรายเดิมที่เคยถูกผลักดันออกไปแล้วกลับเข้ามาอีก โดยเฉพาะที่มาเป็นคู่แม่-ลูกมีอัตราการซ้ำรายเดิมอยู่ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่มักกลับเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวตะเข็บชายแดนโดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชา ซึ่งจังหวัดที่ยังคงพบขอทานมากสุดคือกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดทางภาคกลาง