
ส่งลุงเอี่ยมพักร้านสวัสดิการรับจัดระเบียบขอทาน
ส่งลุงเอี่ยมพักร้านสวัสดิการรับจัดระเบียบขอทาน
วันที่ 14 มีนาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ยังคงมีผู้ใจบุญเดินทางมาทำบุญที่วัดอย่างต่อเนื่อง แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโดยรอบบริเวณของวัดไม่พบเห็นคนขอทาน แม้เพียงคนเดียว รวมถึงไม่พบ นายเอี่ยม คำภิรานนท์ หรือ ลุงเอี่ยม ขอทานใจบุญที่เป็นข่าวฮือฮา เมื่อ 4 ปีก่อน ที่นั่งขอทานอยู่ด้านหลังพระอุโบสถวัดไร่ขิง พระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม บริจาคเงินซื้อดอกบัวถวายหลวงพ่อวัดไร่ขิง ในงานประจำปี ปีละ 1-2 ล้านบาท เพื่อให้บูรณะซ่อมแซมวัดที่ทรุดโทรม
เมื่อทีมข่าวสอบถามผู้ค้าภายในวัด ได้ข้อมูลว่า ลุงเอี่ยมไม่ได้มานั่งขอทานในวัด นาน1 ปีแล้ว หลังจากที่มี พรบ.ควบคุมคนขอทาน แต่ได้ไปอาศัยอยู่ที่บริเวณร้านค้าสวัสดิการ ซึ่งอยู่ด้านหน้าวัดไร่ขิงแทน
ทีมข่าวจึงลงพื้นที่ต่อไปตามคำบอกเล่าของผู้ค้าภายในวัด จนพบเห็นลุงเอี่ยมนั่งรถเข็น อยู่บริเวณด้านหน้าร้านค้าสวัสดิการของวัด โดยมีสีหน้าสดใสร่าเริง พูดคุยกับคนที่มาเยี่ยมเยียนด้วยท่าทางที่ดีใจที่มีคนมาพบ
เมื่อสอบถาม นายสมพงส์ ทองเกิด ที่อยู่กับลุงเอี่ยมมา นาน10 ปี เปิดเผยว่า ลุงเอี่ยมไม่ได้นั่งขอทานในวัดนานแล้ว แต่ทางวัดก็อนุญาตให้ลุงเอี่ยมพักอาศัยในร้านค้าสวัสดิการของวัดแทน โดยใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยไม่ต้องมีค่าใข้จ่ายใดๆทั้งสิ้น พร้อมทั้งอนุญาตให้ลุงเอี่ยมเข้าออกวัดได้ตามปกติเวลามีวัดมีการจัดงาน เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ห้ามไม่ให้นั่งขอทาน หรือ เรี่ยไรเงินจากผู้ใจบุญเด็ดขาด ซึ่งลุงเอี่ยมก็รับรู้เรื่อง พรบ.ควบคุมคนขอทาน จึงไม่ทำให้ทางวัดเดือดร้อน โดยอาศัยสถานที่ที่ทางวัดจัดให้ แต่การที่ลุงเอี่ยมไม่ได้ขอทานก็ทำให้รายได้ของลุงเอี่ยมลดลง เนื่องจากคนที่เคยบริจาคเงินให้ลุงเอี่ยมไม่ทราบว่า ลุงเอี่ยมอยู่ที่ไหน จากเมื่อก่อนการมี พรบ. ควบคุมคนขอทาน ลุงเอี่ยมเคยนั่งขอทานและมีผู้ใจบุญบริจาคเงินตกอยู่ที่หลักหมื่นต่อวัน ขณะนี้ลดลงเหลือวันละไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งหากย้อนไปก่อนหน้ามี พรบ. ควบคุมคนขอทาน ลุงเอี่ยมสามารถนำเงินที่ได้จากการรับบริจาค ขั้นต่ำหลักหมื่น ก็จะเก็บเงินแบ่งใช้ ส่วหนึ่งนำไปทำบุญตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้านบาท เพราะลุงเอี่ยมคิดว่าเงินที่ทำบุญเป็นเงินขอทาน
นอกจากนี้นายสมพงษ์ ยังเปิดเผยว่า แม้จะไม่ได้เงินบริจาคจากผู้ใจบุญเหมือนแต่ก่อน แต่ลุงเอี่ยมก็ไม้ได้รู้สึกเครียดที่รายได้ลดลงแม้เงินที่ทำบุญจะลดลงตามไปด้วยก็ตาม แต่ยอมรับว่า บางครั้งที่มีวัดอื่น มาขอทำบุญ กฐิน ผ้าป่า รวมทั้งคนป่วย เมื่อรู้ว่าลุงเอี่ยมอยู่ที่ไหนก็ตามมาขอรับบริจาค ซึ่งลุงเอี่ยมก็ให้เงินบริจาคไม่ได้และติดใจอะไร
ด้านพระครูปฐมธีรวัฒน์ ฐิตธมโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระเเสข่าวว่าทางวัดมีการเก็บค่าที่่พักอาศัยในร้านค้าสวัสดิการกับลุงเอี่ยม โดยระบุว่า ทางวัดได้ให้ลุงเอี่ยมพักอาศัยอยู่ที่ร้านค้าสวัสดิการจำนวน 1 ล็อก โดยไม่ได้เก็บค่าเช่าตามที่เป็นกระเเส เเต่ลุงเอี่ยมได้ขอเช่าพื้นที่ร้านค้าสวัสดิการของวัดจำนวน 1 ล็อกอยู่ติดกับล็อคที่ทางวัดให้ลุงเอี่ยมอยู่ฟรี โดยให้เหตุผลว่าจะมีคนมาขายของ เเต่ลุงเอี่ยมไม่ได้ระบุว่าเป็นใครมาจากไหน ทางวัดจึงต้องเก็บเงิน 1,200 บาท เพราะว่ามีการขายของจริง เเต่จากที่มีกระเเสเเเเบบนี้ ส่วนตัวเชื่อว่ามีคนที่ได้ผลประโยชน์จากลุงเอี่ยม มีความพยามยามสร้างกระเเสในทางลบให้กับวัด เพื่อต้องการให้ลุงเอี่ยมกลับมาขอทานในวัดได้อย่างเดิม เพราะถ้าลุงเอี่ยมเข้ามาขอทานก็มีรายได้จำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ลุงเอี่ยมยังขอทานในวัดอยู่ ก็มีคนมาขอเงินลุงเอี่ยมเป็นประจำ เมื่อรายได้ลุงเอี่ยมลดลง กลับไม่พบบุคคลเหล่านี้มาอีกเลย ทางวัดยืนยันว่า ลุงเอี่ยมไม่สามารถเข้ามานั่งขอทานได้เเล้ว เพราะมี พรบ.ควบคุมคนขอทาน ซึ่งหากยอมก็เท่ากับเป็นการสนับสนุน เเต่ลุงเอี่ยมก็สามารถเข้ามาวัดทำบุญ เเบบประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตามทางวัดยืนยันว่า ไม่ได้ทิ้ง หรือ ปล่อยปละละเลย ลุงเอี่ยมเเต่อย่างใด เมื่อเวลาเจ็บป่วยทางวัดก็จะคอยประสานโรงพยาบาลให้เป็นประจำ
ขณะที่ลุงเอี่ยม ยอมรับว่า ไม่ได้ไปนั่งขอทานในวัด ก็ไม่ได้รู้สึกเครียด เพราะก็ยังมีผู้ใจบุญที่รู้ว่าตนมาอยู่ที่ร้านค้าสวัสดิการก็ตามมาบริจาคเงินให้ ถึงแม้ว่าเงินที่ได้จะลดน้อยลง ก็ไม่เป็นไร เพราะเงินที่ได้ตนก็นำไปทำบุญให้กับวัดไร่ขิง หรือวัดอื่นๆในจังหวัดนครปฐม อีกทั้งตนเป็นคนสมถะ มีเงินแค่ไว้ใช้ประทังชีวิตก็เพียงพอแล้วในชีวิตนี้ สุดท้ายนี้ลุงเอี่ยมยังฝากบอกให้ทุกคนเป็นคนดี ตั้งใจประกอบอาชีพสุจริตก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เหมือนกับที่ตนเป็นอยู่ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะมีแต่คนรักใคร่
สำหรับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2558 ที่เห็นชอบพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน ได้ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการแก้ไขจัดระเบียบขอทาน ยกเลิกพ.ร.บ.ขอทาน พ.ศ. 2484 โดยตั้งคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน พร้อมการระบุลักษณะผู้ที่เป็นขอทาน อาทิ การกระทำที่ให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินให้ โดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด การกระทำใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารโดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วย ทรัพย์สินใด รวมถึงไม่ให้มีการแสดงในที่สาธารณะ โดยขอรับทรัพย์สินตามผู้ฟังสมัครใจ ซึ่งการเล่นดนตรีในที่สาธารณะ ต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานในท้องถิ่นนั้นก่อน และกฎกระทรวงต้องมีการกำหนดพื้นที่ในการแสดงด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ยุยงส่งเสริม กระทำด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นขอทานหรือนำบุคคลอื่นเป็นประโยชน์ต่อการขอทาน ของตนด้วย