ข่าว

เพ็ญทิพย์ โปษยานนท์ส่งแบรนด์‘โซล’ตี(ความ)ขายตรง

เพ็ญทิพย์ โปษยานนท์ส่งแบรนด์‘โซล’ตี(ความ)ขายตรง

02 มี.ค. 2559

เพ็ญทิพย์ โปษยานนท์ส่งแบรนด์‘โซล’ตี(ความ)ขายตรง : คมคิดธุรกิจนิวเจน เรื่อง-ชาญยุทธ ปะวะขังภาพ-จุลดิศ อ่อนละมุน

             ภาพลักษณ์ที่ไม่สู้ดีนักของธุรกิจขายตรง ไม่เพียงทำให้คนทั่วไปมีทัศนคติติดลบ หากยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยคอยฉุดรั้งไม่ให้ธุรกิจเติบโตเท่าที่ควร ทั้งที่หากวิเคราะห์กันให้ถึงแก่นจะพบว่า เมื่อสินค้าดีมีคุณภาพไม่จำเป็นหรือต้องเสียค่าโฆษณาและการตลาด สู้นำเงินส่วนต่างไปจ่ายให้คนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในลักษณะ “วิน-วิน” คนซื้อได้ของ คนขายก็มีเงินงอก คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการใส่ข้อมูลดังกล่าว แต่ “ทิพย์” เพ็ญทิพย์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล คอร์ปอเรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่ลดละความพยายาม ทุ่มพละกำลังที่มีให้แก่การปลุกปั้นแบรนด์ “โซล” ขายตรงสายเลือดไทยผ่านสินค้าที่การันตีคุณภาพก่อนจะส่งไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ภายใต้เครือข่าย “ขายตรง” ที่กำลังรุกคืบอย่างมีเป้าหมาย

             5 ปีกับความพยายามวันนี้ไม่เสียเปล่า “ทิพย์” เพ็ญทิพย์ เล่าต้นตอกว่าจะมาเป็นหนึ่งในวงการขายตรงแบรนด์ไทย คุณพ่อ (พิเชษฐ์ พะลานุกูล) ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการอัญมณีและทองคำมานาน หลังจากก่อตั้งโรงงานทองคำ รวมถึงบริษัท บางกอก แอสเซส ออฟฟิศ จำกัด รับวิเคราะห์ ตรวจสอบทองคำ และโลหะมีค่า ก็มีลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก ช่วยเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้อีกนับหมื่นล้านบาทต่อปี กว่า 30 ปีที่ครอบครัวทำธุรกิจกับสิ่งไม่มีชีวิตแต่มีคุณค่ามาก ด้วยความที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ผู้เป็นพ่อสอนมาตลอดคือ การทำงานตรงนี้เป็นการทำบุญ ทำให้พนักงานมีเงินใช้จ่าย แล้วก็พัฒนาสิ่งไม่มีชีวิตให้เพิ่มมูลค่าขึ้นมา

             “อายุ 50 พ่อบอกว่าน่าจะอิ่มแล้ว จะเปลี่ยนจากการพัฒนาสิ่งไม่มีชีวิตมาพัฒนาสิ่งมีชีวิต นั่นคือมนุษย์ สนใจเรื่องออร์แกนิก จากนั้นก็เริ่มศึกษาลงลึกเรื่องทองคำและพลอย จนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกี่ยวกับนาโนซายน์ ย้อนกลับไปราว 6 ปี คนเริ่มพูดถึงนาโน เราเริ่มมีน้ำใสๆ ขวดหนึ่งใช้ รู้ว่ามันคือน้ำพลอย มีครีมสีขาวๆ มาทาแล้วรู้สึกหายปวดตัว ผ่อนคลาย ใช้แล้วดีจัง ค้นคว้าเยอะมาก เริ่มแจกจ่ายเพื่อนๆ คนรู้จัก ตอนนั้นยังไม่มียี่ห้อนะ เอาไปให้ผู้ใหญ่ก็ใส่กระปุกสวยหน่อย แจกพนักงาน มอบเป็นของขวัญปีใหม่ จุดตัดสินใจมาทำธุรกิจจริงๆ คือคุณพ่อป่วยหนักแล้วก็หาย ท่านบอกว่าสินค้าที่ป๊าทำมาแล้วใช้ๆ กันอยู่นี่ช่วยเอาไปทำอะไรกับมันหน่อยได้ไหม เขารู้ว่าถ้าเอาไปเผยแพร่มีคนใช้มากขึ้นเขาน่าจะแข็งแรงขึ้น เอาบุญสุขภาพให้เขาหน่อย  อย่างตัวเองตอนคลอดลูกถูกบล็อกหลังเดินไม่ได้ แต่เดินได้เพราะครีมนี้ แม่หายป่วย พี่หายจากไมเกรน โรคต่างๆ เราหายกันทั้งบ้านเลย เรามีความเชื่อแบบนั้น ช่วงวิกฤติเราคิดว่าพ่อจะไม่อยู่กับเราแล้ว พ่อขอเราก็เลยทำ จึงมาคิดว่า ถ้าจะทำอะไรกับมัน นี่คือจุดเปลี่ยน” นั่นคือต้นทางความคิดธุรกิจขายตรงของทิพย์

             จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ “โซล” ในภาษาสเปนที่แปลว่า “พระอาทิตย์” มีนักวิจัยภายใต้ เอสซีไอ เซ็นเตอร์ ที่มีความเข้าใจในการประยุกต์นาโนเทคโนโลยีกับการดูแลสุขภาพ และผิวพรรณ ได้คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้ศาสตร์ของนาโนเทคโนโลยีที่ผนวกเข้ากับศาสตร์แห่งพลังชีวิต หรือ “ซายน์ ออฟ ไลฟ์" โดยศาสตร์นี้ได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงธรรมชาติภายนอกและภายในร่างกาย "ทิพย์" ตัดสินใจนำสินค้าที่มีจุดขายมาแบรนดิ้ง เลือกทีมงาน เลือกรูปแบบการตลาด สุดท้ายลงเอยที่ระบบเครือข่าย หรือ “เอ็มแอลเอ็ม (Multi level Marketing)” ท่ามกลางคำถามร้อยแปดของใครๆ และคำตอบที่เธอให้ความกระจ่างคือ สินค้าดีมีคุณภาพสามารถพูดด้วยตัวเองได้ อธิบายง่ายๆ สินค้า 1 ชิ้น ใช่ว่าคนล้านคนใช้แล้วจะพูดเหมือนกันล้านครั้ง แต่ 1 ล้านคนใช้แล้วมี 1 ล้านเรื่องราวที่พูดไม่ซ้ำกัน นี่คือผลลัพธ์ที่ต่างกัน ซึ่งก็คือระบบเอ็มแอลเอ็มหรือการบอกต่อๆ กันไปนั่นเอง

             น่าสนใจว่า “โมเดลธุรกิจขายตรง” ในแบบของโซล เพ็ญทิพย์ บอกว่าคือการให้...หมายความว่า ราคาต้องไม่สูง เพราะมีโรงงานผลิตพลอยและทองคำส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ แผนธุรกิจง่ายๆ คือให้คนที่จะเข้ามาในธุรกิจเป็นคนมาคิดแผน แล้วให้อีกคนมาตรวจสอบว่าไปได้หรือไม่ ระบบการจ่ายเครือข่ายจะเดินหน้าอย่างไร ขณะที่สินค้าการันตีจากงานวิจัย มีทีมนักวิจัยคนไทยช่วยกันคิดช่วยกันทำ อย่างครีมกันแดดที่ผสมทองคำทำวิจัยนานถึง 7 ปี ทดสอบกันเป็นร้อยตัวอย่างกว่าจะลงตัว นี่คือสิ่งทำให้ภาคภูมิใจในความสามารถคนไทย

             “วางระบบอยู่ปีกว่าๆ ก่อนจะจดทะเบียนธุรกิจปี 2554 ตั้งไข่มาเรื่อยๆ ทุกวันนี้ถือว่าแข็งแรงกว่าปีแรกๆ บริหารจัดการให้ดีจริงๆ จะได้ไม่ต้องมาพะวงหลัง แต่จุดเริ่มต้นนี่ยากสุดๆ  เพราะการตัดสินใจเลือกขายตรงท่ามกลางบรรยากาศทัศนคติติดลบของคนทั่วไปถือเป็นความท้าทายมาก ช่างกล้าคิดนะ อยากจะบอกว่า ถ้าศึกษาดีๆ ขายตรงสวยงาม แผนจ่ายก็ดี แต่คนทั่วไปแค่พูดว่าขายตรงคนก็ร้องยี้ แต่เรามองมุมกลับ เพราะคิดว่ามันดี แล้วจะทำให้ดีให้ได้ ยากไหม ยากมาก ขายตรงทำงานกับคน จริงๆ ทุกธุรกิจคือเครือข่ายอยู่ที่ว่าใช้วิธีอะไร ทุกวันนี้ที่วงการนี้ดูเหมือนเละก็เพราะข่าวส่วนใหญ่ออกมาในมุมไม่ดี มองว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ มาแล้วเลิก มาแล้วไป” เจ้าของธุรกิจขายตรง ซึ่งศึกษาสายตรงมาทางด้านโฆษณาและการตลาดจาก ม.เกษมบัณฑิต ยืนยันแนวคิด

             มุมมองธุรกิจขายตรงในเมืองไทยที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ด้วยความที่มีทั้งเจ้าของคนไทยและต่างชาติ มูลค่าการตลาดจึงค่อนข้างสูง จึงมีการพยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่ง ทำให้เห็นช่องโหว่ นั่นคือการนำลูกเล่นของแผนธุรกิจมาเล่น เข้ามาแล้วได้เงินง่าย จะเป็นแผนแบบเส้นเดียว สองเส้น สามเส้น ก็ว่ากันไป นั่นเป็นวิธีการจ่าย แล้วก็มีกลุ่มคนที่มองเป็นอาชีพหลัก ขณะที่หลายคนคิดเพียงกอบโกยแล้วโบกมือลา พูดได้ว่า ทุกธุรกิจมีคนหลายประเภทอยู่ในอ่างเดียวกัน

             “ถ้าเราทำให้ดีจริงๆ มันย่อมไปได้ เพราะผู้บริโภคย่อมชอบใช้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ และได้รายได้กลับด้วย เป้าหมายของเราไม่ได้ลงมาทำแล้วโกยจนพอใจแล้วไป เราตั้งใจอยู่ยาวภายใต้สินค้าที่พูดได้ด้วยตัวมันเอง เราหนักแน่นมากพอ  แล้วเราเชื่อว่าแผนธุรกิจของเราย่อมจ่ายเพียงพอ ไม่เหมือนกับซิงเกิลยังไง รูปแบบการจ่ายไม่เหมือนกันเลย ฉะนั้นช่องทางของคนที่คิดจะมีรายได้กับสิ่งๆ นี้ย่อมมองเห็นโอกาสธุรกิจ แล้วก็เป็นโอกาสของการให้ ทิพย์ทำกุญแจนี้แล้วก็เปิดประตูให้เขา แล้วเราก็ยืนหยัดว่าสินค้าต้องดีเท่านั้นถึงจะอยู่ในโซล ก็สร้างเครือข่ายผู้บริโภคดีๆ ไปพร้อมกัน ประสบการณ์ 4-5 ปี เห็นชัดเลยว่ายอดซื้อสินค้าซ้ำๆ มีมาก ถ้าวางตามห้างราคา 100 บาท ห้างได้ค่าการตลาดเต็มๆ 40 บาท เราเอาส่วนนี้ไปให้คนใช้ดีกว่ามั้ย” นักธุรกิจสาววัย 38 ปี ผู้ปลุกปั้นแบรนด์โซลให้เริ่มเป็นที่รู้จักกล่าว พร้อมกับเปิดเผยว่า ชั่วโมงนี้กำลังเข็นสินค้าหลักๆ อยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องใช้ในบ้าน และคัลเลอร์ คอสเมติกส์ โดยกลุ่มที่เกี่ยวกับความงามกำลังมาแรงสุดๆ ภายใต้สมาชิกเครือข่ายร่วม 4 แสนรหัส ยอดขายพุ่งหลักร้อยล้านบาท

             แม้หนทางการส่งแบรนด์โซลไปยืนอย่างสง่าผ่าเผยในตลาดขายตรงจะค่อนข้างสดใส ทว่าเจ้าของขายตรงน้องใหม่ยอมรับว่า ทุกธุรกิจมีขึ้นมีลง โซลก็เช่นกัน 2 ปีแรกกราฟขึ้นตลอด แล้วก็มีร่วงลง มีจุดที่ฝันคือมีคนรักโซล อยู่กับโซลตั้งแต่วันแรก รักในคำว่า “ให้” ทำให้รู้สึกปลื้ม เหมือนน้ำที่รดทุกวัน ทำให้มีกำลังใจ ทุกวันนี้ตลาดของโซลคืือกลุ่มคนอายุ 25 ปีขึ้นไป ตลอดจนคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง ลูกค้าเดิมไปได้ดี ส่วนการเจาะฐานใหม่ก็ต้องสนใจออนไลน์ เพราะเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ออนไลน์ แต่ใช่ว่าจะลืมออฟไลน์ ต้องทำตีคู่กัน ถึงอย่างไรก็ยังมีคนอยากสอบถาม ต้อมมีคอลเซ็นเตอร์สำหรับพูดคุย การทำแบรนดิ้งให้ดีจึงสำคัญ นอกจากนี้ยังต้องทำมุมมองสินค้าที่ดีให้อยู่กับลูกค้า กลยุทธ์สำคัญคือทำอย่างไรให้ลูกค้าได้ทดลองใช้

             “ตลาดขายตรงแข่งกันดุเดือนเลือดพล่าน เราไม่เป็นคู่แข่งแต่เป็นเพื่อนร่วมธุรกิจมากกว่า เน้นการสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่มากกว่าไปแย่งชิงกับใคร ตามคอนเซ็ปต์สร้างแบรนด์ทำให้คนใช้ครั้งแรกเพื่อให้เกิดโปรดักส์เลิฟเว่อร์ ทิพย์เทรนเครือข่ายเอง สื่อสารให้เข้าใจ ให้ลองใช้เองด้วย พอเกิดผลลัพธ์แล้วค่อยไปเล่า ไม่จำเป็นต้องเอาศัพท์เทคนิคยากๆ ไปพูดทั้งหมด แค่เอาผลลัพธ์จากตัวคุณที่ใช้แล้วไปบอกต่อ เป้าหมายไม่ได้วางว่าต้องเป็นที่ 1 แต่ตั้งแต่เริ่มทำก็คิดว่าจะอยู่ชั่วลูกหลาน ส่วนจะขยายตลาดออกไปนอกประเทศมั้ย คงต้องทำให้บ้านเราเข้มแข็งก่อน แล้วค่อยเปิดตลาดเพื่อนบ้านใกล้ๆ ก่อนอย่าง ลาว พม่า แล้วค่อยไปตลาดไกลกว่านี้ อุปสรรคมีให้เห็นทุกรูปแบบธุรกิจนะ สำหรับเราไม่เคยมองเป็นปัญหา มองว่าเป็นวิถีที่ต้องเป็น แล้วก็ต้องแก้และก้าวข้ามไปให้ได้ โชคดีมากที่เรารู้จักปล่อยวางตามหลักพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา" ทิพย์ เผยแนวทางการทำธุรกิจโดยนำหลักธรรมะที่ตัวเองปฏิบัติอยู่ทุกวันมาปรับใช้

             ท้ายที่สุดในฐานะหน้าใหม่ในวงการขายตรง สาวนักคิดอยากให้คนทั่วไปตีความระบบเครือข่ายใหม่ เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ย่อมมีทั้งด้านบวกและลบ มองระบบให้ทะลุแล้วจะพบกับโอกาส เหมือนตัวเองที่ก่อนหน้านี้เคยมีมุมมองที่ไม่สู้ดีนักดีกับขายตรง พอมีโอกาสมาคลุกวงใน แม้จะไม่อาจล้มล้างความคิดได้ทั้งหมดแต่ก็เข้าใจมากขึ้น...