
วิกฤติแล้ง-น้ำเค็มรุก ปลาสลิดบางบ่อกำลังจะตาย
18 ก.พ. 2559
วิกฤติแล้ง-น้ำเค็มรุก ปลาสลิดบางบ่อกำลังจะตาย : โดย...นิธิศ นาเจริญ
ดูเหมือนว่าวิกฤติภัยแล้งปีนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ทุกภาคของประเทศได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสมาก ห้วย หนอง ลำคลอง แม่น้ำ หรือแม้แต่อ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ที่เคยมีน้ำหล่อเลี้ยงชาวไร่ชาวนา บัดนี้ได้แห้งขอด มองเห็นสันดอนอยู่แทบทุกที่
ปัญหาที่ว่านี้ นอกจากไม่เอื้อต่อการปลูกพืชแล้ว ยังส่งผลไปถึงภาคการประมง หรือการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างคาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน
จังหวัดสมุทรปราการ แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเลี้ยงปลาสลิดมากที่สุดของประเทศอีกแหล่งหนึ่ง ที่หลายคนรู้จักในนามปลาสลิดบางบ่อ ก็กำลังประสบปัญหาที่สืบเนื่องมาจากภัยแล้งด้วยเช่นกัน
ในอดีต อ.บางบ่อ แม้จะอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยของ จ.สมุทรปราการ แต่การเลี้ยงปลาสลิดน้ำจืดในบ่อดินก็ไม่เคยถูกรบกวนจากปัญหาความเค็มของน้ำทะเล หนำซ้ำปลาที่ส่งขายจากแหล่งนี้ยังมีรสชาติอร่อยถูกปากคนทั้งประเทศ
แต่เวลานี้พื้นที่เลี้ยงปลาสลิดบางบ่อกำลังถูกน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไปอย่างรวดเร็วและเริ่มมีค่าความเค็มสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะตลอดแนวคลองใหม่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ สภาพน้ำในคลองแห้งขอดตลอดแนว ถึงขั้นต้องนำเรือมาชิดไว้ขอบฝั่งเพราะไม่สามารถพายหาหอยปูปลาในคลองนี้ได้อีกแล้ว
“น้ำทะเลเริ่มหนุนสูงมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แล้วไหลเข้ามายังเขตพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงจนกลายเป็นปัญหาขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตรในพื้นที่ อ.บางบ่อ ซึ่งไหลเชื่อมมาจากปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงเข้าตามร่องน้ำสู่คลองใหม่ คลองน้ำจืดที่ชาวเกษตรผู้เลี้ยงปลาสลิด ต้องใช้สูบเข้าบ่อเลี้ยงปลาเป็นประจำ เพื่อให้มีระบบหมุนเวียนของน้ำในบ่อปลาของตนเอง แม้ว่าจะปิดกั้นจุดรับน้ำจืดของแต่ละบ่อเลี้ยงปลาจากคลองใหม่ ที่ตอนนี้ถูกน้ำเค็มเจือปนเกือบร้อยละ 80 แล้วแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะน้ำเค็มยังคงไหลซึมผ่านชั้นดินเข้าสู่บ่อเลี้ยงปลาได้ในที่สุด ชาวเกษตรกรได้แต่ทำใจเพราะไม่มีทางแก้ไขได้เลย”
บุญมา สุวรรณจินดา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดสืบทอดต่อจากพ่อมาเกือบ 10 ปี บอกว่า แม้บ่อปลาจะอยู่ห่างจากปากแม่น้ำบางปะกงกว่า 4 กิโลเมตร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้รอดพ้นจากปัญหาน้ำทะเลที่รุกหนักขึ้นเรื่อยๆ ได้
บุญมา บอกว่า น้ำทะเลที่ซึมเข้าบ่อทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้มีอาการแพ้น้ำเค็ม เป็นแผลตามตัว แคระแกร็น ปลาจำนวนไม่น้อยกำลังใกล้ตาย ทางแก้ทางเดียวคือต้องรีบจับปลาขายทันทีแม้จะยังโตไม่เต็มวัยภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
โดยปกติปลาสลิดจะโตเต็มวัยเมื่อครบ 10 เดือน ตัวจะใหญ่ เนื้อแน่น เป็นที่ต้องการของตลาดค้าปลา โดยปกติแล้วชาวเกษตรกรมักจับปลาให้หมดทั้งบ่อเพื่อจำหน่ายในเดือนมีนาคม แต่คราวนี้ บุญมา ต้องจำใจจับปลาที่เลี้ยงไว้เพียง 7 เดือน ขึ้นมาขาย เพราะน้ำเค็มไหลซึมเข้ามาในบ่อปลาเกือบเต็มพื้นที่ หากปล่อยไว้ปลาจะเริ่มเน่าและลอยตาย เพราะเคยมีบทเรียนราคาแพงจากปีที่แล้วที่ไม่ทันได้ตั้งตัว ปลาเน่าและลอยตายเต็มบ่อ ขาดทุนย่อยยับ
“เริ่มเดือนนี้จะรุนแรง จะมีน้ำทะเลหนุนเยอะและบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบกับปลาโดยตรง อย่างแรก ถ้าเค็มไม่มาก ปลาก็จะไม่กินอาหาร ถ้าเค็มมาก ปลาก็จะเริ่มเมือกแตก แล้วก็เป็นแผลดวงจุดแดงๆ ก่อนเป็นแผลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนลอยน้ำตายไป จากที่เคยได้เต็มๆ เป็นแสนก็จะเหลือแค่สามหมื่นบาท คือขาดทุนแน่นอนถ้าน้ำเค็มใหญ่มา จะรับน้ำเค็มโดยตรง ปีที่แล้วรอ 4 เดือนกว่าน้ำจืดจะมา ไม่ได้เลี้ยงปลาเลย ต้องนับหนึ่งใหม่ เดือนสิงหาคม ถึงได้ปล่อยปลาอีกครั้งแล้วมาเจอปีนี้อีก” บุญมา กล่าว
สมหมาย ภู่สวาท เกษตรกรที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงปลามากว่า 50 ปี ก่อนหน้านี้ทุกบ่อในพื้นที่กว่า 10 ไร่ของเขา เต็มไปด้วยปลาสลิดแต่ 3 ปีหลังมานี้ ทนต่อสภาพน้ำเค็มรุกเข้ามาไม่ไหวต้องหันไปเลี้ยงปลานิล ปลาช่อนและกุ้งขาว เพราะระยะเวลาการเลี้ยงสั้นกว่า หรือเพียงแค่ 3 เดือนก็โตเต็มวัยและจับขายได้หลายครั้ง ต่างจากการเลี้ยงปลาสลิด อีกทั้งยังต้องเลี่ยงช่วงเวลาที่น้ำทะเลรุกหนักในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
“ปีนี้แล้งหนัก ดูจากขอบบ่อน้ำก็เริ่มแห้งไปมากแล้ว ปกติน้ำจะเต็มเกือบล้นบ่อ หญ้าก็ขึ้นเยอะ สามารถนำหญ้ามาให้ปลาสลิด แต่ตอนนี้หญ้าแห้งมากให้ไม่ได้ ซ้ำน้ำเค็มก็ซึมมาทางดินมาบ่อเและก็อีกหลายๆ บ่อของเจ้าอื่น ต้องรีบวิดน้ำออก ทุกคนต้องคิดถึงเงินก่อน ไม่งั้นไม่มีเงินใช้หนี้แน่ๆ บางบ่อตายเหม็นเน่า ขาดทุน คิดเป็นเงินเสียหาย หลายแสน อย่างฉันเคยใส่ปลาช่อนตัวเล็กๆ ไว้ 300 กว่าโล หวังว่าจะได้ปลาตัวใหญ่ แต่น้ำเค็มมาพอวิดมาเหลือ 100 กว่าโล ที่จริงต้องได้ 300-400 กว่าโล ตอนนี้รอเวลาอย่างเดียวครบกำหนดที่เราจะวิด ได้มากได้น้อยก็ว่าไป เพราะน้ำมันเค็มไปแล้ว”
ที่ผ่านมามีความพยายามในการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจัดการปัญหานี้ เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเดือดร้อนอย่างหนัก หลายคนเกือบสิ้นเนื้อประดาตัว
ชุรีพร ทองวิจิตร เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเคยเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นมาช่วยแก้ปัญหาให้เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาตลอดเลียบคลองใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ
“แจ้งหน่วยงานไปแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครเข้ามาดู อบต.ก็มาดูแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถปิดท่อได้ มีใครรับรู้ว่าชาวบ้านเลี้ยงปลาได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มอย่างไรบ้าง ไม่มีหน่วยงานไหนบอกจะช่วยเยียวยา คำตอบกลับมาคือยังไม่มี เท่าที่มาดูคือยังทำอะไรไม่ได้ เคยคุยกับญาติๆ เพื่อนบ้านกันถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ต่อไปพวกเราจะทำอย่างไรกัน จะเลี้ยงครอบครัวกันอย่างไร เพราะเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว กลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว” ชุรีพร กล่าว
ระยะเวลา 2-3 ปีมานี้ตลาดค้าปลาสลิดเริ่มซบเซา สาเหตุเพราะน้ำทะเลรุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องทุกปีและยังหาวิธีแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาวะวิกฤติที่หน่วยงานรัฐและประชาชนต้องเตรียมรับมือ เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าภาวะภัยแล้งจะมีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานแค่ไหน
-----------------------
(วิกฤติแล้ง-น้ำเค็มรุก ปลาสลิดบางบ่อกำลังจะตาย : โดย...นิธิศ นาเจริญ)