
เสพติดเทคโนโลยีระวัง!สมาธิสั้นเทียม
02 ก.พ. 2559
ไลฟ์สไตล์ : เสพติดเทคโนโลยี ระวัง!สมาธิสั้นเทียม
อุปกรณ์เทคโนโลยี อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มากขึ้น จนทำให้เด็กบางรายมีพฤติกรรมก้าวร้าว ขาดสมาธิในการเรียน ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน และมีภาวะสมาธิสั้นเทียม เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าในเครือเอ็มบีเค กรุ๊ป จึงจัดเสวนาหัวข้อ ‘เลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตสมวัยในยุคดิจิทัล’ โดยมี ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “ปุ๊กกี้” สินีนารถ เองตระกูล ร่วมงาน พร้อมแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกให้แก่พ่อแม่ และผู้ปกครองที่มาร่วมกิจกรรม เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ฮีโร่ คอนเทสต์ 2016 บริเวณลานเอ็มบีเค อเวนิว ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เมื่อเร็วๆ นี้
ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมากเกินไป ส่งผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นเทียมได้ โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการคล้ายๆ กับโรคสมาธิสั้น สาเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ตามใจลูกมากเกินไป เด็กบางคนหมกมุ่นแต่เกม เวลาไปเรียนก็จะนึกถึงแต่เรื่องเกม จนขาดสมาธิในการเรียน บางคนถึงขั้นเอาแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนไปเล่นใต้โต๊ะเรียน
"หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจ และปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู เด็กก็จะมีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา เช่น วางระเบียบวินัยในการทำกิจวัตรประจำวัน หรือจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่ให้มีสิ่งเร้าเยอะ เช่น เมื่อกลับถึงบ้านห้ามเปิดโทรทัศน์ทันที เก็บของเล่นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อเด็กๆ จะได้ไม่วอกแวกหรือเล่นของเล่นก่อนทำการบ้าน ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองควรฝึกลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อเขาจะได้เชื่อฟัง แต่สำหรับเด็กที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังจนถึงขั้นอาละวาด พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องมีความหนักแน่น พอถึงจุดหนึ่งเขาจะเลิกอาละวาดไปเองเมื่อรู้ว่าวิธีการที่ทำไม่ได้ผลในการเรียกร้องความสนใจเหมือนเดิม” ผู้เชี่ยวชาญเผย
ทั้งนี้ ผศ.นพ.ณัทธร แนะนำเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ รวมถึงเกม และสื่อออนไลน์ได้รับการพัฒนาให้น่าดึงดูดใจ และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองควรสนใจว่าลูกใช้ประโยชน์หรือเล่นแอพพลิเคชั่นอะไรจากอุปกรณ์เหล่านี้บ้าง และควรมีเทคนิคในการควบคุมดูแลเด็กๆ ในยุคดิจิทัล ดังนี้ 1. กำหนดเวลาให้ชัดเจน 2.สอดส่อง...ดูแลคอยดูว่าสิ่งที่ลูกเล่นอยู่คืออะไร มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนกับวัยของเขา 3.ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ใช้สื่อเทคโนโลยี 4.เล่นได้...แต่ไม่ใช่เจ้าของ 5.เล่นอย่างสมดุล 6.เรียกร้องความสนใจจากเด็กติดเกม และ 7.พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี
ด้านคุณแม่คนสวย “ปุ๊กกี้” สินีนารถ กล่าวว่า เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ และเด็กสมัยนี้ก็เติบโตอยู่ในยุคดิจิทัล จึงต้องเปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้ดูและเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีบ้าง แต่ต้องรู้จักการจำกัดเวลาและหากิจกรรมอย่างอื่นที่หลากหลายให้เขาทำควบคู่กันไป สำหรับลูกที่สนใจเล่นเกม พ่อแม่ต้องคอยดูว่าเกมนั้นเหมาะกับเด็กอายุเท่าไร โดยส่วนตัวจะเคร่งครัดกับเรื่องนี้มาก ถ้าเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสม จะไม่ให้ลูกๆ เล่นเลย พร้อมกับอธิบายว่าเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะอนุญาตให้เล่นได้ การดูแลลูกในยุคนี้ คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องให้ความรัก ความเอาใจใส่ ปูพื้นฐานที่ดีให้แก่ลูก และต้องตามให้ทันทั้งลูกและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี