
ชูอาร์แอนด์ดีสูตรสำเร็จของธุรกิจ
25 ม.ค. 2559
คมคิดธุรกิจนิวเจน : สร้างจุดแข็งแตกต่างแบรนด์ใหญ่ ชู อาร์แอนด์ดี สูตรสำเร็จของธุรกิจ : เรื่อง ทัศน์วิมน สิงหะไชย /ภาพ รชานนท์ อินทรักษา
สูตรสำเร็จของการทำธุรกิจ ควรเริ่มต้นทำจากสิ่งเล็กๆ ขึ้นมาก่อน พร้อมสร้างจุดแข็งให้แตกต่างจากแบรนด์ใหญ่ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์โดนใจลูกค้าได้ เชื่อว่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง และทำให้สินค้าของตัวเอง มีความโดดเด่นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจคอสเมติก
บริษัท สยามเนเชอรัลโปรดักซ์ จำกัด ผู้บุกเบิกธุรกิจเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ สโนว์เกิร์ล เนเจอร์ริช และมิสโซว์ ฯลฯ สามารถสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองได้เป็นผลสำเร็จเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาสินค้าโอท็อปจนสามารถก้าวขึ้นมาสู่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้เป็นผลสำเร็จ โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) นำไปสู่การสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรม ให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพแตกต่างจากคู่แข่ง ด้วยยอดขายหลายร้อยล้านบาทต่อปี
ดร.ธนธรรศ สนธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด หรือ ดร.โอเล่ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ซึ่งได้อาศัยความรู้และประสบการณ์จากการได้ร่ำเรียนมาทางด้าน food science มาโดยตรง และประสบการณ์จากการทำงานบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางมาก่อน โดยนำมาปรับใช้เป็นพื้นฐานความรู้ก่อนที่จะหันมาบุกเบิกสร้างแบรนด์สร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของตนเองออกมาจำหน่าย
“ตอนนั้นเป็นพนักงานบริษัท ช่วงที่เรียนปริญญาโทไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่น เพราะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ซึ่งในช่วงเปิดเทอมต้องไปทำงานที่มหาชัย เป็นพนักงานโรงงานอาหารกระป๋องเพื่อจะเก็บเงินมาเรียนปริญญาโท ระหว่างเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องทำงานกะกลางคืนตั้งแต่ห้าโมงเย็นจนถึงตีสี่ครึ่ง พอตีห้าก็นั่งรถจากมหาชัยมาเรียนที่จุฬาฯ เรียนทั้งวัน แล้วตกเย็นก็กลับไปมหาชัยอีกครั้ง ทำแบบนี้เป็นเวลา 4 เดือนกว่าเกือบ 5 เดือน ช่วงที่เราทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยก็มีเงินมาจ่ายค่าเทอม”
แต่หลังจากสุขภาพร่างกายเริ่มไม่ไหวก็ลาออกจากงานไปเป็นครูสอนพิเศษ สอนวิชาคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียนในระดับประถม และมัธยม ต่อมาหลังจากจบปริญญาโทก็เริ่มทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ซึ่งทำเกี่ยวกับอาหารเสริม เครื่องสำอาง ถือเป็นงานใหม่ที่ท้าทายเพราะหน้าที่ของการวิจัยและพัฒนา (R&D) จะต้องทำสินค้าใหม่ให้ได้ ขณะเดียวกันยังมีการส่งผลงานเข้าประกวดสินค้าไปด้วยในหลายๆ เวที อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ถึง 11 รางวัล 4 ปีซ้อน, สถาบันผลผลิตแห่งชาติ 2 รางวัล ซึ่งเป็นข้าวเคลือบสมุนไพร และสบู่จากน้ำมันรำข้าวดิบ
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาได้รับรางวัลสเต็มเซลส์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ จากมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวจากกิโลกรัมละ 90 บาท สามารถนำมาทำเป็นสเต็มเซลส์ได้ถึง 9 ลิตรกว่า คิดเป็นมูลค่า 2 แสนกว่าบาท ซึ่งสร้างมูลค่าได้พันกว่าเท่า และหากนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเชื่อว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายเท่าตัว ทั้งนี้ ตามปกติประเทศไทยซื้อสารสกัดพวกสเต็มเซลส์จากต่างประเทศลิตรละประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ซึ่งในปีนี้จะใช้งบในการทำ R&D ประมาณ 10%
ดร.โอเล่ บอกว่า ในช่วงแรกของการลงมือทำธุรกิจเริ่มลงทุนจากเงินเดือนในหลักหมื่นกว่าบาทก่อน โดยเริ่มจากตลาดเล็กๆ ที่เรียกว่า เทคนิคแบบไฟ ผลิตสินค้าน้อยๆ แต่ทำให้คนที่อยู่รอบข้างเข้ามาเป็นแฟนคลับให้ได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าพูดถึงสินค้าในแง่ดี ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมทางการตลาดใดๆ ก็ตาม ซึ่งถ้าให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เป็นแฟนคลับจริงๆ เชื่อว่าแฟนคลับจะเป็นตัวแทนในการบอกเล่าความประทับใจเหมือนเป็นการสร้างแบรนด์ตั้งแต่แรก ดังนั้น เอสเอ็มอีที่เริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรกอย่างกลุ่มสตาร์ทอัพจำเป็นต้องหาตลาดเป้าหมายหรือกลุ่มแฟนคลับให้เจอเสียก่อน
“การหากลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มแฟนคลับอย่าทำแบบหว่าน เพราะถ้าทุกคนทำหว่านไม่มีทางเกิด ต้องหากลุ่มที่เป็นเป้าหมายให้เจอ และเมื่อเจอกลุ่มนั้นก็จับให้แน่นให้มั่นศึกษาไลฟ์สไตล์ให้ได้ 24 ชม. ว่าเขาทำอะไรและจะไปอยู่ในชีวิตเขาได้อย่างไร หาสินค้าที่ตอบโจทย์ได้ ขณะเดียวกันต้องหาจุดที่ต่างและตอบโจทย์เฉพาะจุดให้ตรง ซึ่งจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราต่างจากแบรนด์ใหญ่ และจุดขายเราก็จะโดดเด่นอย่างชัดเจนด้วย และเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นก็สามารถขยายการลงทุนได้”
ส่วนปัญหาและอุปสรรคการทำธุรกิจ ดร.โอเล่ บอกว่า มีเรื่องให้แก้ทุกวัน แต่ก็พร้อมจะเผชิญกับปัญหาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นทำให้โรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายได้ เพราะพื้นที่โดยรอบถูกน้ำท่วม โดนตัดขาดจากโลกภายนอก ดังนั้น ได้ใช้พันธมิตรผลิตสินค้าให้แทน โดยส่งวัตถุดิบ แพ็กเกจจิ้งไปให้พันธมิตรทำให้สินค้าของบริษัทสามารถส่งเซเว่นฯ ได้ทันตามกำหนด แล้วสามารถขยายไลน์สินค้าได้มากขึ้นด้วย พร้อมทั้งได้เปลี่ยนระบบการตลาดมาใช้เป็นพรีเซ็นเตอร์ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น
“น้ำท่วมใหญ่คราวนั้นได้เปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส คนอื่นส่งสินค้าเข้าเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ได้ แต่เราสามารถพลิกเป็นโอกาสได้ เนื่องจากตัวโรงงานไม่ได้ท่วม แต่ว่าพนักงานน้ำท่วมบ้านหมด เพราะอยู่อยุธยาเป็นเกาะอยู่ตรงกลาง เราให้พนักงานมาพักที่โรงงาน ส่วนของก็เอาเข้าไม่ได้ เอาออกมาไม่ได้ โดนตัดขาดจากโลกภายนอก แต่สิ่งที่เราทำได้คือมีเพื่อนเยอะ เป็นเจ้าของโรงงานต่างๆ ที่เขามีออเดอร์ เราจึงส่งวัตถุดิบ และแพ็กเกจจิ้งไปให้เขาทำ จึงทำให้สามารถส่งสินค้าให้เซเว่นฯ ได้ทันตามกำหนดแล้วก็ขยายไลน์สินค้าได้มากขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของบริษัทที่เป็น R&D มาก่อน เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ ดังนั้น นวัตกรรมจึงมีความจำเป็นสำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งนอกจะช่วยสร้างสินค้าให้มีความแปลกใหม่ โดดเด่นไม่ซ้ำใครแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าตัว
ดร.โอเล่ บอกว่า สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมเติบโต 20% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขายรวม 140 ล้านบาท โดยจะเน้นเจาะตลาดชายแดนมากขึ้น และทำสินค้าให้มีขนาดซองเล็กลงเหมาะสมกับตลาดดังกล่าว โดยเฉพาะเครื่องสำอางกลุ่มสินค้าแฟชั่น และยังการมุ่งเน้นตลาดฮาลาล ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มออกบูธ และมีกลุ่มลูกค้าฮาลาลเพิ่มขึ้นแถวจังหวัดภาคใต้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ได้รับการตอบรับดีส่วนใหญ่ยังเป็นสกินแคร์ที่เกี่ยวกับผิวหน้า รวมทั้งยังมีแผนรุกประเทศมุสลิมอื่นๆ ด้วย ส่วนกลุ่มตลาดชายแดนยอดขายดีขึ้นเป็นลำดับ โดยใช้กลยุทธ์โปรโมชั่นซื้อ 6 แถม 1 ในกล่องราคาไม่สูงมาก
ส่วนในปี 2558 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 140 ล้านบาท โดยเตรียมจะเปิดช็อปต้นแบบประมาณกลางปีนี้ ในห้างสรรพสินค้า คาดว่าจะใช้งบในการทำการตลาดปีนี้ 10 กว่าล้านบาท เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้ามากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ทำการตลาดร่วมกับคู่ค้าพบว่า สินค้าเอสเอ็มอีไทยในกลุ่มเครื่องสำอางแฟชั่นในร้านสะดวกซื้อเติบโตสูง 20% ทำให้เห็นว่าตัวเลขไม่ได้โตเกินจริง ดังนั้น หากมีช็อปอื่นตั้งขึ้นมาเป็นสแตนอโลนก็มีโอกาสที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นช็อปที่รวมแบรนด์เกี่ยวกับแฟชั่นของไทย มีทั้งแบรนด์ไทยดีไซน์เกาหลี หรือแบรนด์ไทยดีไซน์ญี่ปุ่น เป็นต้น ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายหลักยังขายสินค้าผ่านร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น 60-70% ส่วนที่เหลือเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านค้าทั่วไป ขณะที่สัดส่วนรายได้หลักยังมาจากสกินแคร์เป็นหลัก 80% แฮร์แคร์ 10% และเมกอัพ 10%
“ตลาดเครื่องสำอางยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งผู้บริโภคหันมาใช้สกินแคร์ หรือผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้น แม้เขาจะยอมจ่ายมากขึ้น แต่ความยากอยู่ที่เขาจะไม่จ่ายอะไรง่ายๆ นอกจากหาข้อมูลมาก่อนเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นๆ ของคู่แข่ง จึงเป็นโอกาสดีจะทำให้เอสเอ็มอีพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพดีและมีมาตรฐานมากกว่าที่จะโฆษณาด้วยคำลวง เพราะหากสินค้าแบรนด์ใหญ่ที่โฆษณาไม่จริงมันจะเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าแบรนด์เล็กๆ คุณภาพดี ดังนั้น ความปลอดภัยต้องมาก่อนอันดับแรก ตัวยาวิตามินต้องถึงเห็นผล สุดท้ายไม่ใช่ขายแบบด้วยวิธีเดิมๆ แต่ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยให้เกิดประโยชน์”
ดร.ธนธรรศ บอกว่า ปัจจุบันบริษัทสยามเนเชอรัลโปรดักซ์ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 20 ล้านบาท และบริษัทมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็ม เอ ไอ โดยได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 20 ล้านบาท และอยู่ระหว่างหาที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเชื่อว่าการเข้าตลาดหุ้นจะทำให้บริษัทมีศักยภาพในการขยายตลาด และพัฒนาวิจัยสร้างนวัตกรรมได้มากขึ้น
“การทำวัตถุดิบของคอสเมติกมีน้อยมาก เราต้องซื้อเกือบทั้งหมดยกเว้นน้ำ เครื่องสำอางส่วนใหญ่ 70-80% เป็นน้ำ ถ้ามีการทำวัตถุดิบต่างๆ ของเราเองในประเทศไทยให้ธุรกิจคอสเมติกแข็งแรงขึ้นเหมือนกับเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสที่เขามีวัตถุดิบในการผลิตของเขา ซึ่งของไทยเรามีน้ำมันพืช สารแวกซ์ต่างๆ แต่เราไม่ได้เอามาทำเราส่งวัตถุดิบไปขายให้ต่างประเทศ แล้วเขาก็แปรรูปกลับมาให้เราขายต่ออีกที”
ปัจจุบัน ดร.โอเล่ ยังสวมบทบาทการเป็นผู้ประสานงานคลัสเตอร์ (Cluster Development Agent) หรือ CDA ของกลุ่มคอสเมติก ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีหน้าที่พัฒนาธุรกิจเครื่องสำอางให้เติบโตขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือของ กสอ. ซึ่งในปีที่ผ่านมา คลัสเตอร์เครื่องสำอางได้นำสินค้าของกลุ่มประมาณ 25 บริษัทไปจัดโรดโชว์ที่ฮ่องกง ในงานเครื่องสำอางระดับโลก ทั้งนี้ คลัสเตอร์เครื่องสำอางจัดตั้งมาแค่เพียงปีเดียว แต่สามารถนำสินค้าไทยไปโรดโชว์งานโลกที่ฮ่องกงได้และมีการเชื่อมโยงคอสเมติกวัลเลย์ ฝรั่งเศสที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 2,000 กว่าบริษัทอยู่ในหุบเขาเครื่องสำอาง
นอกจากนี้ กลุ่มคลัสเตอร์คอสเมติกยังมีการเชื่อมโยงกับเจแปนคอสเมติกเซ็นเตอร์ จะเป็นการรวมเครื่องสำอางเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการถ่ายทอดโนวฮาว และแลกเปลี่ยนวัตถุดิบระหว่างกันด้วย ซึ่งทางญี่ปุ่นมีความต้องการวัตถุดิบของไทย ขณะที่ไทยก็ส่งวัตถุดิบที่ต้องการไปให้เขา เป็นการช่วยเหลือหรือความร่วมมือในระดับองค์กรดูแลเอสเอ็มอี โดยในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 จะมีการจัดประกวดประกาศผลงานไทยแลนด์ คอสเมติก คอนเทสต์ แบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับนักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการ อาจารย์และนักวิชาการอิสระ
เริ่มจากตลาดเล็กๆ ทำงานอย่างมีความสุข
ดร.ธนธรรศ สนธีระ หรือ โอเล่ จบปริญญาโทด้านเทคโนโลยีทางอาหารและวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง และล่าสุดยังคว้าปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจสาขาการตลาด ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอางอย่างเต็มตัวด้วยความสนใจ พร้อมทั้งนำความรู้มาผสมผสานกับประสบการณ์ทำงานด้านพัฒนา R&D มาผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโอท็อปที่ยกระดับการผลิตมาสู่เอสเอ็มอีได้สำเร็จสร้างมาตรฐานให้แก่สินค้าประเภทเครื่องสำอางในกลุ่มดูแลผิวพรรณ (Skin Care) ที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติเป็นหลัก ภายใต้แบรนด์ “เนเจอร์ริช” เป็นแบรนด์แรกๆ
พร้อมทั้งเปิดตลาดผ่านนิตยสารเซเว่นฯ แค็ตตาล็อกในปี 2545 โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายสาวโรงงานและแม่บ้าน จุดเด่นของผลิตภัณฑ์จะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติล้วนๆ มาพัฒนาสินค้าที่มีความปลอดภัย เช่น ครีมกระเจี๊ยบแดง แชมพูมะกรูด สบู่ขิง ซึ่งเป็นวัตถุดิบปลูกในท้องถิ่นที่เป็นส่วนผสมเข้มข้นถึง 50% ต่อมาได้พัฒนาแบรนด์ “สโนว์เกิร์ล” เจาะกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี ซึ่งมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตที่ทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น และแบรนด์ “มิสโซว์” เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่ชอบแนวเกาหลี โดยสินค้าของบริษัทจะวางจำหน่ายอยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและทเวนตี้โฟร์ช็อปปิ้งกว่า 10 รายการจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มีกว่าร้อยชนิด รวมทั้งยังส่งออกไปต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว เวียดนามและจีนด้วย
ดร.โอเล่ บอกว่า หลักแนวคิดการทำธุรกิจของเขาจะยึดเรื่องการทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งความสุขคือความเมตตากรุณาเพราะฉะนั้นปณิธานการตั้งออฟฟิศ หรือการทำงานทุกอย่างต้องการให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องใช้สินค้าอย่างมีความสุขด้วย แม้กระทั่งคนที่อยู่บริเวณรอบข้างสถานที่ผลิตจะต้องได้รับการดูแล ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นได้จะทำให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข
“ผมนับถือคำสอนขององค์ทะไล ลามะ ซึ่งมีคำสอนหนึ่งคือความสุขคือความเมตตากรุณาเพราะฉะนั้นปณิธานการตั้งออฟฟิศของเรา หรือการทำงานทุกอย่างเราต้องการให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ให้ผู้บริโภคใช้สินค้าอย่างมีความสุข เราต้องดูแลซึ่งกันและกัน คนที่อยู่บริเวณรอบข้างสถานที่ผลิตเราก็ต้องได้รับการดูแล จะทำให้เราอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข มีการเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เราไม่ได้มีความสุขว่าทำแล้วต้องได้เงินเยอะๆ”
ทุกวันนี้ ดร.โอเล่ จะรับเป็นวิทยากร และสอนหนังสือฟรีให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล อบรมให้แก่ผู้ประกอบการโอท็อปทั่วประเทศ และล่าสุดได้ร่วมกับกรมวิทย์บริการไปให้ความรู้เรื่องการตลาดแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเขาบอกว่าแต่เดิมเป็นนักวิทยาศาสตร์มาก่อน ทำให้รู้เทคนิคด้านการผลิต เรื่องสูตรต่างๆ เป็นอย่างดี แต่ด้านการตลาดเป็นเรื่องที่เขามาเรียนรู้เพิ่มเติมในภายหลังองมาเรียนเพิ่ม และเพิ่งเรียนจบมาร์เก็ตติ้งด้านปริญญาเอกกับ ดร.เสรี วงษ์มณฑา เมื่อปลายปีก่อน และภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เตรียมที่จะออกหนังสือ “รวยได้หลายเหตุ”
ดร.โอเล่ บอกว่า จะเป็นตำราที่เขียนขึ้นบอกเรื่องราวการทำธุรกิจตั้งแต่ศูนย์จนถึงขายเป็นหลักร้อยล้านบาทว่าทำอย่างไร ตลอดจนเทคนิคัลเรื่องฮาว-ทูที่จะขายกับเซเว่นฯด้วย จะต้องเตรียมรับมืออย่างไรเป็นการกลั่นกรองในการทำงานของชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่คิดจะทำการตลาดค้าขายกับร้านสะดวกซื้อ อาทิ นำเสนอสินค้าแบบไหนถึงจะผ่าน หลังจากนั้นจะทำการตลาดอย่างไรให้คนมาซื้อสินค้า เมื่อสินค้าคืนกลับมา เพราะเซเว่นฯ ไม่ได้ซื้อขาดจะมีตลาดที่สองรองรับอย่างไรจะบอกกลยุทธ์ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้