ข่าว

รัฐธรรมนูญ'มีชัย'เข้าทาง? สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย-ฟื้นรัฐราชการ

รัฐธรรมนูญ'มีชัย'เข้าทาง? สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย-ฟื้นรัฐราชการ

24 ม.ค. 2559

คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : รัฐธรรมนูญ 'มีชัย' เข้าทาง..? สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย-ฟื้นรัฐราชการ : โดย...ขนิษฐา เทพจร

 
                      แม้ว่าตอนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น ที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” จัดทำ จะยังไม่ปรากฏรายละเอียดเป็นรายมาตราทั้งฉบับต่อสายตาสาธารณะ
 
                      แต่จากเนื้อหารายประเด็นที่ “กรธ.” เผยแพร่หลังการพิจารณาร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตรา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบหลายประเด็นที่เป็นมาตรการใหม่ โดยเฉพาะการขจัดปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่นของผู้ใช้อำนาจ และนักการเมืองขั้นสูงสุด
 
                      ซึ่ง “ซือแป๋มีชัย” ได้ยอมรับกับเนื้อหาปราบโกง และให้คำจำกัดความเป็นรัฐธรรมนูญฉบับป้องกันทุจริต
 
                      เมื่อตรวจทานจากบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่เป็นทางการ พบมาตรการการควบคุม กำกับ และตรวจสอบการใช้อำนาจการบริหาร ผ่านตัวอักษรของร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงเพิ่มบทบาทขององค์กรอิสระให้ตรวจสอบและเสนอแนะฝ่ายรัฐบาล เพื่อถ่วงดุลฝ่ายการเมืองที่ชอบอ้างเสียงข้างมากและใช้อำนาจสร้างกำไรให้ตัวเองมากกว่าการสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ
 
                      เมื่อพิจารณาอย่างเรียงลำดับ ถือว่าเป็นมาตรการสกัดคนโกงแบบบูรณาการ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
 
                      ในมาตรการต้นน้ำ ที่มุ่งป้องกันคนไม่ดี ให้เข้าสู่อำนาจทางการเมือง สะท้อนอยู่ในร่างมาตราว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง ในที่นี้ “กรธ.” ใช้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นฐานคัดกรองบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ
 
                      สำหรับลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นั้น ถูกเขียนไว้ทั้งสิ้น 18 กรณี และเพิ่มประเด็นที่เข้มงวดมากขึ้น เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ที่ต้องโทษ ถูกคำพิพากษา ฐานกระทำทุจริตต่อการเลือกตั้ง ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เคยทำทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดฐานะผู้ส่งออก นำเข้า และขยายรวมถึงการกระทำผิดฐานฟอกเงิน หรือค้ามนุษย์ด้วย
 
                      มาตรการกลางน้ำคือ กลไกที่ใช้กำกับการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อไม่ให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจที่ฉ้อฉลจนสร้างความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน โดยร่างรัฐธรรมนูญวางหลักการให้นักการเมืองในตำแหน่งทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต พร้อมกำหนดแผนพิฆาตคนชอบโกง ด้วยการลงโทษให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อพบพฤติกรรมทุจริต โดยเฉพาะทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน
 
                      แม้ประเด็นนี้ยังไม่เห็นบทบัญญัติทั้งหมด แต่ “ประธาน กรธ.” พูดไว้ชัดเจนว่า หากมีประเด็นที่พบการร่วมมือทุจริตแบบเป็นองคาพยพ เช่น การจัดสรรงบประมาณให้ ส.ส.นำไปใช้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ร่วมมือกันระหว่าง ส.ส. ส.ว. สำนักงบประมาณ กระทรวง ทบวง กรม และ ครม. ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดบทแซงชั่นว่า ต่อไปนี้หากใครทำต้องพ้นจากหน้าที่ หากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติงบประมาณในลักษณะดังกล่าว ต้องพ้นไปทั้งสภา, หาก ครม.อนุมัติโครงการลักษณะดังกล่าว ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เป็นต้น แม้ประเด็นนี้จะทำให้รัฐบาลบริหารงานลำบาก แต่ต้องยอมเพื่อไม่ให้รัฐบาลคิดทุจริต
 
                      นอกจากนั้นยังกำหนดกรอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดหน้า ที่นอกจากต้องยึดรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาแล้ว ต้องปฏิบัติใน 5 เงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1.ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผยและมีความระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม 2.ใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด 3.ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 4.สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก และ 5.คุ้มครองป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงกิจการภายในของชาติ
 
 
รัฐธรรมนูญ\'มีชัย\'เข้าทาง? สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย-ฟื้นรัฐราชการ
 
 
                      นอกจากนี้ เพื่อความรอบคอบอย่างที่สุด “กรธ.” ได้วางหลักการให้ ครม.ทั้งคณะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งการทำนโยบายและการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อไม่ให้ใครใช้ข้ออ้างว่าไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงาน ปัดความรับผิดแห่งนโยบายที่สร้างผลกระทบหรือความเสียหายแก่ประเทศและสังคม
 
                      ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมีบทบัญญัติเพื่อปรับบทบาทองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น คือ องค์กรอิสระที่มีอำนาจตามบทบาทสามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมพิจารณาได้ โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน ขณะเดียวกันยังเพิ่มมาตรการสอดส่อง และกำกับงานของรัฐบาล ให้แก่ 3 องค์กรอิสระ คือ
 
                      คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง-ดูนโยบายของพรรคการเมือง, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ฐานะหน่วยงานที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฐานะผู้ตรวจสอบทุจริตทุกระดับ ร่วมหารือเพื่อวิเคราะห์และมองรอบด้านถึงการกระทำ หรือนโยบายของรัฐบาลที่ส่อว่าจะสร้างความเสียหาย หากพบความสุ่มเสี่ยงหรือส่อว่าจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศระยะยาว สามารถส่งคำตักเตือนไปยังรัฐบาลให้ทราบ โดยไม่มีผลในทางบังคับให้ทำตาม
 
                      สำหรับความมุ่งหมายของประเด็นนี้ “กรธ.” ย้ำว่า แค่ตักเตือนเพื่อระงับความเสียหายเท่านั้น ไม่ใช่เพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระเข้าไปแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ประเด็นนี้ถูกตั้งข้อสงสัยจากบรรดาฝ่ายการเมืองถึงการสร้างมาตรการล้วงลูกที่ให้อภิสิทธิ์แก่ผู้จ้องทำลายรัฐบาลในอนาคตได้
 
                      ขณะที่การถ่วงดุลในสภาผู้แทนราษฎรได้ให้สิทธิ “ฝ่ายค้านในสภา” ขอเปิดประชุมสภา เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานไปยังรัฐบาลได้ จากเดิมที่ให้สิทธิเฉพาะคณะรัฐมนตรีขอสภาเปิดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของส.ส. นอกจากนั้นยังมีมาตรการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ หากพบว่าการกระทำใดของ “ครม.” ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขัดหลักนิติธรรม หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ด้วยการให้สิทธิยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด หรือศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย หรืออีกนัยหนึ่งคือ มอบอำนาจการกำกับรัฐบาลให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นทางผ่าน
 
                      ส่วนมาตรการปลายน้ำ คือ บทบัญญัติที่ตัดสิทธิการเมืองตลอดไป หรือ ชั่วชีวิตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กระทำทุจริตทุกกรณี ซึ่งมาตรการนี้ “กรธ.” หวังเป็นยาแรง ที่สร้างความหวาดกลัวกระทำผิดของผู้มีอำนาจ
 
                      นอกจากนั้นในร่างบทบัญญัติยังมีมาตรการที่เป็นกลไกซึ่งแก้ปัญหาทางการเมืองรอบที่ผ่านมา อาทิ ปัญหาเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา และใช้อภิสิทธิ์ของ ส.ส.เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือนายทุน “กรธ.” มีมาตรการและกลไกที่วางหลักการเพื่อให้ ส.ส.ได้ทำหน้าที่โดยอิสระ และปราศจากการครอบงำของนายทุนพรรคการเมือง โดยสำคัญคือ การสร้างระบบเลือกตั้งส.ส.ที่เป็นไปตามคะแนนนิยมแท้จริง คือ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรลงคะแนนเพียงใบเดียว เพื่อหาตัว ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 
 
                      ตามหลักการที่ “กรธ.” อธิบายไว้ เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น เพื่อเป็นมาตรการทางอ้อมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้ดุลพินิจเลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็น ส.ส. ขณะเดียวกันเป็นมาตรการทางตรงให้พรรคการเมืองเลือกสรรตัวแทนที่ดีที่สุดลงเลือกตั้ง แต่แม้จะสามารถอธิบายความในข้อดี แต่ยังพบในข้อเสีย ที่ระดับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ออกปากเองว่า “หากปล่อยให้โกงกันได้ ระบบเลือกตั้งใหม่ก็พังไม่เป็นท่าได้”
 
                      ดังนั้นในร่างรัฐธรรมนูญจึงถูกวางหลักปราบและลงโทษคนโกงไว้ แต่เนื้อหายังไม่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการ
 
                      ส่วนอนาคตทางการเมืองที่ถูก “นักการเมือง-นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์” วิเคราะห์หลังจากเห็นสาระร่างรัฐธรรมนูญเป็นเบื้องต้น คือ จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอได้ เพราะไม่มีทางที่พรรคไหนจะได้เสียงข้างมากเกินครึ่งอย่างแน่นอน เว้นแต่จะชนะเลือกตั้งเขตแบบถล่มทลายขณะที่กรณีที่เพิ่มความเข้มงวดการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องเดินตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมถึงเพิ่มบทบาทขององค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาถ่วงดุลรัฐบาล ประกอบกับมีมาตรการลดความเข้มแข็งของฝ่ายการเมือง โดยอ้างว่าป้องกันทุจริต อาจเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะรัฐบาลเป็ดง่อยขึ้นได้ ขณะที่กลไกภาคประชาชนที่มีสถานะต่อรองอำนาจของรัฐบาล-ราชการได้ กำลังถูกบางมาตรการบอนไซการเติบโต สะท้อนให้เห็นจุดหมายรัฐธรรมนูญ “ฉบับมีชัย” ว่า พยายามฟื้นรัฐราชการ และเมื่อเป็นเช่นนั้นจริง จะเป็นจุดที่ทำให้ประเทศวกกลับมาสู่วงจรอุบาทว์ที่ลงท้ายด้วยการรัฐประหารได้อีก
 
                      อย่างไรก็ตาม “กรธ.” กำหนดให้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในวันที่ 29 มกราคม ดังนั้นเมื่อเห็นรายละเอียดทั้งหมดแล้ว คงพอเดาเจตนารมณ์ของคณะผู้ทำรัฐธรรมนูญต่ออนาคตการเมืองได้ไม่ยากว่า พวกเขาต้องการพลิกโฉมอนาคตประเทศไทยไปทางไหน?
 
 
 
 
---------------------
 
(คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : รัฐธรรมนูญ 'มีชัย' เข้าทาง..? สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย-ฟื้นรัฐราชการ : โดย...ขนิษฐา เทพจร)