
'ookbee'แอพนักอ่านไทยครองเจ้าอี-บุ๊กอาเซียน
'ookbee'แอพนักอ่านไทยครองเจ้าอี-บุ๊กอาเซียน : คมคิดธุรกิจนิวเจน เรื่อง : ฐิติพล ขำประถม ภาพ : สุกล เกิดในมงคล
เมื่อโลกก้าวสู่ยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีส่วนในชีวิตของเราอย่างเต็มตัว วัฒนธรรมและสิ่งของก็ได้รับการพัฒนาตามไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่หนังสือที่พัฒนาจากการอ่านบนหน้ากระดาษ มาสู่รูปแบบการอ่านบนหน้าจอแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งหนึ่งในแอพพลิเคชั่น นั้นคือ “ookbee” (อุ๊คบี) แอพพลิเคชั่นขวัญใจนักอ่านสัญชาติไทย ที่รวมนิตยสารกว่า 1,000 หัว หนังสือพิมพ์กว่า 30 ฉบับ และหนังสือหลายหมื่นเล่มเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งขณะนี้นอกจากจะขยับขึ้นมาครองใจนักอ่านทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นอยู่ตลอดเวลาเพื่อเอาใจนักอ่านอีกด้วย
แอพพลิเคชั่น “อุ๊คบี” เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงรวบรวมหนังสือมากมายมาไว้ในแอพพลิเคชั่นเพียงหนึ่งเดียว และครองใจนักอ่านทั่วอาเซียนได้ ดร.พลภัทร์ อุดมผล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อุ๊คบี จำกัด หนึ่งในผู้สร้างแอพพลิเคชั่นอุ๊คบี พร้อมบอกเล่าเรื่องราวให้ได้รู้กัน
ดร.พลภัทร์ เล่าว่า เดิมทีก็คลุกคลีอยู่ในวงการเขียนซอฟต์แวร์ กับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ไอที เวิร์ด มากว่า 6 ปีแล้ว จนเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่แอปเปิลส่งไอแพดออกสู่ตลาด ก็เกิดความสนใจให้เพื่อนซื้อจากอเมริกา มาลองใช้ดูตั้งแต่ยังไม่มีวางขายในประเทศไทย และด้วยความเป็นคนที่ชื่นชอบอ่านนิตยสารอยู่แล้ว จึงเห็นว่าแอพพลิเคชั่นอี-บุ๊ก อ่านหนังสือแบบออนไลน์ในไอแพดนั้น มีแต่ของต่างประเทศยังไม่มีของไทย จึงร่วมกับเพื่อนช่วยกันพัฒนาแอพพลิเคชั่นอุ๊คบีขึ้นมา
เริ่มแรก อุ๊คบี เป็นเพียงแผนกในบริษัท ไอที เวิร์ด ซึ่งทั้งแผนกมีเพียง 4 คนเท่านั้น โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดตัวแอพพลิเคชั่น พร้อมกับที่ไอแพดเปิดตัวในประเทศไทยให้ได้ จึงสร้างแอพพลิเคชั่นต้นแบบขึ้นมา แล้วออกไปเสนอไอเดียตามนิตยสารต่างๆ ซึ่งก็มีคู่แข่งเป็นบริษัทจากต่างประเทศที่เข้ามายื่นข้อเสนอให้นิตยสารของไทยเหมือนกัน แต่เมืองนอกมีโมเดลที่จะมาเก็บกับนิตยสารหัวละ 4-5 แสนบาท แต่ อุ๊คบี เสนอทำให้ฟรี แล้วถ้าขายได้ค่อยมาแบ่งรายได้กัน โดยให้นิตยสาร 70 เปอร์เซ็นต์ และอุ๊คบี 30 เปอร์เซ็นต์ โดยระหว่างเสนองานก็ได้รับคำถามมากมายว่า มันจะขายได้หรือ, จะสู้กระดาษได้มั้ย, มันจะเป็นส่วนมาช่วยหรือมาฆ่ากัน ซึ่งก็ต้องอธิบายให้นิตยสารต่างๆ เข้าใจ
“ตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ใหม่มาก โดยเรื่องนิตยสารต่างๆ กังวลที่สุดคือการเซฟไฟล์นิตยสารทั้งเล่มแล้วส่งต่อให้เพื่อน เราก็มีระบบป้องกันให้ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ส่วนการแคปเจอร์ภาพทีละหน้านั้น แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีความเสี่ยงไม่ต่างจากแบบกระดาษที่ขายอยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีคนซื้อนิตยสารแล้วนำไปสแกนเป็นไฟล์ทีละหน้าทั้งเล่มได้เช่นกัน”
เมื่อนิตยสารต่างๆ เข้าใจและเล็งเห็นว่า อุ๊คบี สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถส่งให้นิตยสารเข้าถึงผู้อ่านได้ก็เข้ามารวมกัน โดย อุ๊คบี เปิดตัวครั้งแรกพร้อมไอแพด 3 ธันวาคม 2553 ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ พร้อมนิตยาสาร 20 หัว อาทิ อิมเมจ, ดิฉัน, Men'sHealth, Woman's Health ในเครือมีเดีย ทรานส์เอเชีย ไทยแลนด์ โดยเดือนแรกทำรายได้ไม่ถึง 1 หมื่นบาท และมีผู้ใช้ไม่ถึง 100 คน แต่สิ่งที่ อุ๊คบี ได้กลับมาคือความน่าเชื่อถือ ทำให้มีนิตยสารเข้ามาสู่แอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นโดยตลอด ทางนิตยสารก็ช่วยโปรโมทอีกทางหนึ่งด้วย ประกอบกับผู้ใช้ไอแพดที่มากขึ้นทำให้ อุ๊คบี ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จน 6-7 เดือนหลังจากเปิดตัว อุ๊คบี ก็มีนิตยสารมากกว่า 100 หัว และเริ่มมีกำไรในที่สุด พร้อมขยายจากแผนกออกมาตั้งเป็นบริษัทของตัวเอง ในชื่อ บริษัท อุ๊คบี จำกัด
ปัจจุบัน “อุ๊คบี” รับหนังสือจาก 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย และอเมริกา มีนิตยสารกว่า 1,000 หัว หนังสือพิมพ์กว่า 30 ฉบับ และหนังสือร่วม 5 หมื่นเล่ม มีรายได้หลักสิบล้านบาทต่อเดือน และมีผู้ใช้งานเกิน 7 ล้านคนแล้ว ซึ่งกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน อายุระหว่าง 25-45 ปี และ “อุ๊คบี” ก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่ในประเทศไทย มีการขยายไปทั่วโลก และเปิดตลาดให้ อุ๊คบี ออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย มีการตั้งบริษัทย่อยเอาไว้ด้วย ซึ่งข้อได้เปรียบที่ทำให้ อุ๊คบี ครองใจผู้อ่านได้ คือ การนำเสนอบริการหนังสือในภาษาท้องถิ่น
“อุ๊คบี เข้าใจถึงความหลากหลายทางภาษาของประเทศในอาเซียน เราทำงานร่วมกับนิตยสารในประเทศนั้นๆ และอัพเดทนิตยสารที่เป็นภาษาท้องถิ่น ให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านนิตยสารของประเทศตัวเองในภาษาของตัวเองได้โดยตรง ต่างจากผู้ให้บริการอี-บุ๊กยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่จะเน้นที่ภาษาอังกฤษ ทำให้เราเป็นผู้นำแอพพลิเคชั่นอี-บุ๊กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ในด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ดร.พลภัทร์ กล่าวว่า อุ๊คบี ต้องการให้เข้าไลฟ์สไตล์ของผู้อ่านให้ได้มากที่สุด และให้ผู้อ่านเข้าถึงคอนเทนต์ของสำนักพิมพ์ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน จึงพัฒนา แอพพลิเคชั่น Ookbee Buffet (อุ๊คบี บุฟเฟ่ต์) ที่ให้บริการต่างจากเดิม แทนที่ผู้อ่านจะซื้อเป็นเล่ม จะเป็นบริการแบบเช่าอ่าน คือ สามารถอ่านหนังสือได้หลากหลาย ตามราคาที่ผู้ใช้สมัครสมาชิกรายเดือน โดยอยู่ที่ระหว่าง 199-299 บาท โดยรายได้จะแบ่งให้หนังสือเล่มต่างๆ โดยดูจากเวลาที่ลูกค้าอ่าน และมีโปรโมทชั้นเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ โดยในขณะนี้เปิดให้ผู้ใช้ได้ทดลองอ่านฟรีอีกด้วย รวมไปถึงยังมีการพัฒนา “หนังสือเสียง” ขึ้นมา เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมืองระหว่างเดินทางในแต่ละวันที่่กินเวลามาก แต่อาจจะไม่สะดวกในการเปิดอ่านหน้าหนังสือ โดยหนังสือเสียงจะให้มีคนอ่านหนังสือที่ผู้ใช้เลือกให้ฟัง บางเล่มจะมีเสียงของผู้เขียน มาเล่าเองด้วยในบทแรก
นอกจากนี้ อุ๊คบี ยังมีการออกแอพพลิเคชั่น OokbeeComics (อุ๊คบี คอมมิกส์) ไว้ให้นักเขียนการ์ตูนสามารถอัพโหลดผลงานของตัวเองให้ผู้อ่านได้ชม และ Ookbee Mall (อุ๊คบี มอลล์) ที่เป็นแอพพลิเคชั่นซื้อ-ขายของออนไลน์ ออกมาลุยตลาดอี-คอมเมิร์ซ สำหรับการขยายบริษัท อุ๊คบี กำลังมองไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีไลฟ์สไตล์การอ่านหนังสือออนไลน์ เช่นกัน คาดว่าจะเริ่มในช่วงครี่งปีหลังปี 2016 นี้
“อุ๊คบี อยากให้ผู้อ่าน ได้เข้าถึงคอนเทนต์ที่ดี และรวดเร็ว ที่มีให้เลือกมากมาย ในแอพพลิเคชั่นเดียว เหมือนเราพกหนังสือเป็นหมื่นเล่มไปกับเราทุกที่ได้ตลอดเวลา แม้การอ่านบนหน้าจออาจจะยังไม่สามารถสู้กระดาษได้ แต่ก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาให้อ่านได้สบายตามากขึ้น จึงอยากให้คนรักการอ่านทุกคนได้มาลองสัมผัสดู” ดร.พลภัทร์ กล่าวปิดท้าย
และนั่นคือเรื่องราวของแอพพลิเคชั่น “ookbee” (อุ๊คบี) ที่เกิดจากการเล็งเห็นอนาคตของธุรกิจแอพพลิเคชั่นอี-บุ๊ก ที่ทำให้นอกจากครองใจผู้อ่านชาวไทยแล้ว ยังก้าวสู่การเป็นผู้นำแอพพลิเคชั่นอี-บุ๊กของอาเซียนอีกด้วย
“อุ๊คบีเข้าใจถึงความหลากหลายทางภาษาของประเทศในอาเซียน เราทำงานร่วมกับนิตยสารในประเทศนั้นๆ และอัพเดทนิตยสารที่เป็นภาษาท้องถิ่น ให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านนิตยสารของประเทศตัวเองในภาษาของตัวเองได้โดยตรง ต่างจากผู้ให้บริการอี-บุ๊กยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่จะเน้นที่ภาษาอังกฤษ ทำให้เราเป็นผู้นำแอพพลิเคชั่นอี-บุ๊กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”