
ไทยเสียหายทาสแกะกุ้ง2หมื่นล้าน!
ไทยเสียหายทาสแกะกุ้ง2หมื่นล้าน! : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
สื่อทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากำลังตีแผ่ขยายข่าว “ทาสแกะกุ้ง” ในสมุทรสาคร ภาพและคลิปวิดีโอแสดงถึงแรงงานเพื่อนบ้านที่ถูกกักในโรงงานให้ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง มือแขนเปื่อย สภาพอิดโรย สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง...
ย้อนกลับไปวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตำรวจ และทหารสนธิกำลังกันเข้าจับกุม “ล้งแกะกุ้ง” หรือโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำบริเวณ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้รับร้องเรียนจากหนุ่มพม่า ที่หนีออกมาพร้อมภรรยาจากโรงงานหรือล้งแกะกุ้งข้างต้น แต่ภรรยาถูกลูกน้องเจ้าของโรงงานตามจับไปได้ จึงมาแจ้งร้องเรียนที่ดีเอสไอ เนื่องจากล้งแห่งนี้บังคับให้คนงานพม่าทำงานตั้งแต่ตี 2-3 จนถึง 6 โมงเย็น วันละประมาณกว่า 16 ชั่วโมง บางคนก็ได้ค่าจ้างวันละ 100 บาท บางคนก็ไม่ได้
“ดีเอสไอทำการสืบสวนจนพบสถานที่ตั้งแน่ชัด วันที่เข้าตรวจค้นพบแรงงานพม่า 74 คน เป็นแรงงานเด็ก 16 คน ตอนนี้ช่วยเด็กให้ไปอยู่กับทีมสหวิชาชีพดูแลและคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อจะสอบสวนขยายผล เอาผู้ทำผิดทั้งหมดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย” พ.ต.อ.ไพสิฐ ให้สัมภาษณ์
ข่าวการจับกุมครั้งนี้ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในประเทศไทยนัก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 สื่อใหญ่อย่างสำนักข่าวเอพี ได้ตีแผ่ข่าวเรื่องนี้ในลักษณะข่าวสืบสวนสอบสวน มีการนำคลิปสัมภาษณ์คนงานพม่ามาออกรายการ แสดงให้เห็นว่ามีการทารุณกรรม มือเท้าเปื่อยเป็นแผลก็ยังต้องทำงานแกะกุ้งให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 70-80 กิโลกรัม คนงานหญิงบางคนแท้งลูกเพราะทำงานหนัก ที่สำคัญคือการไม่ให้อิสระออกไปข้างนอก สภาพความเป็นอยู่ไม่ต่างจากทาส และที่สะเทือนใจมากที่สุดคือการให้ข้อมูลว่าพวกเขาถูกไม่มีชื่อเรียก เพราะคนคุมจะให้เบอร์หรือตัวเลขประจำตัวมาเช่น เบอร์ 31 หรือเบอร์ 20 หมายเลขประจำตัวนี้ถูกเรียกแทนชื่อนามสกุล และใช้เป็นรหัสในการหักบัญชีค่าแรงหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ
เมื่อคนไม่ถูกเรียกด้วยชื่อนามสกุล แต่เรียกเป็นหมายเลขแทน ถือเป็นการกดขี่เหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ไม่ต่างจากทาสที่ไม่มีชื่อเรียกในสมัยโบราณ
หลังจากรายงานข่าวชิ้นนี้เผยแพร่ไปทั่วโลก เครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจ “บอยคอตกุ้งไทย” เพราะถือเป็นกุ้งที่ได้มาจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย มีการตั้งคำถามอย่างท้าทายว่า “กุ้งในจานของคุณแกะเปลือกโดยแรงงานทาสหรือเปล่า ?”
การต่อต้านกุ้งไทยไม่ได้แค่เป็นการรณรงค์คว่ำบาตรทั่วไป แต่ครั้งนี้เป็นการทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกุ้งไทย มีการเปิดเผยรายชื่อสินค้ากุ้งแช่แข็งกว่า 40 ยี่ห้อที่ใช้วัตถุดิบกุ้งจากไทย และรายชื่อห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีหลายสาขากว่าไม่ต่ำกว่า 150 แห่งทั่วอเมริกาที่ใช้วัตถุดิบกุ้งนำเข้าจากประเทศไทย
ความรู้สึกหรือการจดจำภาพว่ากุ้งไทยมาจากแรงงานทาสเป็นสิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่ง แต่ดูเหมือนรัฐบาลคสช.จะยังคงนิ่งเงียบ ไม่มีการแถลงข่าวหรือชี้แจงเรื่องนี้กับสื่อทั่วโลกอย่างจริงจัง
ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ประการแรก คือ ตัวเลขการส่งออกกุ้งไทยปีละ 5.2 หมื่นล้านบาทนั้น ตลาดใหญ่ที่สุดคืออเมริกาประมาณปีละ 5 หมื่นตัน เฉพาะเดือนมกราคม-ธันวาคม 2557 มีตัวเลขส่งออกไปอเมริกาจำนวน 52,398 ตัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท
กุ้งที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นกุ้งแช่แข็งพร้อมปรุงเป็นอาหารรับประทานมีการแกะเปลือกแล่เอาสิ่งสกปรกออกใส่ในถุงพลาสติกสวยงาม ฝรั่งนิยมเอากุ้งแบบนี้ไปประกอบเป็นอาหารประเภทสลัดหรือทำเป็นกุ้งค็อกเทล
ประการที่สอง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระแส “บอยคอตกุ้งไทย” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตัวเลขมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่หมายถึงวงจรธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกกุ้งทั้งหมดต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนใหญ่เป็นคนงานไทย พนักงานคนไทย เกษตรกรไทยที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ธุรกิจอาหารกุ้ง ธุรกิจขนส่งกุ้ง ห้องแช่เย็น โรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารทะเล บริษัทส่งออก ธุรกิจชิปปิ้ง ฯลฯ
เจ้าหน้าที่รัฐไทยที่รับผิดชอบดูแลการปราบปรามการค้ามนุษย์ ยอมรับว่า การมีล้งทำผิดกฎหมายและใช้แรงงานทาสนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวงจรธุรกิจส่งออกกุ้งทั้งหมด เริ่มจากบริษัทส่งออกจะสั่งซื้อกุ้งจากฟาร์ม แล้วว่าจ้างล้งให้เอาไปแกะก่อนส่งต่อไปที่ห้องเย็นที่เตรียมไว้ บางครั้งเจ้าของกุ้งรู้ดีว่าการจ้างพวกนี้ทำผิดกฎหมายจะได้ค่าแรงถูกกว่า แต่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
“ส่วนพวกล้งก็ไม่สนใจอะไร ไม่สนใจชื่อเสียงประเทศ อยากได้แค่ต้นทุนต่ำทำกำไรเยอะ จ้างคนไทยแกะกุ้งต้องจ่าย 300 บาททำงาน 8 ชั่วโมง จ้างพม่าวันละ 100 ทำงานทั้งวันทั้งคืน พวกนี้คิดแค่กำไรสั้นๆ การปราบปรามล้งแกะกุ้งหรือล้งแล่ปลาพวกนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่มีเงินไม่กี่บาทไปเช่าตึกเก่าๆ จ้างคนงานไม่กี่สิบคน เอาอาหารทะเลมาแกะ ก็ทำธุรกิจได้แล้ว หลบซ่อนอยู่ตามซอกซอย พอตำรวจไปจับก็ได้แค่ผู้จัดการโรงงานไม่ได้ตัวใหญ่จริง เพราะไม่กล้าซัดทอด ยอมรับผิดโดนปรับโดนขัง เจ้าของจ้างผู้จัดการคนใหม่มาทำ เปิดล้งชื่อใหม่ไปเรื่อยๆ จะปราบปรามได้ผลต้องให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเข้ามา แล้วรัฐต้องจัดทีมสืบสวนเอาตัวใหญ่มาดำเนินคดีให้ได้”
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทั้งนักข่าวไทยและสื่อฝรั่งว่า
“ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 จะยกเลิกการว่าจ้างล้งหรือสถานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นจากภายนอกทั้งหมด เพื่อบริษัทจะควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านแรงงานได้อย่างเข้มงวด และถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 กระบวนการผลิตทั้งหมดจะได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนในสายการผลิต ทั้งแรงงาน ไทยหรือต่างด้าว จะปฏิบัติงานในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นธรรม”
คำถามสำคัญ คือ การยกเลิกจ้าง “ล้ง” จากภายนอก เปลี่ยนเป็นใช้พนักงานที่บริษัทดูแลโดยตรงจะช่วยแก้ปัญหาการกดขี่แรงงานเพื่อนบ้านให้ทำงานทั้งวันทั้งคืนเยี่ยงทาสได้นานแค่ไหน และจะช่วยให้กระแสต่อต้านกุ้งไทยลดลงหรือไม่ ? เว็บไซต์ www.supplymanagement.com รายงานข้อมูลต้นปี 2558 ว่าประเทศไทยติดหนึ่ง 1 ใน 10 ที่มีทาสแรงงานมากสุดในโลก ตัวเลขทั่วโลกมีประมาณ 35.8 ล้านคน อันดับ 1 จีน 3.2 ล้านคน อันดับ 2 ปากีสถาน 2.1 ล้านคน และอันดับ 3 อุซเบกิสถาน 1.2 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีถึง 4.75 แสนคน
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาทาสเกือบ 5 แสนคนให้ได้ผล คือ คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบเห็นการจ้างงานพม่าหรือชาติใดก็ตามอย่างผิดกฎหมายหรือมีการทารุณกรรมเพื่อนบ้านของเรา ต้องรีบแจ้งตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐหรือแจ้งนักข่าวเพื่อให้ช่วยกันจัดการกับคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง
ความเสียหายจากแก๊งค้ามนุษย์หรือกลุ่มใช้แรงงานเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมายนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อคนกลุ่มเล็กๆ แต่ส่งผลต่อประเทศไทยและคนไทยทั้งหมด
โดยเฉพาะชื่อเสียงอาหารไทยที่เคยได้รับความนิยมยกย่องให้เป็น “ครัวโลก” ตอนนี้อยู่ภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะมีภาพลักษณ์เป็น “อาหารจากแรงงานทาส” !!